ปลูกสำนึกรักษ์โลก…ลดการใช้พลังงาน

“…เด็กๆ ในยุคนี้ หลายๆคนเกิดมาพร้อมกับคำว่า PM 2.5 จนคุ้นชินกันไปแล้ว บางครั้งเราก็แยกไม่ออกระหว่างหมอกหรือฝุ่นกันแน่…”

. . .

ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคมของทุกปีเป็นช่วงที่อากาศสงบนิ่ง ไม่มีลม ไม่มีฝน ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 มักจะมาเยือนในช่วงเวลานี้ ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นนี้มาหลายปี เด็กๆ ในยุคนี้ หลายๆคนเกิดมาพร้อมกับคำว่า PM 2.5 จนคุ้นชินกันไปแล้ว บางครั้งเราก็แยกไม่ออกระหว่างหมอกหรือฝุ่นกันแน่

ฝุ่นจิ๋วที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สร้างอันตรายให้กับร่างกายได้อย่างไม่น่าเชื่อ เจ้าฝุ่นจิ๋วนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจากมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ของภาคการเกษตร การเผาป่า การเผาขยะ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ปัญหาการจราจรในพื้นที่ต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM 2.5 ทั้งสิ้น  นอกจากสาเหตุดังกล่าวนี้แล้วอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือการเผาไหม้ของถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเราก็ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่า  PM 2.5 ด้วย

. . .

 “…ในอีก 50 ปีข้างหน้าจะไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วเราจะอยู่อย่างไรกันดีนะ ?”

ในห้องเรียนชั้น 3 ของโรงเรียนเพลินพัฒนา คุณครูใบเฟิร์น และคุณครูน้อยหน่า คุณครูหน่วยวิชามานุษกับโลก และ โครงงานวิจัยประจำภาคเรียน ได้นำพาเด็กๆเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องพลังงานโดยเริ่มต้นจากพลังงานพื้นฐาน พลังงานกล พลังงานจลน์ พลังงานเสียง เรื่อยมาจนถึง พลังงานแปรรูปอย่าง “พลังงานไฟฟ้า” นำไปสู่การบูรณาการร่วมกันของ 2 หน่วยวิชา คือหน่วยวิชามานุษกับโลก (ที่มีหลักการของวิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษาร่วมกัน) และหน่วยวิชา โครงงานวิจัยประจำภาคเรียนที่เด็กๆจะได้วางแผนการทำชิ้นงานผ่านการสืบค้นข้อมูลและลงมือทำชิ้นงานด้วยตนเอง 

ในวิชามานุษกับโลกนั้นคุณครูได้ชวนเด็กๆ มาสืบค้น แหล่งที่มาปัญหา และอุปสรรคของการผลิตไฟฟ้าจนมาถึงสื่อการเรียนรู้ที่ว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้าจะไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วเราจะอยู่อย่างไรกันดีนะ 

หากมองมาที่พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว เราอาจไม่ทันได้เห็นโลกที่ไม่มีไฟฟ้า แต่สำหรับเด็กๆชั้น 3 นี้ อีก 50 ปีข้างหน้า เขาอาจได้พบกับสถานการณ์นั้นหากเรายังไม่ช่วยกันประหยัดพลังงาน หรือมองหาพลังงานทดแทนอื่นๆ ในห้องเรียนวันนั้นคุณครูจึงจำลองโลกอีก 50 ปีข้างหน้ามาไว้ในห้องเรียน โดยการปิดพัดลม ปิดแอร์ ปิดไฟ ทั้งห้องตลอดคาบเรียน เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก แต่เด็กๆ รู้และเข้าใจได้อย่างชัดเจน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงงานวิจัยประจำภาคเรียนภายใต้แนวคิด “ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า รู้รักษาพลังงาน”  ซึ่งเด็กๆ จะได้ออกแบบชิ้นงานเพื่อตอบโจทย์วิจัย

