เพลินพัฒนา : เรียนอย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จ

โรงเรียนเพลินพัฒนามีสัดส่วนครูต่อนักเรียน อยู่ที่ 1 : 7 ถือเป็นสิ่งที่พบเจอได้ยากในระบบการศึกษาไทย ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวนี้ทำให้ครูของที่นี่สามารถดูแลเอาใจใส่เด็กทุกคนได้อย่างทั่วถึง เพลินพัฒนาเป็นโรงเรียนทางเลือกที่มีกระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น และปรับไปตามคุณลักษณะเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน โดยมุ่งหวังให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ ได้เป็นตัวของตัวเอง และสามารถไปสู่คณะในฝันตามเส้นทางที่ตัวเองต้องการ  

ในบทความนี้ ทีมคุณครูช่วงชั้นมัธยมของโรงเรียนเพลินพัฒนา ได้ให้เกียรติมาเล่าถึง กระบวนการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความสุข และประสบความสำเร็จตามเส้นทางที่ต้องการ ให้แก่คอลัมน์ Next Ed: การศึกษาเพื่อโลกยุคหน้า ของ Dek-D ฟังดังนี้

ที่มาและเป้าหมายในการก่อตั้งโรงเรียน

โรงเรียนเพลินพัฒนา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2545 เกิดจากความร่วมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้ปกครอง คุณครู นักวิชาการ นักธุรกิจ  นักการศึกษา โดยมีแนวคิดร่วมกันว่า “ต้องการสร้างโรงเรียนเพื่อหาแนวทางการจัดการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับระบบการศึกษาไทย” จึงตัดสินใจเปิดเป็น ‘โรงเรียนทางเลือก’ เนื่องจากในยุคสมัยนั้นโรงเรียนทางเลือกยังมีค่อนข้างน้อย โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ข้อ ในการก่อตั้งโรงเรียน คือ

ข้อหนึ่ง “มีอิสระบนแกนเดียวกัน” นั่นคือ การเป็นโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ ซึ่งพื้นที่ในโรงเรียน ประกอบไปด้วย ช่วงชั้นอนุบาล ช่วงชั้นประถม และช่วงชั้นมัธยม ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังเล็ก 3 หลัง โดยมีหัวหน้าแต่ละช่วงชั้นคอยดูแล แต่บริหารจัดการภายใต้จุดร่วมเดียวกัน  

ข้อสอง “มีเครือข่ายเปิดกว้างให้เรียนรู้” ความรู้และทักษะในโรงเรียนอาจไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ ดังนั้น โรงเรียนจึงเปิดโอกาสและสร้างเครือข่ายกับโลกภายนอก โดยการนำความรู้ ทักษะใหม่ๆ ตลอดจนเชิญผู้รู้ในแต่ละด้านเข้ามาสร้างการเรียนรู้ด้วยกัน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ มากขึ้น

ข้อสาม “ดูแลคุณภาพชีวิตและหัวใจของเด็ก” ครูทุกคนที่เพลินพัฒนาดูแลเอาใจใส่เด็กทุกคนอย่างใกล้ชิด โดยที่ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต คอยรับฟังทุกเรื่องราวปัญหา และพาเขาก้าวข้ามปัญหาที่เจอไปให้ได้ เพื่อให้เด็กมีชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสุขกับการมาโรงเรียน

โดยโรงเรียนมีแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนเรียนแต่ละช่วงชั้น คือ “สนุกในวัยอนุบาล ชวนสืบค้นในวัยประถม ท้าทายศักยภาพในวัยมัธยม” โดยที่เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้และพัฒนาไปตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับช่วงวัย  

สอน ‘วิชาการ’ ควบคู่ไปกับ ‘วิชาชีวิต’

หลักสูตรการเรียนการสอนช่วงชั้นมัธยมของเพลินพัฒนา ไม่มีการแบ่งแผนการเรียนเหมือนกับโรงเรียนทั่วไป แต่เป้าหมายหลักในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนชั้นมัธยม คือ โรงเรียนต้องการให้นักเรียนมีความรู้และทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริม สนับสนุน นักเรียนเป็นรายบุคคลประกอบไปด้วยวิชาเลือก 2 กลุ่ม

