การออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตผ่านงานภาคสนาม และ Day Trip
อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของคุณครูเพลินพัฒนา คือการจัดกิจกรรมภาคสนามให้กับนักเรียนที่มีเป้าหมายเชื่อมการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่โลกจริง
เมื่อวันที่ 2 – 4 กันยายน 2567 เด็กๆ ชั้น 4 ได้เดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้เกียวกับระบบนิเวศของป่าชายเลนในจังหวัดเพชรบุรี เริ่มต้นจากการเรียนรู้ร่องรอยจากแผนที่ผ่านภาพดาวเทียมได้ศึกษาพื้นที่และร่วมกันเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเเตกต่างของพื้นที่ในอดีต และปัจจุบัน รวมทั้งค้นหาสาเหตุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนออกเดินทาง
เด็กๆ ได้ลงพื้นที่ป่าชายเลนบ้านเขายี่สาร โรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลนบางแก้ว เเละฟาร์มหอยแครงเเบบกึ่งพัฒนาธรรมชาติ ได้สำรวจ บันทึกความรู้ระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตที่สังเกตเห็นในระหว่างการทำกิจกรรม รวมทั้งสัมภาษณ์วิทยากรในประเด็นต่างๆ ที่สอดคล้องกับงานวิจัยของตนเอง
การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนชอบสังเกตสิ่งรอบตัว บางคนก็ชอบซักถามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ บางคนชอบทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ หากเด็กๆ อยู่ในบรรยากาศของความเพลิดเพลินในการเรียนรู้ก็จะซึมซับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาได้โดยง่าย
“ความประทับใจคือผมได้พบกับสัตว์ที่หายาก 2 ตัวที่โรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลน นั่นคือปลาเขือ และเหยี่ยวแดง ปลาเขือ คล้ายปลาตีน แต่ตัวยาวๆและเคลื่อนไหวเร็วกว่า สำหรับเหยี่ยวแดงจัดเป็นผู้ล่า เป็นตัวที่กินปลา ทำให้ปลาไม่มากเกินไป และยังทำให้ระบบนิเวศดำเนินต่อไปได้ ” น้องโบอิ้งชั้น 4
น้องเกศชั้น 4 ” หนูชอบการไปภาคสนามมากเลยค่ะ หนูได้เรียนหลายอย่าง หนูได้ไปลองใช้ชีวิตลำบากดูบ้าง ปรับมุมมองความคิด เพราะตอนหนูไปภาคสนานเป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่ม แต่หนูรู้สึกว่ามันสนุกสนาน เฮฮา มากเลยค่ะ ดีกว่าที่คิดไว้เยอะเลยค่ะ หนูได้ศึกษาเกี่ยวกับป่าชายเลน และสัมผัสกลิ่นอายความเป็นธรรมชาติ ได้สัมภาษณ์คุณลงแดง คุณลุงวิน ลองชิมของที่ไม่เคยกิน ได้ใช้ความสามัคคีในการแก้ปัญหาและฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”
สิ่งที่เด็กๆได้รับจากการออกภาคสนามในแต่ละครั้ง นอกจากความรู้ที่คุณครูได้ร่วมกันออกแบบแล้ว สิ่งที่มีคุณค่าไม่แพ้กันคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทาง การดื่มด่ำกับวิถีชีวิตที่แตกต่างและธรรมชาติรอบตัว การเรียนรู้ความสุขง่ายๆ การปรับตัวยืดหยุ่น เมื่อต้องใช้ชีวิตกับเพื่อนนอกห้องเรียน … พวกเขากำลังได้เรียนรู้สู้สิ่งยาก บางครั้งต้องทนร้อน ทนเหนื่อย ไม่ได้รับความสะดวกสบายบ้าง นี่แหละที่เรียกว่าการเรียนรู้ชีวิต