ชื่นใจ…ได้เรียนรู้ ชั้น 1 วิริยะ : “ไส้เดือนเพื่อนรัก”

โครงงานชื่นใจ…ได้เรียนรู้ ภาคเรียนวิริยะ เป็นภาคเรียนที่ 2 ที่นักเรียนชั้น 1 ได้นำผลงานวิจัยจากการเรียนรู้และลงมือทำ ผ่านการตั้งคำถาม จากคำถามวิจัยนำมาสู่การตั้งสมมติฐาน เกิดการวางแผนร่วมกันของเพื่อน ๆ ในกลุ่มเพื่อออกแบบการทดลองจริง จัดเตรียมอุปกรณ์ ลงมือปฏิบัติ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

จากระยะเวลาประมาณ 15 -21 วัน ที่เด็กๆได้ดูแลไส้เดือนเพื่อนรักของพวกเราไปพร้อมกับการเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอาหารที่นำมาเลี้ยง กับเมล็ดต้นไม้แต่ละชนิดที่ค่อย ๆ งอกและเจริญเติบโตขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นเป็นทดลองเพื่อค้นหาคำตอบว่า

“ไส้เดือนกินอะไรได้บ้าง”

“ไส้เดือนจะย่อยอาหารชนิดไหนหมดก่อนกัน”

“มูลไส้เดือนช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีกว่าการไม่มีจริงหรือไม่”

“ถ้าไส้เดือนไม่มีอาหารที่คนให้ ไส้เดือนจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร จะเจริญเติบโตได้หรือไม่”

“ระหว่างไส้เดือนสายพันธุ์ Blue worm Tiger & AF สายพันธุ์ไหนจะย่อยเศษผักผลไม้ได้หมดก่อน”

เด็ก ๆ ได้สังเกต บันทึกผล สรุปผลงานวิจัยของตนเอง ประมวลออกมาเพื่อนำมานำเสนอข้อมูลที่ค้นพบจากการทำงานวิจัยของตนเอง ให้กับคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองทุกท่านผ่านงานชื่นใจ ในธีม “ไส้เดือน…เพื่อนรัก”

ทำไมถึงต้องเป็นไส้เดือน…เพื่อนรัก ?

เริ่มต้นกลับไปที่ภาคเรียนฉันทะ เด็ก ๆ ได้ทำความรู้จักกับโลกของสัตว์ เพื่อร่วมโลกใกล้ตัวของเด็กๆที่พบเจอได้ทั่วไป ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน สัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นเรื่องราวของสัตว์ที่เคลื่อนที่ในอากาศ ในน้ำ บนบก ในภาคเรียนวิริยะเราได้พาเด็กๆไปทำความรู้จักกับสัตว์ที่เคลื่อนที่และอาศัยอยู่ใต้ดิน นั่นคือ “โลกของไส้เดือน” ไส้เดือนเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ใต้ดิน แต่กลับมาความสัมพันธ์ไปกับทุกสรรพชีวิต

ไส้เดือน สัมพันธ์กับดิน ช่วยเพิ่มอากาศ ดินที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี ต้นไม้ที่จะเจริญเติบโตได้ดีจะนำมาซึ่งแหล่งอาหารที่ดีของสัตว์ รวมทั้งสัตว์บางกลุ่มยังได้ใช้ประโยชน์ของต้นไม้ในการเป็นที่อยู่อาศัยหรือหลบภัยด้วย ความเชื่อมโยงนี้สุดท้ายกลับส่งผลกลับมาที่มนุษย์อย่างเราได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็จะมีทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย รวมทั้งอากาศที่บริสุทธิ์ จากการทำงานอย่างหนักอยู่ใต้ดินของเจ้าไส้เดือน

ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กๆชั้น 1 ได้ทำความรู้จักกับโลกของไส้เดือน จนมาสู่การเป็นเพื่อนรักกับไส้เดือน เด็ก ๆ มองเห็นประโยชน์ที่ไส้เดือนมีให้กับสิ่งต่าง ๆ มองเห็นความเชื่อมโยงของไส้เดือนกับชีวิตอื่น ๆ และที่สำคัญมองเห็นคุณค่าของเจ้าสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่อาจจะดูน่าไม่น่ารักสำหรับการพบเจอในครั้งแรก แต่ถ้าหากได้รู้จักกับอย่างลึกซึ้ง เจ้าตัวยืดหดได้ตัวนี้อาจจะเป็นเพื่อนที่เรารักเหมือนกับเด็ก ๆ ชั้น 1 ที่มีเจ้าไส้เดือนเป็นหนึ่งในเพื่อนรัก

ขอบคุณบทความ โดย ครูแอม ครูมานุษกับโลก ชั้น 1

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2566