เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
การนำเสนอโครงงานชื่นใจ ได้เรียนรู้ ช่วงชั้นที่ 1 (ชั้น 1 – ชั้น 3 ) ในภาคเรียนวิมังสา ปีการศึกษา 2566 นี้ คือช่วงเวลาสำคัญที่เผยให้เห็นการพัฒนาเติบโตของนักเรียนได้ชัดเจน ทั้งการคิด การทำงานผ่านกระบวนการวิจัยที่คุณครูค่อยๆ นำพาเด็กๆ ทำงานไปทีละขั้นโดยอาศัยความรู้ในชั้นเรียนและการออกภาคสนามเพื่อเรียนรู้เชิงประจักษ์ และประมวลความรู้ที่ได้เพื่อทดสอบสมมุติฐานโครงงานวิจัย กระทั่งสร้างความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เด็กๆสามารถนำเสนอจากความเข้าใจของตนเอง ขณะเดียวกันยังสามารถทำงานร่วมกับเพื่อน แก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันเพื่อให้การนำเสนอมีความเชื่อมโยงกันด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งเล่านิทาน สาธิต ทดลอง เล่นเกม ชวนผู้ชมมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ
โจทย์โครงงานวิจัยประจำภาคเรียนของนักเรียนชั้น 1 – ชั้น 3 มีความแตกต่างกันดังนี้
ชั้น 1 พลวัตรของสรรพชีวิต
เริ่มต้นที่น้องเล็กสุดของช่วงชั้นที่ 1 เด็กๆได้เรียนรู้ภายใต้แนวคิด “พลวัตรของสรรพชีวิต” ที่คุณครูได้ร้อยเรียงเรื่องราวความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา และตัวแปร ทั้ง พืช และสัตว์ ซึ่งในภาคเรียนวิมังสานี้ เด็ก ๆ ชั้น 1 ได้ลงพื้นที่ไปเรียนรู้ภาคสนามเพื่อนำคำถาม และข้อสงสัยไปตามหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ และได้นำความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดเป็นโครงงานวิจัยของตนเอง โดยมีตัวอย่างชิ้นงานที่นำไปทดลอง และบันทึกผลจนได้คำตอบก่อนนำมา สรุปและอภิปรายผลเพื่อนำเสนอในครั้งนี้
ชั้น 2 ผักสมุนไพรให้คุณค่า รู้รักษาธาตุเจ้าเรือน
หลังจากได้ออกภาคสนามเพื่อตามหาวัตถุดิบมาปรุงอาหารกันแล้ว ในการนำเสนอครั้งนี้เด็กๆได้นำความรู้ที่ได้มาปรับปรุงเมนูอาหารให้เหมาะสมกับคนทั้ง 4 ธาตุ โดยได้เรียนรู้หลักการร่วมกันว่าคนแต่ละธาตุมีลักษณะอย่างไร และควรกินอาหารแบบไหนให้เหมาะสมกับตนเองโดยที่ยังคงรสชาติที่ถูกปาก ในการนำเสนอเด็กๆจึงจำลองห้องครัวขนาดเล็ก ๆ มาให้ผู้ปกครองได้ชิมอาหารจากฝีมือของเด็ก ๆ โดยมีตัวแทนคุณพ่อ คุณแม่สลับกันออกมาชิมอาหาร และอาสามาเป็นผู้ช่วยกุ๊กกันด้วย
ชั้น 3 เกษตรปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เด็กๆ ได้ประมวลข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทั้งยังช่วยลดสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ระบบนิเวศในพื้นที่เพาะปลูกดีตามไปด้วย โดยมีการแบ่งหัวข้อให้เด็กๆ ได้เลือกในการทำโครงงาน 2 หัวข้อ คือ การปลูกพืชผักกินเองโดยใช้ ดิน และปุ๋ยธรรมชาติ และ การเลือกซื้อผักให้ปลอดภัย โดยดูจากสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ งานวิจัยครั้งนี้จึงได้เห็นชิ้นงานที่หลากหลายทั้งสื่อนำเสนอที่เด็กๆ ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ และชิ้นงานการทดลองที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง
การนำเสนอโครงงานชื่นใจ…ได้เรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียนผ่านการบูรณาการของ 2 หน่วยวิชาที่ผสานกันอย่างลงตัวคือหน่วยวิชามานุษกับโลก (สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์) ที่จะเป็นแหล่งข้อมูลงานวิจัย ฝึกการสืบค้น และลงมือทำ ร่วมด้วยหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย เพื่อช่วยฝึกเรียบเรียง สกัดความรู้ในส่วนของใจความสำคัญต่างๆ ออกมาเป็นชิ้นงานการเขียนเพื่อการนำเสนอ
นับว่าเป็นกิจกรรมส่งท้ายก่อนจบแต่ละชั้นที่สร้างความชื่นใจ ให้ทั้งคุณครูและผู้ปกครอง สร้างความภูมิใจให้กับเด็กๆ ที่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคได้ท้าทายตัวเองพัฒนาขึ้นในทุก ๆ ปี
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2567