Stop Bullying เรียนรู้และเข้าใจ Bullying

Stop Bullying เรียนรู้และเข้าใจ Bullying
เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกัน

วิทยากร : ศ.คลินิก พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

ห้องเรียนพ่อแม่ : วันอังคาร 27 สิงหาคม 2567

พ่อแม่อยากให้ลูกมีความสุข เลยให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่ แต่บางครั้งก็ให้มากจนเกินไป เด็กกลายเป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียว ให้แม้กระทั่งความคิด (คิดแทน ทำแทน) ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยการช่วยเหลือ ในวัยอนุบาลไม่เคยฝึกฝืนใจ ไม่เคยฝึกการรอคอย ให้แต่เฉพาะในสิ่งที่ชอบ แต่เมื่อออกไปสู่สังคมจริง เราอาจเจอคนที่ไม่ชอบเยอะกว่า เจอสิ่งที่ไม่ชอบมากกว่าสิ่งที่ชอบ เด็กจึงเป็นทุกข์ง่าย

❤️ ควบคุมอารมณ์ตนเอง ยับยั้งชั่งใจได้ >> เด็กต้องคุมตัวก่อนคุมใจ การฝึกโดยไม่ต้องอธิบายตั้งแต่เล็ก : ปลั๊กไฟห้ามเล่น อึฉี่ในห้องน้ำ อยากตีน้อง “แม่เข้าใจ แต่ทำไม่ได้” ฝึกให้อยู่ในกรอบมาตั้งแต่ต้น #ในขอบเขตต้องมีอิสระ #ในอิสระต้องมีขอบเขต ต่อให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีอิสระก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎกติกาสาธารณะ หน้าที่พ่อแม่คือ #ต้องกำหนดขอบเขตนั้น

📍 การอยู่ในขอบเขตไม่ได้ทำลายจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ เช่น ที่โรงเรียนให้เด็กๆ วาดรูปตามอิสระ แต่ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ที่บ้านให้เล่นอิสระแต่ภายในพื้นที่ที่กำหนด ฯลฯ และขอบเขตนั้นจะค่อยๆ ขยายกว้างขึ้นตามวัย เมื่อลูกรักษากรอบหรือขอบเขตได้มากขึ้น พ่อแม่ก็จะเอื้อกับเขาได้มากขึ้นเช่นกัน

📍 การอธิบายเหตุผล บางครั้งพ่อแม่หลงทิศเสียเวลาไปกับการอธิบายเหตุผลยืดยาว แต่ท้ายที่สุดลูกก็ไม่ทำ ให้ฝึกอธิบายเหตุผลสั้นๆ กระชับ ท่าทีนิ่งๆ มั่นคง เข้าใจความรู้สึก นุ่มนวลแต่หนักแน่น พูดเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจง่าย ไม่พูดมาก แต่ถ้าพูดสิ่งใดไปแล้ว ต้องทำให้ได้ตามนั้น รวมถึงการรักษาสัญญาเป็นสิ่งสำคัญ

📍 ทุกบ้านต้องมีกติกา หน้าที่ของพ่อแม่ คือ กำหนดกติกาที่เหมาะสมและทำให้กติกานั้นใช้ได้จริง หน้าที่เด็ก คือ ทดสอบกติกาว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้แบบนั้นไม่ได้ พ่อแม่แน่แค่ไหนกัน เราจึงต้องสม่ำเสมอ หนักแน่นและมั่นคง

ทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝน ต้องทำซ้ำๆ ไม่ใช่ให้ทำแค่จุดเริ่มต้น การฝึกมีขั้นมีตอน หมอบอกได้แค่วิธีการ แต่เราต้องไปทำเอง >> ค่อยๆ ถอนความช่วยเหลือออก พอเด็กทำอย่างหนึ่งสำเร็จ >> เราชื่นชม >> เด็กก็อยากจะทำอย่างอื่นด้วยตนเองต่อ >> เด็กเพิ่มความสามารถที่จะทำหลายอย่างได้ >> ฝึกทุกเรื่องทุกด้าน >> เมื่อพบเจออุปสรรค เด็กจะพยายามงัดทุกความสามารถตัวเองออกมา >> เด็กจะกล้าเผชิญกับอุปสรรค >> ความอึดอดทน เพียรพยายามก็จะถูกสร้างขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้นการ “ฝึกให้ทำ” เป็นการสร้างฐานทุกอย่าง ยิ่งชีวิตลูกมีอุปสรรคมากยิ่งดี และเมื่อเด็กมีความสามารถหลายอย่าง ก็จะสามารถเข้ากับคนได้หลายกลุ่ม >> มีเพื่อนหลากหลาย >> โอกาสถูก Bully น้อยลง >> ยิ่งมีความสามารถมากขึ้น ก็ช่วยเหลือคนได้มากขึ้น

📌 ถ้าเราใส่สิ่งที่ดีตั้งแต่แรก ได้แล้วได้เลย ก็จะติดตัวไปเหมือนเป็นความทรงจำลึกสุด แต่ถ้าใส่สิ่งไม่ดีไป ก็อาจจะจำไปจนตาย จะมาแก้ไขทีหลังก็ทำได้ยาก มีบ้านที่สอนลูกตั้งแต่เล็กๆ ว่า “คนเราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น” เด็กจดจำและติดกับว่า..หนูต้องช่วยเหลือคนอื่นๆ + พ่อแม่ฝึกควบคู่ไปด้วย >> เด็กมีความสามารถเพิ่มขึ้น

  • มีผู้รังแก (ผู้กระทำ 1 คนหรือหลายคน) และผู้ถูกกระทำ (เหยื่อ)
  • ผู้รังแกมีกำลังหรือมีอำนาจที่เหนือกว่า
  • มีการกระทำซ้ำๆ โดยเจตนา
  • เกิดผลกระทบทำให้ผู้ถูกรังแกได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย และ/หรือทางจิตใจ

