ทำไมจึงเล่นรักบี้

หลักคิดของหน่วยวิชากีฬามีเป้าหมายการพัฒนาที่ไม่ใช่เพียงด้านร่างกาย แต่ยังรวมถึง ความรู้ เจตคติ คุณธรรม และค่านิยมของผู้เรียนด้วย ดังนั้นครูกีฬาต้องตระหนักว่าจะต้องสร้าง ความมั่นคง ความดีงาม คุณธรรม จริยธรรม รวมถึงระเบียบวินัย ความกล้าหาญ สามัคคี ความเสียสละ ความช่วยเหลือ รู้แพ้ รู้ชนะ การให้อภัย ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน

สิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติที่ผู้สอนต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนทุกคน ส่วนการเล่นกีฬาเก่งหรือไม่เก่งนั้นเป็นเรื่องรองลงมา มุ่งใช้กีฬาพัฒนาคน ไม่ใช่เอาคนมาพัฒนากีฬา ไม่มุ่งเพียงการแข่งขัน เพื่อชัยชนะเท่านั้น … หัวใจของการเล่นกีฬาเพราะกีฬาช่วยยกระดับจิตใจของมนุษย์

วันนี้จึงขอนำแนวคิดทำไมเราจึงใช้ “กีฬารักบี้” เป็นกีฬาหลักให้เด็กๆได้เรียนรู้ และลงสนามแข่งขันต่างๆ รวมถึงมีเทศกาลฝึกซ้อมและแข่งขันรักบี้ให้นักเรียนในช่วงชั้นประถมได้ลงเล่นกันเป็นประจำทุกปี

โดย คุณครูปาด – ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยฝ่ายวิชาการจะมาบอกเล่าแนวคิดนี้ค่ะ

แนวทางในการบูรณาการของหน่วยวิชากีฬานั้นมีลักษณะเดียวกันกับหน่วยวิชาอื่นๆ กล่าวคือ ต้องเริ่มจากบูรณาภายในหน่วยวิชาตัวเองก่อน แล้วจึงบูรณาการข้ามหน่วยวิชา กีฬาเองก็มีหลายสาระอยู่ภายในตัวเอง คือมีกีฬาหลายชนิด แต่จะบูรณาการอย่างไร กีฬาที่จะใช้เป็นแม่บทของกีฬาประเภทอื่น จึงต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมหลายประการ

ประการแรก

คือเป็นกีฬาที่สร้างการเรียนรู้ผ่านทีมเวิร์ค

ประการที่สอง

ควรเป็นกีฬาที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นธรรมชาติ เนื่องจากกีฬาทุกชนิดต้องใช้ร่างกาย หากกีฬาใดก็ตามที่ใช้ร่างกายอย่างเป็นธรรมชาติ กลมกลืนที่สุด ต่อเนื่องที่สุด สร้างความแข็งแรงได้มากที่สุด ก็จะสามารถเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับการเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ และสร้างความเชื่อมโยงสู่กีฬาประเภทอื่นได้

และกีฬา “รักบี้” นับเป็นกีฬาที่มีความเหมาะสม เพราะรักบี้จะประกอบด้วยผู้เล่นที่เป็นทีมขนาดใหญ่ ผู้เล่นจะต้องประสานกันตลอดเวลา เกิดความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หลักสำคัญของการเล่นรักบี้คือ “การวิ่งไล่จับ” จับคนที่ถือลูก การวิ่งไล่จับเป็นการใช้ร่างกายที่เป็นธรรมชาติ และทุกคนมีความเคยชินในการเคลื่อนไหวด้วยท่วงท่าเช่นนี้อยู่แล้ว จึงเป็นพื้นฐานที่ดี และเป็นเหตุผลที่ทุกๆคนสามารถเล่นรักบี้ได้

เมื่อเราเรียนรักบี้ก็จะสามารถไปเรียนกีฬาอื่นโดยใช้พื้นฐานที่มาจากหลักเดียวกันและเพิ่มความยากมากขึ้น โดยการเลี้ยงลูกบอลด้วยเท้า หรือปลายนิ้ว ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งฟุตบอล บาสเก็ตบอล และกีฬาชนิดอื่น ก็เริ่มจากพื้นฐานการพัฒนาของร่างกาย โดยมีรักบี้เป็นแม่บทได้ ดังนั้นโรงเรียนจึงเลือกรักบี้เป็นกีฬาหลัก

รักบี้ยังเป็นกีฬาที่มีการเล่นหลายระดับ ดังนั้นในผู้เล่นที่มีวัยและเพศแตกต่างกัน ก็สามารถเลือกเล่นในระดับที่เหมาะสม

รักบี้ แม้จะดูเป็นกีฬาที่ผู้เล่นต้องวิ่งไล่จับกันอยู่ตลอดเวลา แต่อัตราการบาดเจ็บในการเล่นรักบี้นั้นกลับไม่ได้เกิดขึ้นมากอย่างที่หลายคนกังวล

