จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ Amarin Baby & Kids https://shorturl.asia/bQRCu
ถ้าพูดถึงโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนเพลินพัฒนา ถือเป็นโรงเรียนอันดับต้นๆ ที่หลายๆ คนนึกถึง School Visit วันนี้เราจะพามาดูแนวความคิดของ โรงเรียนเพลินพัฒนา รวมไปถึงห้องเรียนและกิจกรรมต่างๆในแต่ละวันของเด็กๆ รับรองว่าวันนี้คุณจะได้รู้จักโรงเรียนเพลินพัฒนาแบบเจาะลึกแน่นอน
เพลินพัฒนา เป็นโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ ที่มีทุกระดับชั้นตั้งแต่ อนุบาล ประถม และมัธยม อยู่ภายในโรงเรียนนี้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543 โรงเรียนเพลินพัฒนา เกิดจากกลุ่มครูกลุ่มหนึ่งที่อยากจะทำโรงเรียนด้วยกัน เริ่มต้นด้วยการระดมทุนเพื่อเช่าที่ดินและสร้างอาคารเรียนเพื่อเป็นโรงเรียนของชุมชน กว่า 20 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนค่อยๆ พัฒนาหลักสูตร ค่อยๆสะสมเงินและซื้อที่ดินเป็นของตนเอง ปัจจุบันโรงเรียนเพลินพัฒนามีเนื้อที่กว่า 31 ไร่ กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของทุกคน ทั้งเด็กๆ ครู ผู้ปกครองและทุกชีวิตในเพลินพัฒนา โรงเรียนเพลินพัฒนา ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ หัวใจของโรงเรียนคือการสร้างคนให้เป็นคน สร้างคนให้มีคาแรคเตอร์ เพราะรู้ว่าเด็กแต่ละคนต่างกัน ความเก่งเป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่ได้สำคัญที่สุด คุณครูจะช่วยมองทุกมุมทุกด้าน แล้วประกอบกันขึ้น หลอมรวมกันจนเป็นคาแรคเตอร์ของเด็กออกมาที่ชัดเจน
เพราะการเรียนไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน เด็กที่นี่จะได้สังเกต สัมผัส ทุกพื้นที่ในโรงเรียน โรงเรียนถูกออกแบบมาให้พัฒนาเด็กๆแบบรอบด้าน มีสภาพแวดล้อมเอื้อและตอบโจทย์การเรียนรู้ เพราะทุกพื้นที่คือที่แห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ สำหรับเด็กเล็ก มีต้นไม้ใหญ่ไว้ให้เด็กได้ปีนป่าย มีสนามหญ้า มีเนินให้วิ่งเล่น มีใบไม้ ก้อนหิน ทราย มีธรรมชาติเป็นของเล่นปลายเปิดที่เด็กๆ เล่นได้ไม่มีวันเบื่อ เกิดการเรียนรู้ที่ดี ส่วนในห้องเรียนจะจัดพื้นที่และสภาพแวดล้อม เพื่อเอื้อต่อกระบวนการการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย ส่วนเด็กโตมีสนามกีฬาทั้งแบบกลางแจ้งและแบบในร่ม ทั้งสนามฟุตบอล สนามบาสเก็ตบอล สระว่ายน้ำ อาคารเรียนที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ และมุมพักผ่อนมากมายสำหรับเด็กๆ
ชั้นอนุบาลและประถมศึกษา เป็นการปูพื้นฐาน เรียนแบบลงมือทำ Active Learning โดยใช้การบูรณาการวิชาทักษะชีวิต กับวิชาการให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะโลกใบนี้เปลี่ยนเร็ว คุณภาพของเด็กจึงสำคัญมากกว่าแค่ความรู้ ทำอย่างไรให้ตัวเด็กมีศักยภาพ ในการคิดในการตัดสินใจและรู้จักพัฒนาตนเอง โดยมีการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ธรรมชาติของโลกในสามมิติ ใช้เป็นแกนในการออกแบบหลักสูตรของโรงเรียน เรียนรู้ควบคู่กันไปเพื่อพัฒนา อารมณ์ สังคม จริยธรรมและวิชาการ ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน พัฒนาสมองส่วนหน้าของมนุษย์ (EF ) การยับยั้งชั่งใจ การยืดหยุ่นทางความคิด การวางแผน การจัดการ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะพึ่งพาตนเองได้และเป็นที่พึ่งของสังคม เด็กแข็งแรงเบิกบานมีความสุข ที่เพลินพัฒนานำกระบวนการเรื่องวิจัยมาฝึกให้เด็กตั้งแต่ชั้นประถม 1 เพื่อฝึกหาปัญหาและแก้ปัญหา แต่ขอบเขตของเรื่องจะเหมาะสมกับวัย ลองคาดเดาคำตอบ ถึงปัญหาที่ตนเองตั้ง และเตรียมนำเสนอผลงาน เด็กประถมที่นี่มีความพร้อมทางสติปัญญาและมีความมั่นใจ วิเคราะห์ด้วยตนเองได้เพื่อปูทางไปยังมัธยมศึกษา
