เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
เด็ก ๆ ชั้น 1 ได้เรียนรู้บูรณาการศาสตร์ทั้ง 3 ได้แก่ พัฒนาชีวิต ดนตรีชีวิต และแสนภาษา ภายใต้แนวคิด “เปิดโลกนักสำรวจ” เพื่อให้นักเรียนได้เปิดโลกการเรียนรู้ของนักสำรวจตัวน้อย ได้สำรวจและรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึก สำรวจร่างกายและวัสดุต่างๆที่ทำให้เกิดเสียงและให้จังหวะสั้นยาว สำรวจวัสดุรอบตัวที่ทำให้เกิดเส้น สี หลากหลาย ที่ล้วนสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง
เริ่มต้นด้วยการให้นักสำรวจตัวน้อย “ประดิษฐ์พู่กันมหัศจรรย์” เพื่อบันทึกการเดินทาง ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ online จึงไม่ง่ายนักที่จะทำให้เด็ก ๆ สนใจได้อย่างต่อเนื่อง และเข้าใจเนื้อหาการเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ คุณครูจึงจัดทำแผนการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้ใช้วัสดุ อุปกรณ์รอบตัว และมีอุปกรณ์บางส่วนที่ครูจัดเตรียมไปให้ในกล่องเพลิน (Plearn learning box) เพื่อประดิษฐ์พู่กันมหัศจรรย์ เด็กๆ รู้สึกดีใจ ภูมิใจที่ได้ทำพู่กันด้วยตนเอง จึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะใช้พู่กันของตนเองในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน
พอถึงวันที่มีเรียนพื้นที่ชีวิตอีกครั้ง เด็ก ๆ ได้นำพู่กันที่ตนเองประดิษฐ์มาอวดคุณครู พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการประดิษฐ์พู่กันของตนเองอย่างสนุกสนาน หลังจากนั้นครูเล่านิทานเรื่อง “ดินสอวิเศษของจี๊ดจ๊าด” เชื่อมโยงการเรียนรู้การใช้สีสื่อสารความรู้สึกกับการใช้พู่กันมหัศจรรย์ และให้เด็กๆ สะท้อนความรู้สึก หยิบประเด็นการเรียนรู้จากนิทานมาร่วมแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้กลับมาย้อนมองตนเองถึงการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตนเองด้วยสีต่างๆ
เมื่อนักเรียนมีความเข้าใจเรื่องการใช้สีสื่อสารอารมณ์ความรู้สึก คุณครูได้เปิดโจทย์การสร้างชิ้นงาน ว่า “ให้นักเรียนใช้พู่กันมหัศจรรย์ ระบายสีน้ำสะท้อนความสุขของตนเอง” วาดสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีมีความสุข เพื่อให้นักเรียนถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกผ่านสีและเรื่องราวที่สื่อสารถึงความสุขของตนเอง
หลังจากเปิดโจทย์ นักเรียนสามารถทำงานในคาบ self ได้อย่างราบรื่น สนุกกับการใช้พู่กันมหัศจรรย์ที่ตัวเองประดิษฐ์ขึ้นมา ทำงานตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างน่าทึ่ง เมื่อนำพู่กันมหัศจรรย์ไปสร้างสรรค์ผลงานก็ได้เส้นสายที่น่าสนใจประกอบเป็นเรื่องราวในภาพที่มีองค์ประกอบสวยงาม
เช่นตัวอย่างผลงาน “ต้นไม้ใหญ่กลางทุ่งหญ้าตอนกลางคืน” ของน้องไอรีณ ชั้น 1/5 ได้แรงบันดาลใจมาจากวิชามานุษกับโลกเรื่องกลางวัน กลางคืน และวิจัยพาเพลิน เรื่องแสง และเงา โดยพื้นหลังใช่พู่กันที่ทำจากฟองน้ำ ต้นไม้กับเนินดินใช้พู่กันที่ทำจากไหมเส้นผมตุ๊กตาบาร์บี้ นอกจากนี้น้องไอรีณยังมีการประยุกต์จากก้านสำลีรวมกันเป็นพู่กันใหญ่ ดึงออกมาเป็นก้านเดียวมาจุ่มสีแล้ววาดรายละเอียดอื่นๆ ด้วย
“เวลาที่ลูกทำผลงานมาให้ชม แม่จะไม่บอกว่าดี หรือไม่ดี ถูก หรือผิด แต่จะมองว่าลูกทำอะไร เปิดโอกาสให้แสดงออกในงานศิลปะอย่างอิสระเป็นตัวของตัวเอง ให้กล้าตัดสินใจและรู้สึกว่าศิลปะไม่มีผิดหรือถูก ไอรีณมักจะค้นพบวิธีใหม่ๆ ขณะทำงานศิลปะโดยที่แม่ไม่ได้บอกเสมอ จึงช่วยให้น้องมีความมั่นใจในตัวเอง น้องจะมีความสุข รู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่ได้ทำงานศิลปะ มีสมาธิและจดจ่อกับการทำงานมากขึ้น สามารถจัดระบบความคิด และถ่ายทอดเป็นคำพูดสรุปความได้ ขณะเรียนกับคุณครูและเป็นเด็กที่มีเหตุผลในการนำมาแก้ปัญหาง่ายๆ ตามวัยค่ะ”
เมื่อจินตนาการต้องมาพร้อมกับข้อจำกัดบางอย่าง กลับทำให้เด็กๆ ยิ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้ผลงานที่ได้สะท้อนตัวตนที่สุด เด็กๆ มีการเลือกใช้เส้นและสีที่เหมือนกับภาพในธรรมชาติที่เราคุ้นตา สามารถสื่อสารความหมายของความสุขผ่านผลงานที่ช่วยมอบพลังความสุขให้แก่ผู้ชมและครูพื้นที่ชีวิตได้อย่างงดงาม
ขอบคุณเรื่องเล่าการเรียนรู้จาก คุณครูสุธี เทพวรรณ (ครูท๊อป) นะคะ
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564