เวลาที่เราหยุดเด็กที่ทะเลาะกันไม่ได้ หยุดพี่น้องที่ทะเลาะกันไม่ได้ คนที่เป็นผู้กระทำได้โอกาสที่จะทำต่อเรื่อยๆ เขาจะรังแกเก่งขึ้น จะซับซ้อนมากขึ้น จะเลือกเหยื่อและวิธีการในการกลั่นแกล้ง เช่น ไปทำในที่ที่ไม่มีคนเห็น ฯลฯ

  • เป็นผู้ที่อ่อนแอ ร้องไห้เก่ง
  • มีลักษณะเด่นภายนอก เช่น อ้วน ดำ เตี้ย ฯลฯ
  • ชอบฟ้อง/เสนอหน้า

35% ของผู้กระทำ (ผู้ล่า) เคยเป็นเหยื่อมาก่อน!

กองเชียร์ มีทั้งแบบที่แสดงออกชัดเจน เชียร์โจ่งแจ้ง และแบบที่เฝ้าดูเงียบๆ แต่แอบสะใจ ทั้งหมดสามารถพัฒนาไปเป็นผู้กระทำได้ ส่วนผู้เพิกเฉย ก็มีโอกาสที่สุดท้ายจะกลายมาเป็นเหยื่อเสียเอง และถ้าทุกคนเพิกเฉย เหยื่อจะเกิดความรู้สึกว่า…โลกนี้ไม่ยุติธรรม และสัมพันธภาพนั้นไว้ใจไม่ได้

แล้วผู้ช่วยเหลือล่ะ!?

เด็กที่มีความสามารถ ช่วยเหลือเพื่อนเสมอ เวลาเราเกิดปัญหาเพื่อนก็กลับมาช่วยเรา แล้วยิ่งถ้าช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน คือ ช่วยทุกคน ทั้งผู้กระทำ ทั้งเหยื่อ ให้ลองสังเกตดูว่า…เด็กแบบนี้ ผู้ล่าจะเกรงใจ หรือต่อให้ถูกกลั่นแกล้ง จะเสียใจไม่นาน แล้วก็จะสามารถกลับมาได้ เพราะตัวตน self จากการที่มีความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นยังดีอยู่

เมื่อเด็กถูกรังแก

ทีมโรงเรียน ต้องทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องการรักษาความปลอดภัย โรงเรียนต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ถ้าตักเตือน ตักเตือนกี่ครั้ง ตกลงกัน ครบแล้วอย่างไรต่อ เชิญพ่อแม่มาพูดคุย / พักการเรียน ฯลฯ เราพยายามตัดตอน ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุครั้งต่อๆ ไป เพราะผู้รังแก ยิ่งทำบ่อย ยิ่งคล่อง ยิ่งเก่ง😓

มีการพูดคุยซักซ้อมกัน คล้ายๆ ซ้อมหนีไฟ เวลาเกิดเหตุการณ์กลั่นแกล้ง ทั้งห้องทำอย่างไร ใครวิ่งไปฟ้องครู ใครจะเป็น Helper พัฒนาเด็กทั้งห้องให้กลายเป็นผู้ช่วยเหลือ ผลักดันให้เด็กๆ เดินมาในทิศทางที่ชอบช่วยเหลือ เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม (Leadership จะเกิดได้ต้องฝึกฝนและพัฒนา) ที่สำคัญคือ กล้องวงจรปิดต้องพร้อมทำงาน!

ทีมบ้าน ต้องฝึกและพัฒนาลูกไปพร้อมๆ กัน และพ่อแม่ไม่ทำให้เรื่องระหว่างเด็กกลายเป็นสงครามพ่อแม่แทน!

เวลาที่ Bully มีมากขึ้น เพราะ

1.) ความดีในตัวเด็กลดลง

2.) ความยุติธรรมมีปัญหา

การที่จะให้ลูกเป็นผู้กล้าที่จะยืนหยัดเพื่อคนอื่น

  • ต้องมีความรัก
  • ต้องมีความสามารถ
  • ต้องฝึกจนกลายเป็นทักษะ
  • ต้องมีความกล้าหาญมากพอ
  • ต้องมีความเป็นผู้นำ

เราสร้างแรงจูงใจให้ลูกมองเห็นว่าตัวเองสามารถทำสิ่งนี้ได้ ค่อยๆ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ทำสะสมไปเรื่อยๆ จนลูกมองเห็นความสามารถของตนเอง ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากการพูดของพ่อแม่ แต่เราค่อยๆ สร้างสถานการณ์ให้ลูกได้ฝึก ความสามารถวันต่อวันที่เพิ่มขึ้น ทำซ้ำๆ จนอัตโนมัติ กลายเป็นความทรงจำที่ดีต่อตัวเขาเอง จะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาไปต่อได้ในวันที่เจอกับอุปสรรคในท้ายที่สุด

“เราไม่สามารถสอนสิ่งที่เราไม่มีหรือไม่เป็นอย่างแท้จริงได้” และ “เราโชคดีที่มีโอกาสได้เป็นพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มีความพยายามที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก การเจอกับปัญหาต่างๆ ของลูก จะทำให้เราเป็นพ่อแม่ที่เก่งขึ้น” คุณหมอกล่าวไว้นะคะ ❤️

หากบันทึกนี้มีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ แม่บิว

ขอบคุณบันทึกดีๆ จากวงเสวนา Stop Bullying เรียนรู้และเข้าใจ Bullying เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกัน

จากคุณแม่ บิว ผู้ปกครองน้อง พริม ชั้น 3 พีค พราว ชั้น 6 และ พุทธ ชั้น 9 ค่ะ