เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
บางครั้งการเรียนคณิตศาสตร์ อาจไม่จำเป็นต้องเรียนผ่านตัวเลขเพียงอย่างเดียว การเรียนคณิตศาสตร์สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งกับสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น พืชผัก ผลไม้ วันนี้จะพาไปดูการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของชั้นที่ 1 ที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ผ่านธัญพืชขนาดจิ๋วที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง “ถั่ว”
เริ่มต้นจากคุณครูได้นำถั่วมาทั้งหมด 4 ชนิด แล้วให้เด็กๆได้เลือกถั่วแต่ละชนิดมา โดยมีเงื่อนไขว่า เลือกถั่วแต่ละชนิด โดยต้องมีจำนวนที่ไม่เท่ากัน และไม่เกิน 10 เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้การเปรียบเทียบจำนวน นำไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องของ “มากกว่า” “น้อยกว่า” เมื่อเด็กๆ ได้ถั่วของตนเองมาแล้ว คุณครูจะให้เด็กๆได้สังเกต รูปร่าง สีสัน และลักษณะของถั่วแต่ละชนิด เมื่อทำการนับจำนวนแล้ว คุณครูจึงให้เด็กๆ ร่วมแบ่งปันในสิ่งที่ตนเองได้สังเกตและนับจำนวนมา นำไปสู่การเรียนรู้นับจำนวนต่อไป
“ถั่วสีดำมีจำนวนเท่าไหร่”
คุณครูตั้งคำถาม ห้องเรียนครึกครื้นอย่างเห็นได้ชัด เด็ก ๆ แย่งกันตอบด้วยความมั่นใจ แต่ละคนมีวิธีการนับที่แตกต่าง บ้างก็นับในใจ บ้างก็ใช้นิ้วนับ หรือบ้างก็สามารถเห็นแล้วรู้จำนวนเลย ทำให้คำตอบออกมาหลากหลายทั้ง 7 บ้าง 8 บ้าง คุณครูจึงได้พาเด็ก ๆ มานับจำนวนถั่วบนกระดานไปพร้อมกันเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องและยังเป็นการได้ทบทวนการนับจำนวนไปในตัวอีกด้วย
หลังจากทราบจำนวนที่ถูกต้องแล้วเด็ก ๆ ก็ได้เขียนสัญลักษณ์มากกว่าและน้อยกว่ากัน เมื่อคุณครูถามว่าสัญลักษณ์มากกว่ามีลักษณะอย่างไร เด็ก ๆ พากันทำท่าทางแบบต่าง ๆ เพื่อบอกคุณครูถึงรูปร่างของสัญลักษณ์มากกว่าน้อยกว่า สร้างความสนุกสนานทั้งยังได้ความรู้
เมื่อได้เทคนิคการนับจำนวนถั่วตามโจทย์บนกระดานแล้วก็กลับมาที่การนับจำนวนถั่วบนกระดาษของตนเองกันบ้าง เด็กๆ นับได้ถูกต้อง ทั้งยังเปรียบเทียบได้ว่าถั่วชนิดใดมากกว่าหรือน้อยกว่ากัน และใช้สัญลักษณ์ได้อย่างถูกต้อง
จากห้องเรียนนี้ เด็กๆได้เรียนรู้เรื่องเครื่องหมาย จำนวน และการเติมเครื่องหมายให้ถูกตำแหน่ง บอกค่า ของจำนวนได้อย่างถูกต้อง
ในท้ายคาบเรียนคุณครูมีกระดาษสีขาวแผ่นเล็กหนึ่งใบให้กับเด็กทุกคนเพื่อให้เด็กๆได้ทำชิ้นงานศิลปะจากถั่วหลากสี เด็กๆค่อยๆบรรจงติดกาวลงบนถั่ว นำมาติดที่กระดาษ เรียงร้อยจนเกิดเป็นรูปร่างมากมายตามจินตนาการ เรียกได้ว่าได้ฝึกฝนทักษะการนับและได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ แล้วยังได้เสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กๆอีกด้วย
จบคาบเรียนนี้เด็กๆได้เรียนรู้หลากหลายเรื่องราว ทั้งการนับ การเปรียบเทียบ และเรียนรู้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ มากกว่า น้อยกว่า เท่ากับ ไม่เท่ากับ และยังพบว่าการเรียนรู้คณิตศาสตร์เกิดขึ้นได้จากสิ่งต่างๆรอบตัว … คุณพ่อ คุณแม่ก็สามารถชี้ชวนนับ เปรียบเทียบ ข้าวของเครื่องใช้ ขนมต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับตัวเด็ก ๆ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเรียนรู้โจทย์ที่ยากและท้าทายมากขึ้น ความคิดเชื่อมโยงต่างๆ จะช่วยให้เขามองเห็นภาพและเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความเข้าใจได้ไม่ยากเลย…
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2567