เปิดหมวก #1 มหกรรมดนตรีและศิลปะ2567
เปิดหมวก #1 มหกรรมดนตรีและศิลปะ2567เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานเล่น โรงเรียนเพลินพัฒนา “IN OUR DREAM” ของนักเรียนชั้น 9
ลองคิดดูสิว่า โลกใบนี้จะน่าอยู่เพียงใด หากไร้ขยะ…?
ภาคเรียนฉันทะ เด็ก ๆ ชั้น 3 ได้รับโจทย์วิจัยว่า จะทำอย่างไรให้บ้านของเราเป็น Zero Waste?
“ที่บ้านผมเลี้ยงปลา ผมจะเอาเศษอาหารไปให้ปลากินครับ”
“ส่วนผมจะเอาเศษผักผลไม้ไปเลี้ยงไส้เดือน”
“หนูจะกินข้าวให้หมดตั้งแต่แรกค่ะ”
“ผมจะคัดแยกขวดพลาสติกไปขายครับ”
“หนูจะเอาขยะรีไซเคิลไปประดิษฐ์ของใช้ค่ะ”
จากประสบการณ์และความรู้ในหน่วยวิชามานุษกับโลก นี่คือคำตอบของเด็กน้อยวัย 8-9 ปี ที่ช่วยกันระดมความคิดเพื่อหาวิธีทำให้บ้านของตนเองปลอดขยะ
เมื่อเหล่าเด็กน้อยมีความตั้งใจเต็มเปี่ยมขนาดนี้ ก็เป็นหน้าที่ของคุณครูที่จะต้องเฟ้นหาแหล่งเรียนรู้ดี ๆ มาเสริมประสบการณ์
กิจกรรมภาคสนามครั้งนี้ คุณครูจึงพาเด็ก ๆ เดินทางไปที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ชุมชนบ้านรางพลับ ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่นี่เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการขยะ จากการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งและชาวบ้านที่ให้ความร่วมมือในการจัดการขยะอย่างจริงจัง
เช้าวันภาคสนาม ทุกคนมาโรงเรียนด้วยความตื่นเต้น ก่อนออกเดินทาง คุณครูประจำชั้นไม่ลืมที่จะเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ๆ ด้วยการเล่าให้ฟังว่าเมื่อเดินทางไปถึงศูนย์การเรียนรู้ฯ จะพบเจอกับอะไรบ้าง และตกลงกติกาในการเดินทางออกภาคสนามอย่างชัดเจน เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
เมื่อเดินทางถึงศูนย์การเรียนรู้ฯ พี่วิเชียร โสภา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพาคุณลุงคุณป้าวิทยากรมาต้อนรับเด็ก ๆ อย่างอบอุ่น จากนั้นก็พาเหล่าเด็กน้อยขึ้นรถไฟฟ้าและซาเล้ง ออกเดินทางไปพบกับสาระความรู้และความสนุกสนานจากฐานการเรียนรู้ทั้ง 6 ฐาน
เด็ก ๆ ได้รู้จักนวัตกรรม “ถังหมักรักษ์โลก” ที่นำเศษอาหารเหลือทิ้งมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และ “ถังดักไขมัน” ที่เปลี่ยนน้ำเสียจากการล้างภาชนะในครัวเรือนให้เป็นน้ำสะอาด ลดปัญหาไขมันอุดตันในท่อน้ำ แถมยังได้เชื้อเพลิงคุณภาพดีมาใช้งานต่อ
ฐานนี้ป้ากลมผู้มีอาชีพขายกล้วยฉาบและกล้วยตาก รับหน้าที่ให้ความรู้กับเด็ก ๆ ในการจัดการเปลือกกล้วยเหลือทิ้ง โดยนำเปลือกกล้วยมาหมักรวมกับมูลวัว แกลบ และราดด้วยน้ำผสมกับ “สารเร่ง พด. ๑” ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเร่งการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ เด็ก ๆ ได้ลงมือช่วยป้ากลมทำปุ๋ย และเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของขยะย่อยสลายเมื่อกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ฐานนี้เด็ก ๆ เดินทางไปที่บ้านป้าสำราญ เพื่อไปดูการนำขยะที่ใคร ๆ อาจมองว่าไร้ค่า กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยประดิษฐ์เป็นกระถางต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น กล่องนม หมวกกันน็อคชำรุด ลูกฟุตบอลเก่า ครกแตก โถเครื่องปั่นที่เสียแล้ว ขวดน้ำนานาชนิด สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เด็ก ๆ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังได้ลงมือปลูกต้นไม้ในกระถางที่ทำมาจากขวดพลาสติกและนำกลับไปดูแลต่อที่บ้านอีกด้วย
เด็ก ๆ หลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่าเราสามารถเปลี่ยนขยะ ให้เป็นเงินได้ ในฐานนี้ป้าฟองสอนเด็ก ๆ สร้างรายได้จากขยะ โดยคัดแยกขยะรีไซเคิลตามชนิดอย่างละเอียด เพื่อให้ขายได้ราคาสูงขึ้น เด็ก ๆ รู้สึก “ว้าว” กับราคาของขยะแต่ละชนิด โดยเฉพาะฝาขวดอะลูมิเนียมและกระป๋องอะลูมิเนียมที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 45 บาท
ในฐานนี้ เด็ก ๆ เดินทางไปยังจุดทิ้งขยะอันตรายของชุมชน และทำความรู้จักขยะอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ ขยะปนเปื้อนสารเคมี ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะติดเชื้อ ซึ่งขยะเหล่านี้มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน หากนำมาทิ้งรวมกันโดยไม่ตระหนักถึงการจัดการที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
ฐานนี้ป้าสุนันนำทีมเด็ก ๆ เพิ่มมูลค่าให้กับขยะทั่วไป ที่ปกติแล้วต้องจัดการด้วยการฝังกลบ จนทำให้เกิดปัญหาภูเขาขยะและปัญหาอื่น ๆ ตามมา โดยการนำเหล่านี้มาเย็บเป็นหมวก ฐานนี้เป็นฐานที่เด็ก ๆ ชื่นชอบมากที่สุด เพราะได้ลงมือทำ “หมวก” จากกล่องนมที่เด็กเองช่วยกันล้าง ตัด และทำความสะอาด สะสมมาตลอดภาคเรียน
สิ้นสุดการเดินทาง เสริมสร้างคุณค่าตลอดไป….
สิ้นสุดการเรียนรู้ในแต่ละฐาน เด็ก ๆ ได้สะท้อนการเรียนรู้ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ ความรู้สึก สิ่งที่ได้เรียนรู้ และการนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
“หนูชอบปลูกต้นไม้ ต่อไปนี้หนูจะนำขยะรีไซเคิลมาทำกระถางต้นไม้ค่ะ”
“ผมจะเอาความรู้เรื่องการทำปุ๋ยไปบอกปะป๊าครับ”
“หนูจะแยกขยะที่บ้านอย่างละเอียดจะได้ขายได้ราคามากขึ้นค่ะ”
“ผมจะนำความรู้เรื่องการจัดการขยะเศษอาหารด้วยถังหมักรักษ์โลกและถังดักไขมันไปปรับใช้ที่บ้าน ไม่ปล่อยน้ำเสียทิ้งลงในแม่น้ำ เพราะบ้านของผมอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำที่ทุกคนต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันครับ”
จากเสียงสะท้อนของเด็ก ๆ ทำให้คุณครูมั่นใจแล้วว่า การเดินทางครั้งนี้ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของ “การจัดการขยะ…เพื่อโลกที่ยั่งยืน” อย่างแท้จริง พวกเขาจะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสร้างชุมชนปลอดขยะ และสร้างโลกที่น่าอยู่ต่อไป
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2566