เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
ประสบการณ์นอกห้องเรียนที่นักเรียนได้ออกไปเรียนรู้ ได้ทดลองทำสิ่งใหม่นอกตำราเป็นสิ่งที่เด็กๆต่างเฝ้ารอ เช่นเดียวกับค่าย “คลื่นลมกับเรือใบ สู่สมดุลแห่งกายใจและความคิด” ณ สโมสรเรือใบ กองเรือยุทธการ ณ อ่าวดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี วันที่ 19 – 23 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาของนักเรียนชั้น 11 ยังคงสร้างความประทับใจให้กับนักเรียน
ไปแล้วก็ยังอยากจะไปอีกครั้ง เพราะสิ่งที่ได้รับมากกว่าทักษะความรู้เรื่องการแล่นเรือใบ ยังได้ทักษะชีวิต การก้าวข้ามข้อจำกัดภายในตนเอง การเข้าใจความหมายของคำว่า “เพื่อน” รู้จักแสวงหาความสุขง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว
เราได้ร่วมพูดคุยอย่างสนุกสนานกับ “โอชิ เอลิซ ซินซิน โอวนิ ฟิล และ พิน” นักเรียนบางส่วนในชั้น 11 ที่ได้ร่วมออกค่ายแล่นเรือใบในครั้งนี้ เห็นได้ชัดในแววตาแห่งความสุข
กระบวนการเรียนรู้การแล่นเรือใบมีเป้าหมายเพื่อฝึกความเข้มแข็ง อดทน เด็ดเดี่ยว กล้าเผชิญสถานการณ์ที่กดดัน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พัฒนาความคิดวางแผน ปรับเรือใบตามสถานการณ์และธรรมชาติตลอดเวลา โดยมีรูปแบบกิจกรรม ตั้งแต่การฝึกประกอบเรือ ฝึกตั้งใบ ควบคุมการทรงตัว ควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของเรือก่อนลงทะเลจริง ได้เรียนรู้การอ่านทิศทางลม การทรงตัวบนเรือที่แล่นอยู่ในทะเล การควบคุมเรือให้แล่นไปในทิศทางที่กำหนด และสิ่งสำคัญได้เรียนรู้การกู้เรือ เมื่อเรือล่ม รวมไปถึงผ่านบททดสอบต่างๆที่ครูฝึกกำหนด การแล่นเรืออ้อมทุ่น การจับคู่แล่นเรือไป-กลับเกาะหมูที่มีระยะทางประมาณ 5 กม. ระหว่างที่อยู่เกาะทั้งวันได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ทำอาหารทานเองที่ให้ทั้งความท้าทาย ความสนุกสนาน
ชวนติดตามการพูดคุย การสะท้อนจากผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ค่ะ
>> ความรู้สึกก่อนไปค่ายเรือใบ
ก่อนไปกังวลมาก เพราะว่ากลัวจะเล่นไม่ได้ ถ้าไม่มีโทรศัพท์คงแย่มาก ค่อนข้างกังวลว่าตัวเองจะเล่นได้มั้ย ไม่กล้าเล่นเท่าไหร่
ตอนแรกก็ไม่ได้กลัวอะไร เพียงแต่ไม่ได้ชอบทะเลและก็เป็นคนว่ายน้ำไม่เก่งด้วย จึงมีความกังวลอยู่บ้าง
ก่อนไปก็รู้สึกค่อนข้างกังวลว่าจะเป็นยังไง เพราะว่าในสายตาผมคิดว่าเรือใบเป็นอะไรที่เล่นยากมากๆ และต้องใช้เวลาฝึก ก็งงว่า ไป 5 วัน จะเล่นเป็นรึเปล่า จะเล่นได้ยังไง ก่อนไปก็ลังเลว่าจะไปดีไหมหรือว่าไม่ไปดี เพราะเอาโทรศัพท์ไปไม่ได้
