จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
วิทยากร : ศ.คลินิก พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
ห้องเรียนพ่อแม่ : วันอังคาร 27 สิงหาคม 2567
พ่อแม่อยากให้ลูกมีความสุข เลยให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่ แต่บางครั้งก็ให้มากจนเกินไป เด็กกลายเป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียว ให้แม้กระทั่งความคิด (คิดแทน ทำแทน) ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยการช่วยเหลือ ในวัยอนุบาลไม่เคยฝึกฝืนใจ ไม่เคยฝึกการรอคอย ให้แต่เฉพาะในสิ่งที่ชอบ แต่เมื่อออกไปสู่สังคมจริง เราอาจเจอคนที่ไม่ชอบเยอะกว่า เจอสิ่งที่ไม่ชอบมากกว่าสิ่งที่ชอบ เด็กจึงเป็นทุกข์ง่าย
❤️ ควบคุมอารมณ์ตนเอง ยับยั้งชั่งใจได้ >> เด็กต้องคุมตัวก่อนคุมใจ การฝึกโดยไม่ต้องอธิบายตั้งแต่เล็ก : ปลั๊กไฟห้ามเล่น อึฉี่ในห้องน้ำ อยากตีน้อง “แม่เข้าใจ แต่ทำไม่ได้” ฝึกให้อยู่ในกรอบมาตั้งแต่ต้น #ในขอบเขตต้องมีอิสระ #ในอิสระต้องมีขอบเขต ต่อให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีอิสระก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎกติกาสาธารณะ หน้าที่พ่อแม่คือ #ต้องกำหนดขอบเขตนั้น
📍 การอยู่ในขอบเขตไม่ได้ทำลายจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ เช่น ที่โรงเรียนให้เด็กๆ วาดรูปตามอิสระ แต่ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ที่บ้านให้เล่นอิสระแต่ภายในพื้นที่ที่กำหนด ฯลฯ และขอบเขตนั้นจะค่อยๆ ขยายกว้างขึ้นตามวัย เมื่อลูกรักษากรอบหรือขอบเขตได้มากขึ้น พ่อแม่ก็จะเอื้อกับเขาได้มากขึ้นเช่นกัน
📍 การอธิบายเหตุผล บางครั้งพ่อแม่หลงทิศเสียเวลาไปกับการอธิบายเหตุผลยืดยาว แต่ท้ายที่สุดลูกก็ไม่ทำ ให้ฝึกอธิบายเหตุผลสั้นๆ กระชับ ท่าทีนิ่งๆ มั่นคง เข้าใจความรู้สึก นุ่มนวลแต่หนักแน่น พูดเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจง่าย ไม่พูดมาก แต่ถ้าพูดสิ่งใดไปแล้ว ต้องทำให้ได้ตามนั้น รวมถึงการรักษาสัญญาเป็นสิ่งสำคัญ
📍 ทุกบ้านต้องมีกติกา หน้าที่ของพ่อแม่ คือ กำหนดกติกาที่เหมาะสมและทำให้กติกานั้นใช้ได้จริง หน้าที่เด็ก คือ ทดสอบกติกาว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้แบบนั้นไม่ได้ พ่อแม่แน่แค่ไหนกัน เราจึงต้องสม่ำเสมอ หนักแน่นและมั่นคง
ทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝน ต้องทำซ้ำๆ ไม่ใช่ให้ทำแค่จุดเริ่มต้น การฝึกมีขั้นมีตอน หมอบอกได้แค่วิธีการ แต่เราต้องไปทำเอง >> ค่อยๆ ถอนความช่วยเหลือออก พอเด็กทำอย่างหนึ่งสำเร็จ >> เราชื่นชม >> เด็กก็อยากจะทำอย่างอื่นด้วยตนเองต่อ >> เด็กเพิ่มความสามารถที่จะทำหลายอย่างได้ >> ฝึกทุกเรื่องทุกด้าน >> เมื่อพบเจออุปสรรค เด็กจะพยายามงัดทุกความสามารถตัวเองออกมา >> เด็กจะกล้าเผชิญกับอุปสรรค >> ความอึดอดทน เพียรพยายามก็จะถูกสร้างขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นการ “ฝึกให้ทำ” เป็นการสร้างฐานทุกอย่าง ยิ่งชีวิตลูกมีอุปสรรคมากยิ่งดี และเมื่อเด็กมีความสามารถหลายอย่าง ก็จะสามารถเข้ากับคนได้หลายกลุ่ม >> มีเพื่อนหลากหลาย >> โอกาสถูก Bully น้อยลง >> ยิ่งมีความสามารถมากขึ้น ก็ช่วยเหลือคนได้มากขึ้น
📌 ถ้าเราใส่สิ่งที่ดีตั้งแต่แรก ได้แล้วได้เลย ก็จะติดตัวไปเหมือนเป็นความทรงจำลึกสุด แต่ถ้าใส่สิ่งไม่ดีไป ก็อาจจะจำไปจนตาย จะมาแก้ไขทีหลังก็ทำได้ยาก มีบ้านที่สอนลูกตั้งแต่เล็กๆ ว่า “คนเราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น” เด็กจดจำและติดกับว่า..หนูต้องช่วยเหลือคนอื่นๆ + พ่อแม่ฝึกควบคู่ไปด้วย >> เด็กมีความสามารถเพิ่มขึ้น
บางครั้งไม่เกิดบาดแผลทางกาย แต่เกิดที่จิตใจ ซึ่งพบได้มาก และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าและยาวนานกว่า…
เวลาที่เราหยุดเด็กที่ทะเลาะกันไม่ได้ หยุดพี่น้องที่ทะเลาะกันไม่ได้ คนที่เป็นผู้กระทำได้โอกาสที่จะทำต่อเรื่อยๆ เขาจะรังแกเก่งขึ้น จะซับซ้อนมากขึ้น จะเลือกเหยื่อและวิธีการในการกลั่นแกล้ง เช่น ไปทำในที่ที่ไม่มีคนเห็น ฯลฯ
35% ของผู้กระทำ (ผู้ล่า) เคยเป็นเหยื่อมาก่อน!
