Cluster diagram เครื่องมือช่วยคิด ชั้น 2

ธีมการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น 2 ในภาคเรียนนี้ คุณครูเปิดโอกาสให้เด็กๆ เลือกผัก ผลไม้หลากหลายตามความสนใจเพื่อทำวิจัยพาเพลิน ในกระบวนการทำงาน คุณครูค่อยๆ ให้ตัวช่วยในการรวบรวม และสรุปข้อมูล ทั้งเขียนบรรยาย วาดภาพ และเครื่องมือช่วยคิดที่เรียกว่า “Cluster diagram” เพื่อให้เด็กๆ สามารถสรุปข้อมูลโดยการเขียนให้น้อยที่สุด แต่สามารถสร้างความเข้าใจได้ง่ายที่สุด

ก่อนเริ่มเรียนรู้คุณครูให้เด็กๆ เล่นเกมใบ้คำ และลองทายกันว่าคือพืชชนิดใด เกมนี้ช่วยให้เด็กๆ บอกลักษณะของส่วนต่างๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาจำแนก แบ่งกลุ่มในการทำ Cluster diagram ได้ด้วย

คุณครูค่อยๆ พาเด็กๆ ลำดับความคิด ผ่านการสังเกตภาพผัก ผลไม้หลากสี นานาชนิด แล้วลองแบ่งกลุ่ม ทั้งหัวข้อหลัก – หัวข้อรอง – หัวข้อย่อย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Cluster diagram พร้อมตั้งคำถามชวนคิด

“จากการจัดกลุ่ม เด็กๆ คิดว่าวงกลมแต่ละวงเหมือนหรือต่างกันอย่างไร”

“ต่างกัน…. วงกลมตรงกลางเป็นเส้นหนาทึบ คือหัวข้อสำคัญ วงกลมถัดมา เส้นวง 2 เส้น คือชื่อกลุ่ม และ วงกลมด้านนอกเป็นพืชผักผลไม้ที่อยู่ในกลุ่ม” เด็กๆ ร่วมสะท้อน

จากนั้นคุณครูจึงหยิบยกตัวอย่างเพื่อทดสอบความเข้าใจของเด็กๆ อีกนิดด้วยข้อมูลของ “ต้นขึ้นฉ่าย” ให้เด็กๆ ช่วยกันสรุปลงในแผนผัง Cluster Diagram

เมื่อคุณครูมั่นใจว่าเด็กๆ เข้าใจในหลักการแล้ว ก็มาถึงโจทย์ของเด็กๆที่ต้องสรุปข้อมูลลักษณะของพืช – ผักผลไม้กินได้ที่ฉันสนใจโดยใช้เครื่องมือช่วยคิด Cluster Diagram กันเลย😍

#HBLCเพลินพัฒนา

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร

ข้อมูล ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2564