” เพราะรักบี้เล่นบนคน ไม่ได้เล่นที่ลูกบอล เวลาที่เราเข้าไปจับคน ไม่ได้แย่งลูกกัน ผู้เล่นก็จะเกิดความระวังซึ่งกันและกัน ต่างกับกีฬาอื่นที่เล่นลูกบอล ใจอยู่ที่ลูกเลยไม่ได้ระวังตัวคน ก็อาจเกิดปะทะกันได้ เพราะทุกคนโฟกัสไปที่ลูกบอล การบาดเจ็บทางร่างกายของกีฬารักบี้ เกิดจากสองสาเหตุใหญ่ หนึ่งคือร่างกายที่ไม่ฟิต ผู้เล่นไม่พร้อมลงสนาม และสองเกิดจากการเล่นที่ไม่ถูกต้องตามกติกา เช่นเล่นตุกติก (เจตนาเล่นแรง) หรือการเข้าแท็กผิดวิธีแบบกล้าๆ กลัวๆ”

นอกจากนี้ครูปาดยังเสริมอีกว่ารักบี้เป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยคุณธรรม ดังนั้นผู้สอนจึงมีการอบรมผู้เรียนตลอดเวลา การอบรมทำให้นักกีฬาทุกคนต้องสุภาพ รักบี้ต้องขอบคุณคู่แข่ง รวมถึงโค้ชของคู่แข่งที่ช่วยให้เรามีคู่เล่น ขอบคุณกรรมการ ขอบคุณผู้ชม ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเสริมให้ผู้เล่นได้พัฒนาจิตใจไปด้วย

นอกจากคุณสมบัติทางกายแล้ว สิ่งที่ผู้เล่นได้เพิ่มเติม คือวัฒนธรรมของรักบี้ เพราะประชาคมรักบี้โลกมีวัฒนธรรมของตนเอง การมาเล่นรักบี้จึงไม่ใช่แค่การเล่นในที่ใดที่หนึ่ง แต่เท่ากับเป็นการเข้าร่วมประชาคมรักบี้โลกด้วย และทุกคนก็ต้องรับวัฒนธรรมเดียวกัน ในวงการรักบี้พูดกันว่า “เมื่อคุณไปอยู่ที่ประเทศใดก็ตามที่เล่นรักบี้ คุณสามารถหาเบอร์โทรศัพท์ หรือเข้าเว็บไปถามว่ามีสนามตรงไหนที่เขาเล่นกันบ้าง แล้วคุณก็ไปที่นั่นพร้อมกางเกง และเสื้อยืด คุณก็สามารถลงไปเล่นร่วมกับเขาได้” นั่นคือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เล่นทุกคนในโลกที่ใช้รักบี้เป็นภาษาสากลในการสื่อสารมิตรภาพระหว่างกัน

” หัวใจสำคัญของการเล่นรักบี้อีกอย่างหนึ่ง คือการส่งลูกไปข้างหลัง ซึ่งทำให้กว่าจะได้ทรัยมา ต้องอดทน รุกคืบพื้นที่ไปอย่างยากลำบาก คนที่ถือบอลต้องบุกไปข้างหน้า ต้องเป็นผู้นำ ต้องรับภาระของส่วนรวม ต้องเหนื่อย ต้องล่วงหน้าไปก่อน ผลงานของคุณจะเป็นรากฐานความสำเร็จของคนข้างหลัง คนที่รับก็ต้องรู้ความยากลำบากในการรุกคืบไปแต่ละนิ้วของคนที่โยนมา เราต้องไม่ทำให้เสียหาย ต้องรักษาไว้ให้ดี และต้องรับภาระรุกคืบต่อไป

ส่วนคนอื่นก็จะไม่ทอดทิ้งให้คนที่ถือลูกไปเหนื่อยคนเดียว ต้องวิ่งตามหลังไปเพื่อเป็นกองหนุนเขาตลอดเวลา เมื่อเขาไปไม่ได้ เราจะต้องเป็นคนแรกที่จะวิ่งเข้าไปรับหน้าที่ภาระหน้าที่แทน นี่คือจริยธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของรักบี้อันเกิดจากการส่งลูกไปข้างหลัง “

การปลูกฝังกีฬาลงสู่ชีวิต ไม่ใช่เพียงการเรียนตามหลักสูตรเท่านั้น แต่ทุกตารางนิ่วบนสนามหญ้าสีเขียวของโรงเรียนที่เด็กๆ ทุกคนได้ลงไปวิ่ง คือทุกก้าวย่างในชีวิตของเด็กๆ เพลินพัฒนาที่ได้พัฒนาจิตใจ จริยธรรม และคุณธรรมไปพร้อมกับร่างกายที่แข็งแรงและเติบโตทุกวันนั่นเอง

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 15 สิหาคม 2562