กระบวนการออกแบบชิ้นงานนั้นคุณครูจะมีข้อมูลให้เด็กๆได้ศึกษาหลากหลายรูปแบบ เช่น ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ การทาสีบ้านเพื่อลดอุณหภูมิ การปลูกต้นไม้ช่วยให้บ้านเย็น เป็นต้น  ในขั้นตอนการเลือกชิ้นงานขึ้นมาทำ คุณครูจะช่วยชี้แนะ โดยจะมีความสอดคล้องกับปัญหาที่เด็กๆ หยิบยกขึ้นมาตั้งสมติฐาน แม้จะเป็นชิ้นงานเดียวกันบางคนโฟกัสเรื่องของสีดูดซับแสง และความชื้นในตู้อบ บางคน โฟกัสที่พื้นผิวว่า พื้นผิวแบบไหนดูดและเก็บความร้อนได้ดีกว่า เมื่อมีการทดลองประสิทธิภาพของชิ้นงานที่คล้ายๆกัน เด็กๆต่างก็ได้เรียนรู้ปัญหาของเพื่อนที่แตกต่างกันออกไป เช่น  เด็กๆสังเกตว่าตู้อบของอีกกลุ่มมีไอน้ำเกาะภายในตู้ทำให้เกิดความชื้นขึ้น ส่งผลให้ผลไม้ที่อยากให้แห้งกลับมีความชื้นจึงให้ผลไม่ตรงตามที่ตั้งสมมติฐานไว้ 

วิธีแก้ไขปัญหาของเด็กๆ คือเจาะรูตู้อบเพื่อไล่ความชื้นออกไป ส่งผลให้ผลไม้แห้งเร็ว และเป็นการตอบโจทย์งานวิจัยที่ต้องการสร้างตู้พลังงานแสงอาทิตย์ที่จะทำให้ผลไม้แห้งได้

. . .

เด็กๆ มีระยะเวลาในการทำงานวิจัยชิ้นนี้ตลอดภาคเรียน (10 สัปดาห์) โดยคุณครูออกแบบการเรียนรู้ที่ร้อยเรียงกันมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงสัปดาห์ของการออกภาคสนามที่เด็กๆได้ออกไปเรียนรู้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้แนวคิด “ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า รู้รักษาพลังงาน” ที่เชื่อมโยงความรู้จากห้องเรียน สู่การเปิดโลกการเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงาน ที่เด็กๆ จะได้นำความรู้จากห้องเรียนมาต่อยอด ณ สถานที่แห่งนี้ 

จากการเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนจากกังหันลมในห้องเรียน เมื่อมาเห็นกังหันลม ณ ลำตะคอง ทำให้เด็กๆเข้าใจได้ทันทีว่า ทำไมกังหันลมจึงผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าถ่านหิน เพราะแรงลมขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าไม่มีลมกังหันก็ไม่ทำงาน ถ้ามีลมแรงกังหันลมจะหมุนเร็วเกินไปซึ่งไม่ได้ช่วยให้มีการสร้างพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แต่แรงลมที่สม่ำเสมอจะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าได้ดี  นอกจากนี้เด็กๆ ได้เข้าไปเรียนรู้ตามโซนต่างๆ ในศูนย์การเรียนรู้ ได้ชมภาพยนต์ 7D ที่มาบอกเล่าที่มาของการเกิดไฟฟ้า ซึ่งนำเสนอออกมาได้อย่างเข้าใจง่าย และไฮไลท์ที่สำคัญของการออกภาคสนามครั้งนี้คือมุม “ม่วนซื่นลำตะคอง” ที่มาบอกเล่าที่มากว่าจะมาเป็นโรงไฟฟ้า และศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ชาวลำตะคองได้แบ่งปันพื้นที่และต้องเสียพื้นที่ป่าบางส่วนไปเพื่อนำมาสร้างแหล่งพลังงาน สัตว์ป่าต้องอพยพ ถิ่นที่อยู่

