เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
สัปดาห์สุดท้ายของภาคเรียนฉันทะ ปีการศึกษา 2566 เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่จะได้เห็นการเติบโตของนักเรียนผ่านการนำเสนอโครงงาน “ชื่นใจ…ได้เรียนรู้” ของช่วงชั้นประถม
ในภาคเรียนนี้ เป็นการ “เผยตน” ผู้เรียนจะได้นำเสนอวิธีการเรียนรู้ รวมถึงกระบวนการรู้คิดของตนเองผ่านการประมวลสรุป ทบทวนและประเมินตนเองจากการเรียนรู้ในชั้นเรียน รวมทั้งได้ดำเนินตามกระบวนการวิจัย สำหรับนักเรียนชั้น 3 เด็กๆ ได้ทำวิจัยภายใต้แนวคิด “การจัดการขยะเพื่อโลกที่ยั่งยืน” มานำเสนอให้เพื่อนๆ และคุณครูได้รับฟัง
ในภาคเรียนฉันทะนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องสสารและวัสดุต่างๆ ที่คงอยู่บนโลกนี้ บางชนิดย่อยสลายได้ บางชนิดย่อยสลายไม่ได้ ภารกิจของเด็กๆ ครั้งนี้จึงต้องหาวิธีทำอย่างไรให้มีขยะเหลือเป็นภาระของโลกให้น้อยที่สุด
ฉะนั้นเด็กๆจะได้กลับไปสำรวจที่บ้านว่ามีขยะอะไรบ้างที่ต้องการกำจัดให้เป็น zero waste เช่นขยะพลาสติก เด็กๆจะต้องนำเสนอวิธี reuse recycle แยกฝาหาแหล่งบริจาค และหาวิธี recycle ขวดพลาสติก โดยได้บันทึกผลการทดลองจากขยะในบ้านตลอด 2 สัปดาห์ ถ้าสามารถจัดการได้อย่างสม่ำเสมอก็จะไม่มีขยะอย่างแน่นอน หากไม่มีการจัดการที่ดีก็จะมีขยะรกที่บ้าน เด็กๆ ร่วมกันวิเคราะห์วิธีการที่ดีที่สุดหากลดการใช้วัสดุที่สร้างขยะก็จะเป็นการลดขยะให้เป็น zero waste ตั้งแต่ต้นทาง
กระบวนการทำงานที่เด็กๆได้ฝึกฝนนั้นเริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามวิจัย สมมติฐาน วิธีการทดลอง ผลการทดลองที่ได้ ก่อนสรุปผลว่าสอดคล้องกับสมมติฐานหรือไม่ ไปจนถึงหาแนวทางเพื่อการพัฒนาต่อยอด ผลงานแต่ละชิ้นที่เด็กๆได้ร่วมกันคิดและวางแผนทำงานร่วมกัน กระทั่งได้ชิ้นงานออกมา สะท้อนให้เห็นความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเด็กๆเอง ตลอดช่วงเวลาของการนำเสนอขณะที่มีผู้พูด จะมีผู้ฟังอย่างตั้งใจ พร้อมให้ข้อแนะนำดีๆกับเพื่อนๆ คอยเป็นกระจกสะท้อนของกันและกันเพื่อการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไปด้วย
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566