เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
ถึงคราวของน้องเล็กสุดท้องในช่วงชั้น 1 กับโครงงาน “ชื่นใจ…ได้เรียนรู้ หัวข้อ โลกของสัตว์”
ในภาคเรียนนี้ เด็กๆ ชั้น 1 ได้แสดงความจิ๋วแต่แจ๋วให้เราได้เห็นกันด้วยการตั้งสมมติฐานและคำถามที่น่าทึ่งเกี่ยวกับสัตว์รอบตัวที่เขาสงสัยและสนใจ ได้แก่ มด จากกลุ่มสัตว์ขาปล้อง จิ้กจก จากกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน และ ไก่ จากกลุ่มสัตว์ปีก
มดกินอะไรนอกจากน้ำหวานบ้าง?
แสงมีผลต่อการขันของไก่หรือไม่?
เมื่อเกิดความสงสัย จึงต้องเกิดการตั้งสมติฐาน และการทดลอง นำมาสู่ผลการทดลอง และเกิดการเรียนรู้ในที่สุด นี่คือคุณค่าของการเรียนรู้ที่สอนให้เด็กหัดตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง มากไปกว่านั้นคือการฝึกการนำเสนอต่อคุณครูและเพื่อนร่วมชั้น ช่วยฝึกฝนการกล้าแสดงออก การเรียบเรียงเนื้อหาที่จะพูด การเป็นผู้พูดที่ดี และสำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังเป็นผู้ฟัง ก็ได้ฝึกฝนการเป็นผู้ฟังที่ดีที่ต้องตั้งใจฟังเพื่อให้คะแนน และให้ความคิดเห็น คำชื่นชม รวมถึงตั้งคำถามต่อยอดจากสิ่งที่เพื่อนนำเสนอ
เราจะเห็นได้ว่า เด็กๆ ชั้น 1 มีความตั้งใจในการนำเสนอโครงงานครั้งนี้มาก และตั้งใจแต่งตัวประกอบการนำเสนอ เพื่อทำให้การนำเสนอนั้นออกมาน่าสนใจแก่ผู้ชมมากที่สุด อีกทั้งยังมีการเล่นเกมทายคำตอบ หรือ การเต้นเพลง “มดตัวน้อยตัวนิด” ประกอบการนำเสนออีกด้วย
สุดท้ายแล้ว เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า มดเลือกกินน้ำหวานก่อน แล้วขนของกินอย่างอื่น รวมถึงซากแมลงกลับไปเก็บในรังเพื่อกินทีหลัง จิ้กจกชอบแสงเลเซอร์ เพราะคิดว่าเป็นแมลง เนื่องจากแสงเลเซอร์มีขนาดเล็กและเคลื่อนไหวได้ และแสงไม่มีผลต่อการขันของไก่ เพราะไก่จะขันเมื่อได้ยินเสียงไก่ตัวอื่น
ไม่ว่าผลการทดลองที่ได้จะเป็นอย่างไร เด็กๆ เหล่า “นักวิจัยตัวน้อย” ได้เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจนจบกระบวนการทำวิจัย ถึงโลกของสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยอยู่ร่วมกับเรา ผู้เป็นส่วนหนึ่งในสมดุลของธรรมชาติ ครูนุ่น คุณครูประจำวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยได้ช่วยสรุปการเติบโตและเรียนรู้ของเด็กๆ ในด้านต่างๆ ไว้ดังนี้
“นักสำรวจ” มีสายตาที่สังเกตสิ่งต่างๆ อย่างละเอียด
“นักตั้งคำถามและหาคำตอบ” สนใจใฝ่รู้ ฝึกตั้งคำถามจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เริ่มต้นจากเรื่องสัตว์ที่เราพบได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ มด จิ้งจก ไก่ เมื่ออยากรู้ ก็ต้องขวนขวายหาคำตอบด้วยตัวเอง
“นักวิจัย” เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างชัดเจนว่า เมื่อไหร่ที่เราหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยใคร่รู้ไม่ได้ วิธีการที่จะหาคำตอบนั้นได้ คือ การทดลองทำวิจัย
“นักออกแบบ” เด็ก ๆ จะต้องค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาคาดเดาคำตอบที่เกิดขึ้น และออกแบบการทดลองเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ
“นักทดลอง” ขั้นตอนของการทำสิ่งที่ออกแบบไว้ให้เกิดขึ้นจริง คอยเฝ้าสังเกต รอคอย บันทึกอย่างใจจดใจจ่อ เพื่อรอดูว่า จิ้งจกจะเปลี่ยนสีตามพื้นหลังแบบใด จิ้งจกกินแมลงมีพิษได้หรือไม่ จิ้งจกจะตามแสงสีแบบใด หรือ มดชอบกินน้ำหวานสีอะไร มดกินของเค็มได้หรือไม่ ฯลฯ
“การเป็นคุณครูของตัวเอง” เมื่อการทดลองเสร็จสิ้น เด็ก ๆ ได้รับคำตอบในเรื่องที่สงสัย อาจจะเป็นไปตามที่คาดเดาหรืออาจจะล้มเหลว แต่สิ่งสำคัญ คือ เด็กๆ ได้ความรู้ที่แสนพิเศษและน่าประทับใจ เพราะ เราสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง และความรู้นั้นจะประทับอยู่ในตัวของเด็ก ๆ ไปอีกนานแสนนาน
กระบวนการเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะทำ แต่เด็ก ๆ ชั้น 1 โรงเรียนเพลินพัฒนา ทำมันได้ และบอกเล่าถ่ายทอดความรู้นั้น ที่ทำให้คุณครูและเพื่อนๆทุกคน ชื่นชม…ชื่นใจอย่างมากมายในวันนี้
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2566