ก่อนไปรู้สึกตื่นเต้น เพราะว่าไม่ได้ไปภาคสนามมานานแล้ว แต่ว่ามันก็ยังมีความกังวล แล้วก็ขี้เกียจตื่นเช้า เป็นเพราะว่าเราต้องรีบมารวมตัว แล้วก็กังวลว่า 5 วันจะอยู่ได้รึเปล่า แบบจะเบื่อมั้ย จะสนุกมั้ย
>> การไม่มีโทรศัพท์ติดตัวไปด้วยรู้สึกอย่างไร
ตอนแรกคิดว่าจะเบื่อมาก อยู่แบบลำบาก แต่ว่าจริงๆ พอเรามีเพื่อนเราได้ใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้นทำให้เหมือนเราได้รักษาสุขภาพจิตไปด้วย ได้อยู่กับตัวเอง มีสติ รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรมากขึ้น แล้วก็ได้สนิทกับเพื่อนมากขึ้นจากค่ายนี้ด้วย ปกติเรามีมือถือ เราก็จะลืมโน่นลืมนี่เราจะไม่ได้โฟกัสว่าเราทำอะไรอยู่แบบจริงจัง แต่พอเราไปค่ายเรารู้หมดเลยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรเราก็ต้องโฟกัสอะไร เหมือนเป็นการพักจากงานที่เคยทำที่ โรงเรียนหนักๆ เหมือนกับได้ปล่อยใจ
หลังจากโควิดเราก็เรียนออนไลน์ทำอะไรทุกอย่างผ่านโทรศัพท์มือถืออยู่กับโลกออนไลน์ตลอดเวลาจนบางครั้งเราลืมโลกความเป็นจริงไป พอเรานั่งพักเที่ยงอยู่ในห้อง ส่วนมากจะต่างคนต่างกินแล้วก็ดูจอไปด้วย ฟังเพลงไปด้วย แต่พอเราไปค่ายมันเป็นโมเมนท์ที่แบบทุกคนกินข้าวด้วยกัน แชร์เรื่องของตัวเอง อย่างเวลาว่างพวกหนูไปเด็ดใบไม้มาเล่นหมากฮอสกัน มันเลยเป็นโมเมนท์ที่แบบน่ารักดีเหมือนได้กลับไปใช้ชีวิตเด็กอีกครั้งที่มีความสุขกับเรื่องง่ายๆ รอบตัว เวลาว่างก็เล่นตบแปะกับเพื่อนมันก็สนุกแล้ว
หนูเป็นเด็กใหม่ปีที่แล้ว ยังไม่เคยไปภาคสนามค้างคืนกับเพื่อน ก่อนไปรู้สึกตื่นเต้นมากๆ กังวลนิดหน่อย เพราะหนูไม่มีพื้นฐานแบบนี้ กลัวว่าจะเล่นได้มั้ย มันจะเจ็บแขนอะไรมั้ย แต่พอไปจริงๆ ก็สนุกมากๆ ชอบมากๆ หนูรู้สึกว่าการไม่มีโทรศัพท์เราได้ใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ ทุกวินาที ก่อนนอน ตื่นเช้า แล้วก็เหมือนเราโฟกัสกับสิ่งที่เราทำอยู่จริงๆ
>> ปรับตัวกับการทำสิ่งใหม่ จากที่ไม่เคยแล่นเรือใบ
ตอนแรกที่ไปคิดว่าน่าจะใช้เวลา 5 วัน พอไปถึงวันแรกเป็นการสอนทฤษฎีก่อนแล้วก็มีให้ลองปฏิบัติแต่ว่ายังไม่ได้ลงน้ำ ตอนนั้นก็คือเริ่มเครียดแล้ว ดูยาก แต่ว่าพอวันที่ 2 ที่ได้ลงน้ำทะเลจริงๆ มีครูไปด้วย ตรงนั้นก็คืออุ่นใจแล้ว เริ่มเล่นได้เลยก็คือวันที่ 2 ใช้เวลาแค่วัน สองวัน ในการสนุกกับมัน พอวันที่ 2 ตอนเย็น ครูก็ไม่ได้ไปด้วยแล้วให้เราไปเอง ตอนที่ไปเองก็คือสนุกมาก เหมือนได้ปลดปล่อย เหมือนมีอิสระจริงๆ ได้เล่น ได้อยู่กับตัวเอง ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองจะกล้าทำ
