ชื่นใจ…ได้เรียนรู้ ชั้น 3 วิริยะ : “เล่นให้เป็นเรื่อง”

🎏

ของเล่นในความทรงจำของคุณคืออะไร ? ลูกข่าง จรวดกระดาษ หรือ การดีดลูกแก้ว และรู้ไหมว่า เบื้องหลังความสนุกของของเล่นแต่ละชิ้น มีความลับทางวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่ โครงงานชื่นใจ…ได้เรียนรู้ ภาคเรียนวิริยะ ในหัวข้อเรื่อง “เล่นให้เป็นเรื่อง” ของเด็กๆ ชั้น 3 ครั้งนี้จะมอบความรู้ดีๆ ให้กับทุกคน


เราจะทำอย่างไรให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้ เป็นคำถามที่คุณครูต้องคิดเสมอ และสำหรับวิชามานุษกับโลก ชั้น 3 คุณครูได้นำเรื่องของ “แรงและการเคลื่อนที่” ไม่ว่าจะเป็น แรงดึง แรงผลัก แรงโน้มถ่วง แรงเสียดทาน และแรงต้านอากาศ ซึ่งเป็นแรงพื้นฐานในชีวิตประจำวัน มาผนวกเข้ากับเรื่อง “ของเล่น” เพราะของเล่นเกือบทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นของเล่นสมัยใด ล้วนแต่มีหลักการของแรงซ่อนอยู่ ดังนั้นจึงเกิดเป็นหัวข้อโครงงานวิจัยของเด็กๆ ชั้น 3 แต่มากไปกว่านั้นคือ จุดประสงค์ที่อยากจะให้เด็กๆ ได้สนุกการกับเล่นของเล่น ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้เรื่องของแรงไปด้วยนั่นเอง

ความชื่นใจไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้ปกครองที่มาชมงานนำเสนอของเด็กๆ เท่านั้น แต่สำหรับคุณครูเองที่เฝ้าติดตามเด็กๆ มาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทำโครงงานก็ชื่นใจไม่แพ้กัน เพราะคุณครูได้เห็นว่าเด็กๆ มีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวเอง สามารถอธิบายได้ว่า ของเล่นชิ้นไหนสร้างมาจากหลักการอะไร และมีวิธีการทำงานอย่างไร รวมถึงมีความเข้าใจในกระบวนการสร้างของเล่นชิ้นนั้นๆ ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น เด็กๆ ที่มีความสนใจในของเล่นรางลูกแก้ว ก็ได้ทดลองสร้างรางลูกแก้วที่มีพื้นผิวต่างกัน 2 แบบ คือ พื้นผิวเรียบ และ พื้นผิวขรุขระ เพื่อทดสอบว่าพื้นผิวแบบไหน ลูกแก้วจะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วกว่ากัน สิ่งสำคัญคือการที่เด็กๆ ได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง และนำพาทฤษฎีที่ได้เรียนไป ออกมาสู่การปฏิบัติจริง แววตาตื่นเต้นสดใสตอนนำเสนอของเด็กๆ ทุกกลุ่มทำให้เรารู้ได้เลยว่า เด็กๆ เองก็สนุก และ ชื่นใจภูมิใจกับผลงานของตัวเองเช่นกัน

ก่อนจะมาเป็นโครงงานชื่นใจ…ได้เรียนรู้ หัวข้อ เล่นให้เป็นเรื่อง นอกจากจะมีการทดลองแล้ว เด็กๆ ยังได้ความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้านของเล่น คือ อาจารย์ทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ จากพิพิธภัณฑ์ของเล่นพื้นบ้านรุ่งอรุณทวีวัฒนา ที่เด็กๆ ชั้น 3 ได้ไปภาคสนามอีกด้วย และในวันนำเสนอโครงงาน อาจารย์ทวีทรัพย์ก็ได้เข้ามาเยี่ยมชมผลการเรียนรู้ของเด็กๆ และได้ให้คำชื่นชมไว้ว่า

“วันที่เด็กๆ ได้ไปภาคสนาม เด็กๆ มีความสนใจและมีคำถามมากมาย เมื่อได้ลงมือเล่น เด็กก็มีการสังเกต ทดลองเล่นในรูปแบบต่างๆ แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ และในงานวันนี้ทำให้เห็นว่า แม้เขาจะเป็นเพียงแค่เด็ก ชั้น 3 แต่พวกเขาได้แสดงถึงความสามารถ ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ และ คิดกระบวนการสร้างของเล่น ทำให้เกิดเป็นชิ้นงาน ที่สอดคล้องกับหัวข้อการเรียนรู้ ผมได้เห็นการทำงานเป็นทีม และเห็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสุขของการเรียนรู้เกิดขึ้นที่นี่ครับ”

ขอขอบคุณอาจารย์ และ ขอบคุณผู้ใหญ่ทุกคนที่มีส่วนในการสร้างการเรียนรู้ในครั้งนี้ และที่สำคัญ ขอบคุณเด็กๆ ชั้น 3 นักวิทยาศาสตร์น้อยของเราที่ได้ตั้งใจและสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้เราได้ชื่นใจ

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2566