เด็กๆ รู้ซึ้งแล้วว่า กว่าจะมีไฟฟ้ามาให้เขาได้เปิดแอร์เย็นสบาย มีแสงไฟส่องสว่าง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันขนาดนี้ เราต้องเสียอะไรไปบ้าง ก่อนกลับ คุณครูให้เด็กๆเขียนการ์ด กลับมาหาคนที่บ้านเรื่องของการประหยัดพลังงาน อาทิ 

ถึงเพื่อนๆ ชั้น 3/4

ความสะดวกสบายที่เรามีทุกวันนี้ล้วนมาจากไฟฟ้า หากแต่โรงไฟฟ้าที่เราใช้ไฟฟ้านั้นมีความหลังที่ฟังแล้วเศร้าใจ การก่อตั้งทำให้สูญเสียพื้นที่ป่ามากมาย สัตว์ล้มตายและอพยพไปจนหมดสิ้น ความงดงามและความอุดมสมบูรณ์จึงหายไป เราจึงอยากให้คุณตระหนักถึงธรรมชาติ ช่วยกันรักษาและให้ป่าคงอยู่ต่อไป 

ณดา 3/4

กว่าจะได้พลังงาน ความสวยงามแหล่งท่องเที่ยว ต้องแลกกับชีวิตของสัตว์ความสมดุลของธรรมชาติ อาหารที่สัตว์หาได้ก็ต้องแย่งกินกัน ต้องขอให้ทุกคนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดด้วยนะคะ

เมื่อกลับมาจากภาคสนาม เราก็ได้เห็นการลงมือทำชิ้นงานของเด็กๆ เพื่อเตรียมนำเสนอ โดยคุณครูจะจัดกลุ่มให้เด็กๆ นำเสนอร่วมกัน โดยมีความสนใจเป็นตัวตั้ง  เช่น กลุ่มที่สนใจหม้ออบพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มปลูกต้นไม้ตามทิศเพื่อลดความร้อนในบ้าน กลุ่มทาสีบ้าน ลดความร้อน กระบวนการนี้ เด็กๆทุกคนจะมีชุดความรู้ที่ตนเองเรียนรู้ และจดบันทึกมาแล้ว เพียงแต่นำความรู้ที่ได้มาทำชิ้นงาน ร่วมกัน กระบวนการนี้เรียกว่า งานเดี่ยวสู่งานกลุ่ม เพราะเด็กๆจะไม่รู้เลยว่า ในการทำโครงงานชิ้นนี้ จะได้จับกลุ่มกับเพื่อนคนไหน ทุกคนได้ค้นคว้า และทดลองมาพร้อมๆกัน

พริ้นท์ 3/2

มาถึงสัปดาห์ที่ 10 สัปดาห์ของการนำเสนอโครงงาน ชื่นใจ…ได้เรียนรู้ ป็นการนำชิ้นงาน และสรุปผลการวิจัยมานำเสนอให้เพื่อนๆ ต่างห้อง และคุณครู ได้รับฟัง ชิ้นงาน หลายๆชิ้น คุณครูดูเองแล้วยังรู้สึก ว้าว !!  กับ เด็ก ชั้น 3 ที่ ทำออกมาได้ตอบโจทย์ และสวยงาม ผลการวิจัยที่อธิบายได้ชัดเจน รวมไปถึง ผู้เข้าฟังการนำเสนอ ที่มีการตั้งคำถามอย่างน่าสนใจ

. . .

การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ฝึกตั้งคำถาม คาดเดาคำตอบ เก็บข้อมูล ทำการทดลอง บันทึกผล ไปจนถึงการสรุปและอภิปรายผล โดยเด็กๆได้ลงมือทำงานด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และจดจำไม่มีวันลืม ทั้งยังได้ความสนุก เพลิดเพลินในการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่สนใจ

“เพลินพัฒนา ชุมชนแห่งการเรียนรู้

ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม” 

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567