วันแรกไปอย่างที่เพื่อนบอกว่าไปฝึกทฤษฎี ทฤษฎีก็ทำได้แต่ว่ายังไม่คล่องแคล่วมากพอ ยังลังเลอยู่ว่าวันที่ลงจริงจะทำได้มั้ย พอไปถึงวันที่ลงจริงก็ยังเล่นได้ไม่ดีขนาดนั้น ฝึกไปเรื่อยๆ ก็ทำได้โอเคไม่มีปัญหาอะไร คิดว่าวันที่ 3 เริ่มมั่นใจแล้วว่าเล่นเก่งแล้ว พอวันที่ 4 ก็คือสนุกขึ้น
ตอนแรกกังวลเพราะว่าฟังจากพี่เค้าบอกว่าล่มเยอะ แล้ววันแรกหนูจะล่มมั้ย สุดท้ายก็รู้สึกว่าชอบ เราก็เล่นได้ รู้สึกว่าเริ่มมีกำลังใจมากขึ้นในการเล่นต่อ หนูไม่ได้โฟกัสที่อยากจะได้อะไรมากๆ ขนาดนี้มานานแล้ว แต่พอไปค่ายเรือใบก็รู้สึกต้องทำให้ได้ พอทำได้ก็เริ่มรู้สึกว่ามั่นใจในการเล่นครั้งต่อไปมากขึ้น
ตอนแรกคาดหวังว่าหนูจะไม่โดนไม้บูม (สำหรับบังคับลม) เวลาลมมาทางนี้ก็ต้องหลบบูมหมุนไปหมุนมา แล้วถ้าโดนไม้บูมมันก็เจ็บ ก็เลยกลัวมากว่าจะโดนมั้ย หนูเป็นชุดแรกที่ลงเล่นเรือใบ แล้วพอลงไปรอบแรกก็โดนอัดทั้ง 2 ข้าง ตรงหัว เจ็บมาก ช่วงบ่ายพี่เค้าช่วยสอนก็เลยไม่โดนแล้ว หลังจากนั้นก็แล่นเป็นในวันที่ 3 รู้สึกชำนาญกับเรือมากขึ้น พอเล่นเป็นก็รู้สึกสนุกมาก
>> กู้เรือไม่ใช่เรื่องยาก
เรื่องการกู้เรือ ตอนแรกหนูก็กังวลว่าถ้าเรือล่มจะทำยังไง จะจมน้ำมั้ย แต่ว่าพอเอาเข้าจริงๆ การที่เรือล่มแล้วต้องกู้เรือมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไร ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เรือล่มก็แค่กู้ กู้กลับมาแล้วก็เล่นต่อ มันก็เลยเป็นอะไรที่ทำให้สนุกกับมันได้จริงๆ แล้วยิ่งอยู่กับเพื่อนได้เห็นพัฒนาการของเพื่อนแต่ละคนก็เลยสนุกไปกับเพื่อนด้วย
สิ่งที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้เลยคือไม่ตกเรือ เพราะว่าว่ายน้ำไม่เก่ง แต่พี่ๆครูฝึกก็บอกว่า มันอยู่ในหลักสูตรที่ต้องสอนให้เรากู้เรือตัวเองเผื่อไปล่มกลางทะเล จะได้รู้วิธีว่าต้องทำยังไงให้เรือดันขึ้นมา แล้วทีนี้พอเราตก เราก็สติแตก เพราะว่าเราว่ายน้ำไม่เก่ง เรือก็อยู่กลางทะเล พี่ๆก็ค่อยๆ บอกว่าว่ายไปทางโน้น แบบนั้นแบบนี้ เสร็จแล้วทำแบบนี้ มีเสื้อชูชีพจึงไม่กลัวมาก หลังจากนั้นพอเราพอรู้วิธีกู้เรือ พอเรือล่มก็ขึ้นสบายเลย
>> แล่นเรือใบไปเกาะหมูความสุขท่ามกลาง คลื่น ลม
ซินซิน กล่าวว่าวันที่ 4 ที่แล่นไปเกาะรู้สึกสนุกมาก ระยะทางไปเกาะหมูประมาณ 5 กม. พวกเราแล่นเรือใบไปเป็นคู่ ๆ ถ้าหากเรือล่ม คู่ใครก็ช่วยกันกู้เรือกันเอง อย่างหนูกับพินคู่กัน ก็จะสลับกันแล่นขาไปชั่วโมงครึ่ง ขากลับอีกชั่วโมงครึ่ง สนุกมากค่ะ มีร้องเพลงกัน พอไปถึงเกาะก็มีกิจกรรมปิ้งย่างกัน กินกันอิ่มมากค่ะ ขากลับจะเหนื่อยหน่อยค่ะ แดดแรงแต่ดีที่ทานกันมาเต็มที่ มีเรือใบทั้งหมด 7 ลำ นักเรียนอยู่กันเป็นคู่ ส่วนครูกับครูฝึกนั่งเรือยางตามไปด้วยคอยช่วยระวังความปลอดภัย คนที่แล่นเร็วๆ ก็จะไปก่อน คนตรงกลางก็ค่อยๆ ตามไป แต่ว่ามันจะไม่ได้ห่างกันมาก ห่างกันเป็นกลุ่มๆ มากกว่า ก็เลยไม่อันตราย แล้วก็สนุกมาก