– กลุ่มแรก คือ รายวิชาที่เปิดขึ้นมาเพื่อเป็นวิชาต่อยอดในระดับอุดมศึกษา เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์เพิ่มเติม หรือเป็นวิชาที่เสริมทักษะเฉพาะ เช่น การวาดเส้นมัณฑณศิลป์ ศิลปะไทย ดนตรีปฏิบัติ จิตวิทยา character design การเรียนรู้เพื่อเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น  

– กลุ่มที่ 2 คือ รายวิชาที่นักเรียนขอเปิดเพิ่มเติมโดยอยู่ในเงื่อนไขที่โรงเรียนกำหนด เช่น วิชาที่เปิดส่งเสริมทักษะด้านใด ใช้ต่อยอดในระดับอุดมศึกษาอย่างไร เป็นต้น  

โดยวิชาเลือกเพิ่มเติมดังกล่าวนี้ค่อนข้างมีความหลากหลาย แต่ละปีจะปรับเปลี่ยนไปตามทักษะที่จำเป็นในอนาคต ดังนั้น รายวิชาเพิ่มเติมจะมีความยืดหยุ่นไปตามความสนใจของนักเรียน

การเปิดสอนหลากหลายวิชานี้ เพื่อเป็นการตอบโจทย์ปลายทางของนักเรียนในการเข้ามหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นนักเรียนจะสามารถออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเองได้ว่า สุดปลายทางที่ตัวเองอยากจะไปต้องใช้วิชา ทักษะ หรือองค์ความรู้อะไรบ้างที่จำเป็นต้องมี สำหรับวิชาเลือกไม่ได้เปิดสอนแค่ ม.ปลาย เท่านั้น แต่ยังมีในช่วงชั้น ม.ต้น เช่นกัน เพื่อที่เป็นการปูเส้นทางให้เด็กเห็นความสนใจหรือความถนัดของตัวเองว่า สุดท้ายแล้วจะไปสายไหน อยากเป็นอะไร แล้วในช่วง ม.ปลาย เขาจะได้มีความมั่นใจ และตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเองได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

นอกจากวิชาการแล้ว  ยังมีวิชาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเข้ามหาวิทยาลัยโดยตรง แต่เป็นวิชาชีวิตหรือทักษะของโลกนี้ที่จำเป็นต้องใช้ เช่น การอ่านฉลากผลิตภัณฑ์, การรับรู้เข้าใจอารมณ์ของตัวเอง ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำทักษะชีวิตเหล่านี้นำไปปรับใช้กับชีวิตจริง  

กระบวนการจัดการเรียนรู้ของช่วงชั้นมัธยม

สำหรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ของช่วงชั้นมัธยม จะมีการเรียนการสอนผ่านการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยลักษณะของการจัดการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน : จัดการเรียนรู้ในพื้นที่ของโรงเรียน ทั้งในรายวิชา รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ นอกเวลาเรียน
  • การจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน : จัดการเรียนรู้แบบภาคสนาม หรือ Day Trip เพื่อให้นักเรียนได้ไปเรียนรู้ และสัมผัสจากประสบการณ์จริง

นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้แบบ PBL (Problem-based Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อฝึกให้นักเรียนมองเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง และจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ผ่านกระบวนการ Design Thinking  หรือการคิดเชิงออกแบบ โดยที่นักเรียนจะได้ทำความเข้าใจปัญหา และคิดวิธีแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ผ่าน 5 ขั้นตอน ได้แก่ การเข้าใจปัญหา กำหนดปัญหา ระดมความคิด สร้างต้นแบบ และทดสอบการแก้ปัญหา ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นทักษะที่โรงเรียนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่ในอนาคตเด็กๆ จะได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และมีความสุข  

การดูแลและพัฒนาเด็ก ทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่อง Well-being หรือการมีสุขภาวะที่ดี โดยตั้งใจที่จะพัฒนาให้ครบถ้วนทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

  1. ทางกาย (Physical) ดูแลสุขภาพกายโดยรวมของ เช่น มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง คล่องแคล่ว ไม่มีโรค
  2. ทางจิต (Psychological) เด็กมีความเครียด หรือวิตกกังวลไหม ความพึงพอใจในชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไร
  3. ทางปัญญา (Cognitive) ฝึกให้มีทักษะคิดแก้ไขปัญหาให้เป็น รู้จักคิดไตร่ตรอง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต
  4. ทางสังคม (Social) เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง และปลูกฝังไม่ให้เด็กมีการกลั่นแกล้งกัน