กองเชียร์ มีทั้งแบบที่แสดงออกชัดเจน เชียร์โจ่งแจ้ง และแบบที่เฝ้าดูเงียบๆ แต่แอบสะใจ ทั้งหมดสามารถพัฒนาไปเป็นผู้กระทำได้ ส่วนผู้เพิกเฉย ก็มีโอกาสที่สุดท้ายจะกลายมาเป็นเหยื่อเสียเอง และถ้าทุกคนเพิกเฉย เหยื่อจะเกิดความรู้สึกว่า…โลกนี้ไม่ยุติธรรม และสัมพันธภาพนั้นไว้ใจไม่ได้
เด็กที่มีความสามารถ ช่วยเหลือเพื่อนเสมอ เวลาเราเกิดปัญหาเพื่อนก็กลับมาช่วยเรา แล้วยิ่งถ้าช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน คือ ช่วยทุกคน ทั้งผู้กระทำ ทั้งเหยื่อ ให้ลองสังเกตดูว่า…เด็กแบบนี้ ผู้ล่าจะเกรงใจ หรือต่อให้ถูกกลั่นแกล้ง จะเสียใจไม่นาน แล้วก็จะสามารถกลับมาได้ เพราะตัวตน self จากการที่มีความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นยังดีอยู่
ทีมโรงเรียน ต้องทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องการรักษาความปลอดภัย โรงเรียนต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ถ้าตักเตือน ตักเตือนกี่ครั้ง ตกลงกัน ครบแล้วอย่างไรต่อ เชิญพ่อแม่มาพูดคุย / พักการเรียน ฯลฯ เราพยายามตัดตอน ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุครั้งต่อๆ ไป เพราะผู้รังแก ยิ่งทำบ่อย ยิ่งคล่อง ยิ่งเก่ง😓
มีการพูดคุยซักซ้อมกัน คล้ายๆ ซ้อมหนีไฟ เวลาเกิดเหตุการณ์กลั่นแกล้ง ทั้งห้องทำอย่างไร ใครวิ่งไปฟ้องครู ใครจะเป็น Helper พัฒนาเด็กทั้งห้องให้กลายเป็นผู้ช่วยเหลือ ผลักดันให้เด็กๆ เดินมาในทิศทางที่ชอบช่วยเหลือ เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม (Leadership จะเกิดได้ต้องฝึกฝนและพัฒนา) ที่สำคัญคือ กล้องวงจรปิดต้องพร้อมทำงาน!
ทีมบ้าน ต้องฝึกและพัฒนาลูกไปพร้อมๆ กัน และพ่อแม่ไม่ทำให้เรื่องระหว่างเด็กกลายเป็นสงครามพ่อแม่แทน!
เวลาที่ Bully มีมากขึ้น เพราะ
1.) ความดีในตัวเด็กลดลง
2.) ความยุติธรรมมีปัญหา
ตัวอย่าง : พี่น้องทะเลาะกัน พ่อแม่ตัดจบที่ “น้องยังเล็ก น้องยังไม่เข้าใจ” บ่อยครั้งเข้า พี่พวกนี้เวลาไป รร. ไม่จ๋องก็กร่าง พอจ๋องพ่อก็บอกว่า “ทำไมไม่สู้กลับ!?” แต่อยู่ในบ้านให้พี่ยอมน้องตลอด
เราสร้างแรงจูงใจให้ลูกมองเห็นว่าตัวเองสามารถทำสิ่งนี้ได้ ค่อยๆ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ทำสะสมไปเรื่อยๆ จนลูกมองเห็นความสามารถของตนเอง ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากการพูดของพ่อแม่ แต่เราค่อยๆ สร้างสถานการณ์ให้ลูกได้ฝึก ความสามารถวันต่อวันที่เพิ่มขึ้น ทำซ้ำๆ จนอัตโนมัติ กลายเป็นความทรงจำที่ดีต่อตัวเขาเอง จะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาไปต่อได้ในวันที่เจอกับอุปสรรคในท้ายที่สุด
“เราไม่สามารถสอนสิ่งที่เราไม่มีหรือไม่เป็นอย่างแท้จริงได้” และ “เราโชคดีที่มีโอกาสได้เป็นพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มีความพยายามที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก การเจอกับปัญหาต่างๆ ของลูก จะทำให้เราเป็นพ่อแม่ที่เก่งขึ้น” คุณหมอกล่าวไว้นะคะ ❤️
หากบันทึกนี้มีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้นะคะ
ขอบคุณค่ะ แม่บิว
ขอบคุณบันทึกดีๆ จากวงเสวนา Stop Bullying เรียนรู้และเข้าใจ Bullying เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกัน
จากคุณแม่ บิว ผู้ปกครองน้อง พริม ชั้น 3 พีค พราว ชั้น 6 และ พุทธ ชั้น 9 ค่ะ