>> ค่ายเรือใบช่วยพัฒนาตัวตนของเราได้อย่างไร
สิ่งที่ได้มากครั้งนี้คือเรื่องของความกล้า การที่จะก้าวผ่านขีดจำกัดตัวเอง ความกลัวของตัวเอง มันเป็นอะไรที่ถ้าสมมติว่าไม่ได้มีโอกาสไปก็ไม่รู้ว่าเรือใบต้องยากแน่เลย แต่พอไปจริงๆ มันก็ไม่ได้ยาก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แล้วยิ่งพอเรามีเพื่อนเราก็ยิ่งรู้ว่าวินาทีนั้น โมเมนท์ตรงนั้น มันเป็นอะไรที่มีค่ามากๆ แล้วก็ได้ใช้เวลาปัจจุบันให้มันคุ้มค่าที่สุดแล้วก็มีความสุขกับมันให้เต็มที่ หนูรู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นมันดีอย่างนี้นี่เอง
หนูรู้สึกว่าได้ความกล้าและความอดทน แบบเรือใบมันมีการ Tacking กับการที่เราเปลี่ยนสลับฝั่งใบ ซึ่งอันนั้นเราใช้ความกล้ามากเพราะว่าถ้าเราหยุดชะงักคือไม้มันก็จะฟาดหัวเราได้ ซึ่งหนูรู้สึกว่ามันต้องใช้ความกล้าและการตัดสินใจที่แน่นอน เราต้องไปทางนี้นะหรือว่าถ้าเราใกล้จะชนเพื่อนเราต้องมีความว่องไว ให้หันกลับ ถ้าชนก็คือเรื่องใหญ่ การกู้เรือต้องอดทนมากๆ เพราะว่ามันเหนื่อยมากเลย เราต้องต่อสู้กับน้ำด้วยแล้วก็เรือที่เราต้องขึ้นไปด้วย ลมอีก
ของหนูเป็นความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะว่าถ้าเราไม่เชื่อมั่นตัวเองว่าทำได้ การเปลี่ยน keep เรือ tacking เราจะทำไม่ได้เลยเพราะว่าครูฝึกจะได้แค่บอกเราว่าต้องทำยังไง ถ้าเราไม่ทำตามที่เค้าบอกแล้วก็ไม่เชื่อว่าตัวเองทำได้มันก็จะทำไม่ได้ เพราะเค้าไม่สามารถจะจับมือเราให้ทำได้ อีกอย่างหนึ่งที่ได้จากค่ายเรือใบก็คือสุขกับอะไรง่ายๆ รอบตัว คือเราขำกันเยอะมาก บางคนเค้าก็คงจะงงว่าทำไมสนุกกับอะไรแบบนี้ แล้วยิ่งเราอยู่กับเพื่อนที่ตอนแรกยอมรับว่าไม่ได้สนิทขนาดนั้นแต่ว่าพอไปถึงปุ๊บกลายเป็นว่าทุกคนสนิทกัน แล้วมันเหมือนเพื่อนที่แบบรักกันจริงๆ ทุกคนพร้อมช่วยเหลือ กัน วันที่เราเหนื่อยๆ มานั่งกินขนมด้วยกัน ตากลมริมทะเลกัน แล้วก็เล่าเรื่องคุยกัน คือนั่งเล่นเป็นชั่วโมงไม่เบื่อเลย เวลาเล่นเรือใบเราจะไม่ได้โฟกัสแค่อย่างเดียว มันต้องโฟกัสหลายอย่างมาก แบบทิศทางลม ความแรงคลื่น ใบสะบัดรึเปล่า ใบต้องตึงขนาดไหน องศาใบที่ทำกับเรือ หางเสือ การดึงเชือก ซึ่งทั้งหมดทำให้เราต้องใส่ใจมีสมาธิกับตรงนั้นจริงๆ ตอนแรกมันดูเหมือนยากแต่พอเราทำไปจนมันชินเราจะ enjoy กับมันมากๆ
>> ความประทับใจจากค่ายนี้
