เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
ข้าวเป็นเมล็ดพืชชนิดหนึ่งที่เป็นอาหารหลักกับคนได้ เราพบเห็นข้าวชนิดและสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมายในชีวิตประจำวัน เราจะนำเรื่อง “ข้าว มาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนได้อย่างไร จะเรียนรู้วิจัยผ่านระบบนิเวศนาข้าวในรูปแบบไหน” เป็นคำถามที่ทีมครูบูรณาการสงสัยและนั่งขบคิดกันอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อไอเดียบรรเจิด จึงตกลงร่วมกันว่า “กว่าจะมาเป็นข้าว มีเรื่องราวและที่มาอย่างไรกันนะ” ดังนั้น จุดเริ่มต้นของนักวิจัยตัวน้อยในชั้น 2 จึงเริ่มต้นขึ้น….
การเริ่มต้นของการทำวิจัยในชั้น 2 มีจุดเริ่มต้นมาจากการเชื่อมโยงความรู้ในหน่วยประสบการณ์การเรียนรู้มานุษกับโลกไปสู่การทำโครงงานวิจัยในเรื่องของคุณค่าและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในระบบนิเวศนาข้าว การอยู่กันอย่างเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิต ปัจจัยและรายได้จึงเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีพ การได้ผลผลิตจากนาข้าวที่รวดเร็วมีผลต่อรายได้ความเป็นอยู่ของชาวนา ทำให้ “สารเคมี” มีความสำคัญมากกว่า “วิถีชีวิตดั้งเดิม” ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศนาข้าวเปลี่ยนแปลงไปทั้งในเรื่องของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต คุณภาพดิน/คุณภาพน้ำ และคุณภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา
ดังนั้น จึงเป็นการจุดประกายการเรียนรู้ในห้องเรียนวิจัย เด็ก ๆ จึงเกิดคำถามและข้อสงสัยว่า “ระหว่างนาอินทรีย์และนาเคมีนาแบบไหน….กว่ากัน” เมื่อได้คำถามที่ตนเองสงสัยแล้ว กระบวนการในขั้นถัดไปจากการพัฒนาคำถามไปสู่การออกแบบแผนผังเหตุ-ผล เด็ก ๆ แต่ละกลุ่มได้ช่วยกันหาข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ในการออกแบบสมมติฐานงานวิจัยกลุ่มของตนเอง เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบวิธีวิจัย อุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บผลวิจัยกลุ่มของตนเอง
ในที่สุดวันที่นักวิจัยตัวน้อย รอคอยก็มาถึง เด็ก ๆ ได้เดินทางไปถึงพื้นที่ทุ่งนาสีเขียวขจี เพื่อไปเก็บผลวิจัยจากของพื้นที่ทุ่งทั้ง ๒ พื้นที่ เด็ก ๆ เห็นถึงความเหมือนต่างระหว่าง นาอินทรีย์ (บ้านหัวอ่าว) และ นาเคมี (บ้านคลองโยง) โดยนำทักษะที่ติดตัวไปด้วยจากห้องเรียนไปใช้ร่วมกับการเก็บผลจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสังเกต การจำแนกจัดกลุ่ม การฟังเพื่อจับประเด็น และการจดบันทึกมาใช้ร่วมกับการเก็บผลวิจัย ได้เจอสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายที่ไม่เคยได้เห็นในห้องเรียน ซึมซับบรรยากาศและวิถีชีวิตแบบชาวนา การได้สัมผัสและสัมภาษณ์ชาวนาตัวจริง ๆ ที่มีประสบการณ์การทำนามาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เด็ก ๆ ตื่นเต้นและได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากในห้องเรียน
ถึงแม้พื้นที่การทำนาของทั้ง 2 พื้นที่จะมีความแตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากการทำวิจัย คือ “ที่นาเคมี ก็ยังพบเจอสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บ้าง แต่จำนวนและความหลากหลายก็มีน้อยกว่านาอินทรีย์ จึงทำให้เห็นว่า ชาวนาก็ไม่ได้อยากใช้สารเคมีกับนาข้าว ชาวนาจึงเลือกใช้สารเคมีอย่างพอดี ใช้เท่าที่จำเป็น และรู้จักวิธีป้องกัน ก็จะทำให้เมล็ดข้าว สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และวิถีความเป็นอยู่ของชาวนาปลอดภัย”
บทความโดยทีมคุณครูบูรณาการ ชั้น 2
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2566