อีกทั้งมีการฝึกเด็กทุกคนให้มีทักษะการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (Social Emotional Learning : SEL) คือ เปิดใจกว้างพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ บริหารจัดการตัวเองอย่างมีสติ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็น และสามารถจัดการกับอารมณ์เชิงลบของตัวเองไม่ให้ไปทำร้ายผู้อื่น โดยเด็กทุกคนจะได้รับการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด  และมีการติดตามพัฒนาการของเด็กแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุนในสิ่งที่นักเรียนต้องการ ตลอดจนมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนที่คอยดูแลและให้คำปรึกษารายบุคคล เพื่อให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขกับการเรียนรู้ และสามารถก้าวไปสู่ไปเป้าหมายที่ตัวเองต้องการได้  

นอกจากนี้ เพลินพัฒนาให้ความสำคัญกับ ‘การเคารพความแตกต่าง’ ทางโรงเรียนไม่ถือว่าสิ่งที่เด็กแสดงออกอย่างแตกต่างนั้นเป็นสิ่งที่ผิด แต่จะให้เกียรติคุณค่าความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดโยงอยู่ในใจของครูทุกคน และพยายามปลูกฝังให้เด็กเคารพความแตกต่างบนความเป็นมนุษย์ของทุกคนเช่นกัน  

การสนับสนุนทางเลือกในการศึกษาต่อ

การเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนโรงเรียนเพลินพัฒนา นักเรียนทุกคนจะได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนจากครูแนะแนว ตั้งแต่ ม.ต้น มีการทำแบบทดสอบต่างๆ ให้เด็กได้ค้นหาตัวตนตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งทำทุกปี เพื่อให้นักเรียนเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ความชอบ ความสนใจ หรือบุคลิกภาพ หลังจากนั้นจะมีการพูดคุยเป็นรายบุคคลว่า หลังจากที่ได้ค้นหาและรู้จักตัวเองมา สุดท้ายแล้วความชอบ ความสนใจของตัวเองน่าจะเหมาะกับไปทางไหนพอขึ้น ม.ปลาย จะทำให้เขาเริ่มรู้ตัวแล้วว่า จะเลือกเรียนอะไร เพื่อให้สอดคล้องกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ทีมครูแนะแนวจะช่วยให้คำแนะนำว่า เมื่อปลายทางเป็นแบบนี้ระหว่างทางจำเป็นต้องเก็บวิชาอะไร มีองค์ความรู้ด้านใด เพื่อให้สุดท้ายได้บรรลุในปลายทางที่ตัวเองต้องการ  

ทั้งนี้ เพลินพัฒนาไม่ได้คาดหวังว่า นักเรียนต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกคน เพราะว่าโรงเรียนให้สิทธิ์เด็กได้เลือกเส้นทางด้วยตัวเอง เช่น บางคนต้องการสอบเทียบตั้งแต่ ม.5 เพื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือต่างประเทศ หรือบางคนต้องการ Gap Year เพื่อใช้เวลาค้นหาตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่อยากลองทำ นอกเหนือจากระบบการศึกษาแนวปกติที่อาจไม่มีโอกาสได้ทำ โดยเป็นการลองหาประสบการณ์ด้วยการฝึกงาน หรือลงคอร์สเรียนรู้สั้นๆ เพื่อให้เห็นภาพเป้าหมายตัวเองชัดขึ้น ซึ่งทางโรงเรียนเคารพการตัดสินใจและสนับสนุนทางเลือกของนักเรียนทุกคน สำหรับคนที่อยากเรียนต่อ ทางโรงเรียนก็มีการสนับสนุนให้นักเรียนทำ Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) ในด้านที่ตัวเองสนใจเอาไว้  เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสสอบติดตั้งแต่รอบ Portfolio ซึ่งผลงานบางส่วนจะได้มาจากกระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนเคยเรียนมา เช่น โครงงาน นวัตกรรม ฯลฯ รวมถึงผลงานอื่นๆ ที่นักเรียนออกไปขวนขวายด้วยตัวเอง

