Survival Swimming ชั้น 1

“Survival swimming” หรือการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ของนักเรียนชั้น 1 (กำลังจะขึ้นชั้น 2) ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากสถิติในแต่ละปี พบว่าเด็กไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำกว่า 1,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 4 คน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าว่ายน้ำไม่เป็นถึงร้อยละ 50-80 และมีแนวโน้มเพิ่มอย่างชัดเจนในกลุ่มอายุ 5-9 ปี

นอกจากการช่วยเหลือตัวเองแล้ว Survival swimming ยังได้ฝึกให้เด็กได้ประเมินสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างถูกวิธี อาทิ การใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวเป็นตัวช่วย การลงไปช่วยเหลือในน้ำพร้อมอุปกรณ์ การลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบไม่มีอุปกรณ์ และที่สำคัญที่สุดคือการฝึกให้เด็กได้มีสติเมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยด้วย

โรงเรียนเพลินพัฒนา เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจึงได้กำหนดหลักสูตร Survival swimming หรือการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดขึ้น เพื่อให้เด็กในช่วงวัยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์คับขัน ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ด้วย โดยจัดหลักสูตรให้นักเรียนได้ฝึกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันประมาณ 8 -10 วัน

หลักการของ Survival swimming อยู่ที่เด็กต้องลอยตัวให้ได้นานที่สุดเมื่อไม่มีสิ่งของที่ใช้สำหรับลอยตัว เพื่อรอให้คนมาช่วย และรอดจากการจมน้ำ เช่น การลอยตัวคว่ำ – หงาย การจัดท่าลำตัว และการฝึกหายใจ

ถัดมาเป็นการลอยตัวแบบใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเพื่อช่วยชีวิตตัวเอง เช่น ขวดน้ำพลาสติก รองเท้า เสื้อผ้าที่สวมใส่ เป็นต้น โดยคุณครูจะให้เด็กใส่ชุดลำลองแทนชุดว่ายน้ำ เพราะเสื้อผ้าธรรมดากับชุดว่ายน้ำมีน้ำหนักต่างกัน เป็นการจำลองสถานการณ์ในชีวิตจริงเวลาเกิดอุบัติเหตุทางน้ำด้วย

ในชีวิตจริงอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นกับลูกหลานของเราเมื่อไหร่ก็ได้ การเตรียมพร้อมเพื่อให้เด็กเรียนรู้ “การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” จึงเป็นสิ่งสำคัญ “การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” ไม่ใช่เพียงการว่ายน้ำเป็น แต่หมายถึงการลอยตัวให้ได้นานที่สุดเพื่อไม่ให้ตัวเองจมน้ำ และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำได้อย่างถูกวิธี

ข้อแนะนำจากกรมควบคุมโรคในกรณีพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” คือ

“ตะโกน” เรียกขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669

“โยน” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำ

“ยื่น” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2566