เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
ไม่ต้องตกใจ…เรามาช่วยแล้ว!!
ประโยคนี้ เราจะได้ยินจากห้องเรียน “Survival swimming” ของเด็กๆ ช่วงชั้นที่ 1 เป็นประจำ
การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากสถิติในแต่ละปี พบว่าเด็กไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำกว่า 1,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 4 คน โดยเฉพาะในปีนี้ ดัชนีความร้อนของหน้าร้อนนี้ พุ่งสูงถึง 45 องศา การไปเล่นน้ำ หรือ ว่ายน้ำ ตามสระต่างๆ จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เด็กๆ เรียกร้องกันเป็นจำนวนมาก เมื่อต้องเข้าใกล้แหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทะเล แม่น้ำ คลอง หรือ สระว่ายน้ำ เด็กๆควรมีทักษะในการช่วยเหลือตนเอง และ รู้วิธี ส่งต่อความช่วยเหลือไปยังคนรอบข้าง ได้ถูกต้องและทันท่วงที
การเรียน Survival swimming จึงถือการฝึกให้เด็กๆได้ประเมินสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างถูกวิธี อาทิ การใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวเป็นตัวช่วย การลงไปช่วยเหลือในน้ำพร้อมอุปกรณ์ การลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบไม่มีอุปกรณ์ ยกตัวอย่างการเดินทางไปท่องเที่ยว เด็กๆจะได้เรียนรู้ว่า สิ่งของที่อยู่รอบๆตัว สามารถนำมาใช้ในทำประโยชน์ในการเอาชีวิตรอดได้ เราสามารถถอดเสื้อหรือกางเกง ทำการมัดและเป่าลมเข้าไปในกางเกงเพื่อให้เกิดอากาศสร้างถุงลมชูชีพในการเอาชีวิตรอดได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการฝึกให้เด็กได้มีสติอยู่เสมอเมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยด้วย
โรงเรียนเพลินพัฒนา เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจึงได้กำหนดหลักสูตร Survival swimming หรือการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดขึ้น เพื่อให้เด็กในช่วงวัยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์คับขัน ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ด้วย โดยจัดหลักสูตรให้นักเรียนได้ฝึกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันประมาณ 8 -10 วัน
หลักการของ Survival swimming อยู่ที่เด็กต้องลอยตัวให้ได้นานที่สุดเมื่อไม่มีสิ่งของที่ใช้สำหรับลอยตัว เพื่อรอให้คนมาช่วย และรอดจากการจมน้ำ เช่น การลอยตัวคว่ำ – หงาย การจัดท่าลำตัว และการฝึกหายใจ
ถัดมาเป็นการลอยตัวแบบใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเพื่อช่วยชีวิตตัวเอง เช่น ขวดน้ำพลาสติก รองเท้า เสื้อผ้าที่สวมใส่ โดยคุณครูจะให้เด็กใส่ชุดลำลองแทนชุดว่ายน้ำ เพราะเสื้อผ้าธรรมดากับชุดว่ายน้ำมีน้ำหนักต่างกัน เป็นการจำลองสถานการณ์ในชีวิตจริงเวลาเกิดอุบัติเหตุทางน้ำด้วย
ข้อแนะนำจากกรมควบคุมโรคในกรณีพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” คือ
“ตะโกน” เรียกขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669
“โยน” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำ
“ยื่น” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2567