โมเม้นท์ที่หนูประทับใจที่สุดคือตอนหนูเรือล่มค่ะ ตอนนั้นหนูค่อนข้าง panic ที่เรือล่มและกู้เรือไม่ได้แล้วเริ่มหมดแรง มันต้องใช้แรงตัวเองในการดันเรือขึ้น หนูค่อนข้างกลัวจะทำยังไงดี คราวนี้มีเพื่อนผ่านมา หนูจึงตะโกนเรียกเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็เรือล่มเหมือนกันแต่ว่าเค้ากู้ได้แล้ว เพื่อนโดดจากเรือตัวเองว่ายน้ำมาเพื่อจะมาช่วยหนู แต่มันเป็นกฎที่ไม่ควรเกิดขึ้นนะคะเพราะว่าอันตรายที่เพื่อนจะลงจากเรือ ยิ่งถ้าอยู่กลางทะเลอย่างนี้ด้วยคลื่นลม ด้วยความที่วันนั้นลมแรงเรือมันก็เลยหนีออกไปอีกกลายเป็นว่าเพื่อนก็ต้องว่ายน้ำตามเรือตัวเองด้วย การเล่นเรือใบต้องเอาตัวเองอยู่ติดกับเรือจับส่วนใดส่วนหนึ่งของเรือให้ได้ตลอดเวลา เพราะว่าลมจะพัดเรือไปเร็วกว่าที่เราบังคับอีก ระหว่างที่เพื่อนว่ายตามเรือเค้าก็บอกเราไปด้วยว่าต้องกู้เรือยังไง
มีช็อตประทับใจที่เหมือนเพื่อนก็คือช่วงที่นั่งกินข้าวด้วยกัน และช็อตที่เดินกลับ มันเป็นบรรยากาศแบบอากาศเย็น แสงดี ทุกคนเฮฮา และประทับใจตอนที่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันกับเพื่อน เหมือนเวลาเราเจอแดดมา มันก็แบบหน้าเรามันจะแย่มากเราก็มามาส์กหน้านั่งคุยกันในห้องจนดึก บางคนที่เราแทบไม่ค่อยได้คุยกัน ก็กลับมาสนิทกันคุยเรื่องอดีต ความประทับใจเรื่องที่เราเจอกันครั้งแรกกับเพื่อนคนนี้ มันก็เลยเหมือนกับเราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
เราได้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนจริงๆ ได้รู้จักกับเพื่อนมากขึ้นสนิทกันมากขึ้นเยอะเลย แล้วก็เหมือนเราช่วยกันทุกอย่าง อยู่ด้วยกันตลอดแบบทั้งเรื่องที่ดีหรือช่วงที่แบบมีปัญหาก็ได้อยู่ด้วยกันทั้งทริป รู้สึกว่าทริปนี้ทุกคนช่วยกันจริงๆ แบบไม่ได้คิดอะไร แล้วหนูก็รู้สึกประทับใจที่เหมือนกลายเป็นเราสามารถแชร์เรื่องต่างๆ กับเพื่อนกลุ่มนี้ได้มากกว่าที่เราคิด รู้สึกว่าทุกคนน่ารักมากจริงๆ ที่ช่วยเหลือกัน แล้วก็เหมือนหนูได้ก้าวข้ามความตั้งใจของตัวเองในเรื่องของเรือใบด้วยแล้วก็ได้มิตรภาพด้วย
สิ่งที่ได้มากครั้งนี้คือเรื่องของความกล้า การที่จะก้าวผ่านขีดจำกัดตัวเอง ความกลัวของตัวเอง แล้วยิ่งพอเรามีเพื่อนเราก็ยิ่งรู้ว่าวินาทีนั้น โมเมนท์ตรงนั้น มันเป็นอะไรที่มีค่ามากๆ แล้วก็ได้ใช้เวลาปัจจุบันให้มันคุ้มค่าที่สุดแล้วก็มีความสุขกับมันให้เต็มที่ หนูรู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นมันดีอย่างนี้นี่เอง
เอลิซ – นักเรียนเพลินพัฒนาชั้น 11
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565