ในระหว่างที่เด็กๆ กำลังเลือกเส้นทางของตัวเอง ผู้ปกครองก็เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้เช่นกัน โดยครูจะมีการพูดคุยกับผู้ปกครอง ตั้งแต่ ม.1 เพื่อสำรวจว่า เป้าหมายในอนาคตที่พ่อแม่คาดหวังกับลูกคืออะไร ซึ่งทางโรงเรียนจะเก็บข้อมูลที่ได้ไปทำงานกับนักเรียนต่อไป การทำงานหลักของกระบวนการนี้จะเน้นการแลกเปลี่ยน และอัปเดตข้อมูลกับผู้ปกครองสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ที่ทางโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองมารายบุคคล และพูดคุยอัปเดตข้อมูลเรื่องเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน

อัตราการสอบติดมหาวิทยาลัย  

สำหรับอัตราการสอบติดมหาวิทยาลัยนักเรียนส่วนใหญ่ของเพลินพัฒนา สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่ รอบ Portfolio และสามารถเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, Oregon State University (OSU) – United States, Simon Fraser University (SFU) – Canada และอื่นๆอีกมากมาย นั่นจึงเป็นการพิสูจน์ได้ว่า การจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนาซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกก็สามารถพานักเรียนทุกคน ไปสู่เป้าหมายตามเส้นทางที่นักเรียนต้องการได้  

หลักการคัดเลือกเด็กและผู้ปกครอง  

สำหรับผู้ปกครองที่สนใจอยากให้ลูกมาเรียนที่เพลินพัฒนา ทางโรงเรียนมีเกณฑ์การพิจารณาเด็กและผู้ปกครอง ดังนี้

ช่วงชั้นอนุบาลและประถม โรงเรียนจะทำการสำรวจพัฒนาการตามวัยของเด็กรายบุคคล ควบคู่กับการสัมภาษณ์ผู้ปกครองในเรื่องของ Positive Parenting ว่าเข้าใจพัฒนาการตามวัยและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลูกมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ หากผู้ปกครองที่นำลูกมาเข้าเรียนตอน ป.2-6 จะมีการทดสอบความรู้พื้นฐาน 3 วิชา (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์) และประเมินศักยภาพในการเรียนรู้และการปรับตัวของนักเรียนเพิ่มเติม

ช่วงชั้นมัธยม มีการทดสอบความรู้เชิงวิชาการ 4 วิชา (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์) พร้อมทั้งทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา สังเกตพฤติกรรมระหว่างทำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ และสัมภาษณ์นักเรียนเกี่ยวกับมุมมองด้านการเรียนและการพัฒนาตัวเอง รวมถึงสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพื่อดูทัศนคติและความต้องการของผู้ปกครองให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับโรงเรียน

จากกระบวนการเรียนรู้  เทคนิค และทักษะการพัฒนานักเรียน ที่ถูกออกแบบมาให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ตลอดจนมีรายวิชาที่หลากหลาย ทั้งวิชาการและวิชาชีวิตที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเองได้ ทำให้นักเรียนของเพลินพัฒนามีความสุขกับการเรียนรู้ ได้เป็นตัวของตัวเอง และค้นพบอนาคตที่ตัวเองต้องการ ตลอดจนเป็นบุคคลที่สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพสืบต่อไป

ทีมงานคอลัมน์ Next Ed : การศึกษาเพื่อโลกยุคหน้า ต้องขอขอบคุณ…

ครูวีณา ว่องไววิทย์ – รองผู้อำนวยการ ฝ่ายสนับสนุนการบริหารจัดการและที่ปรึกษาช่วงชั้นมัธยม

ครูภูริทัต ชัยวัฒนกุล – หัวหน้าโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้และวัดประเมิน

ครูวัฒนา พุ่มมะลิ – หัวหน้าช่วงชั้นมัธยม

ครูธฤตมน มานะ – ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้นมัธยมฝ่ายวิถีชีวิต

ครูวิสนี ทินโนรส – ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้นมัธยมฝ่ายจัดการเรียนรู้

ครูพิพัฒน์ น้อยพิทักษ์ – รักษาการแทนผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้นฝ่ายวิชาการ

 ครูธนาภรณ์ ศรีศิริพันธุ์ – ครูด้านวิชาการ/หัวหน้าโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน

รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ

ขอบคุณเนื้อหาจาก Dek-D.com

https://www.dek-d.com/education/62558/?fbclid=IwAR2v_Dju0fuzTFfy-eUx-nUiOEKh5-uOwmEmxUDQOQh72JUF7Y6syi5N2tc

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2566