เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
“กิจกรรมเปิดตลาด” เมื่อช่วงก่อนปิดภาคเรียนสุดท้ายในปีการศึกษา 2563 พาเด็กๆ ชั้น 1 ใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ฝึกการใช้จ่าย ให้รู้ค่าของเงิน ทั้งยังช่วยฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ผ่านสถานการณ์จริง คุณครูให้เด็ก ๆ เป็นทั้งพ่อค้า แม่ค้า และคนซื้อ โดยให้เด็กๆในห้องแบ่งเวลากันในการเป็นคนซื้อและคนขาย เมื่อเป็นผู้ขาย สามารถนับจำนวนเงินที่ได้รับ และทอนเงินได้ถูกต้อง เมื่อเป็นผู้ซื้อต้องนับจำนวนเงินจ่ายค่าราคาสินค้าได้พอดี หรือหากจ่ายมากกว่าราคาสินค้า ก็ต้องคิดเงินทอนได้ถูกต้อง พร้อมบันทึกรายการซื้อของของตนเองได้ครบถ้วน กิจกรรมนี้เด็กๆยังได้เลือกซื้อของที่หลากหลายจากเพื่อนๆ และเลือกใช้เหรียญหรือธนบัตรซื้อของได้ถูกต้องด้วย
“ กิจกรรมเปิดตลาด เป็นกิจกรรมประมวลการเรียนรู้ หน่วยวิชาคณิตศาสตร์ในตลอดปีการศึกษาซึ่งเด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่อง จำนวนนับ การบวก การลบ เงิน และจะได้นำประสบการณ์เรียนรู้มาทดลองใช้ในกิจกรรมการซื้อขายที่ครูได้จัดพื้นที่ และให้โอกาสในการได้ใช้ความรู้ ความเข้าใจในตลาดจำลองได้เป็นทั้งลูกค้าและเป็นพ่อค้า แม่ค้าตัวน้อย ที่ซื้อของ และขายของกันจริง ๆ
นอกจากเนื้อหาเรื่อง การบวก การลบ ที่เด็กๆ ต้องคิดเงินที่จ่าย เงินทอน แล้วยังได้ใช้ความรู้อีกหลากหลาย เช่น การเปรียบเทียบจำนวน ดูราคาสินค้าชนิดเดียวกันว่าราคาของร้านค้าไหนถูกหรือแพง เรื่องค่าของเงินที่ตั้งราคาสินค้าให้เหมาะสม เลือกซื้อสินค้าตามความจำเป็น และไม่เกินปริมาณเงินที่มีอยู่ จนไปถึงฝึกการตัดสินใจใช้เหตุผลว่าสินค้ากับราคาของเหมาะสมที่จะซื้อหรือขายหรือไม่
เด็ก ๆ สนุกสนานไปกับประสบการณ์ที่ได้รับ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูทำหน้าที่เพียงให้คำแนะนำการสะกดคำ เพื่อบันทึกการใช้จ่าย การช่วยโปรโมทสินค้าร้านต่าง ๆ และเห็นมุมมองใหม่จากเด็ก ๆ ตัวน้อยที่ต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น นำสินค้าที่ซื้อมาจากร้านของเพื่อน มาตั้งราคาขายใหม่ เป็นต้น”
ในช่วงปิดเทอมที่เด็กๆ ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้านลองหากิจกรรมสนุกๆ ชาวนเด็กๆเรียนรู้เรื่องเงินกันดูนะคะ เช่น เกมผสมให้ครบ 100 บาท ช่วยฝึกการบวกลบเลข คุณพ่อ คุณแม่เตรียมเหรียญ และธนบัตรย่อยหลายๆ ประเภท จากนั้นวางเงินไว้ตรงกลางจำนวนหนึ่ง แล้วให้ลูกเติมเงินให้ครบ 100 เช่น วางธนบัตร 20 บาท 2 ใบ เหรียญ 10 บาท 2 เหรียญ เหรียญบาท 5 เหรียญ รวมเป็นเงิน 65 บาท ลูกต้องเติมเข้ามาอีก 35 บาท ถ้าเติมเกินหรือขาดก็ให้ลูกลดหรือเพิ่มจนได้คำตอบที่ถูกต้อง ฝึกบ่อยๆ ก็ช่วยบวก ลบเลขได้คล่องขึ้นนะคะ
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2564