ถ้าจะเรียนที่เพลินพัฒนาต้องเรียนด้วยกันทั้งครอบครัว ทั้งเด็กและคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัวต้องเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีและช่วยพัฒนาเด็กอยู่ตลอด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าตอนนี้เด็กเป็นอย่างไร ควรส่งเสริมเรื่องอะไร ทางโรงเรียนเปิดคอร์สอบรมสำหรับคุณพ่อคุณแม่ โดยมีคุณหมอและนักจิตวิทยามาช่วยอบรมอยู่เป็นประจำ โดยผู้ปกครองต้องเข้าอบรมคลาสห้องเรียนพ่อแม่จำนวน 30 ชั่วโมง ( เป็นภาคบังคับ) เพื่อให้ครอบครัวแข็งแรงและสัมพันธ์กันกับโรงเรียน นอกจากการอบรมแล้ว ทางโรงเรียนมีกิจกรรมมากมาย เช่น เชิญคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยาย มาช่วยสอนเรื่องอาชีพต่างๆ มาเล่นละคร ร้องเพลง เล่านิทาน เพื่อสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัว เด็ก และโรงเรียน
โครงงาน PBL คือการเรียนรู้โดยใช้ปัญหามาเป็นฐาน และหาวิธีแก้ปัญหาด้วยการทำโครงงานการแก้ปัญหานั้นขึ้นมา จะเป็นปัญหาใกล้ตัว สิ่งที่ค้นพบเจอหรือปัญหาที่คนอื่นประสบมาก็ได้ โดยใช้กระบวนการ Design Thinking การคิดออกแบบโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง สำหรับเด็กมัธยมต้นจะทำ 1 เทอมต่อ 1 โครงงาน ส่วนมัธยมปลายจะทำปีการศึกษาละ 1 โครงงาน ทุกๆสัปดาห์ต้องนำโครงงานมาคุยกับคุณครูที่ปรึกษาว่าระหว่างทางมีปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร และตั้งเป้าในครั้งต่อไปอย่างไร เด็กๆต้องลงสัมภาษณ์เอง ลงพื้นที่เพื่อให้เห็นปัญหาจริงและเข้าใจอย่างแท้จริง การแก้ปัญหาอาจจะเป็นสิ่งประดิษฎ์หรือนวตกรรมก็ได้หรือเป็นแนวคิดหรือวิธีการก็ได้ คุณครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ช คอยช่วยเหลือและชวนคิด ประโยชน์ของโครงการคือ เด็กจะได้รู้จักการทำงานร่วมกันทั้งกับเพื่อนกับครูและคนภายนอก รู้จักการคิดแบบวิจารณญาณ หาข้อมูล และกลั่นกรอง คิดหาวิธีใหม่ๆในการแก้ปัญหา เรียนรู้ที่จะสื่อสาร เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การทำPBL จะเป็นตัวช่วยตัวหนึ่งที่จะทำให้เด็กรู้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบทำอะไรด้วย
เด็กมัธยมต้นที่โรงเรียนเพลินพัฒนาจะเน้นการค้นหาตัวตน สามารถเลือกวิชาเรียนเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง เรียนให้หลากหลายเพื่อให้หาตนเองให้เจอ พอเป็นมัธยมปลายเป็นเรื่องการต่อยอด มุ่งมั่นไปตามเส้นทาง ครูที่ปรึกษาจะพยายามคัดเลือกวิชาให้พัฒนาทักษะและตรงกับความสนใจของนักเรียน โดยการเลือกรายวิชาจะขึ้นอยู่กับเด็กว่าอยากเรียนอะไร มีวิชาพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องเรียน และวิชาเพิ่มเติมเด็กสามารถลงเรียนได้ตามความสนใจ เช่น เรียนฟิสิกส์กับศิลปะหรือจิตวิทยาก็ได้ เป้าประสงค์หลักของโรงเรียน คืออยากให้เด็กได้เห็นตัวตนของตนเอง ถนัดและมีความสุขกับอะไร ชอบอะไร เมื่อรู้แล้วจะใช้ชีวิตและมีทักษะการเป็นพลเมืองของโลกใบนี้ได้ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและช่วยสังคมได้ วิชาการไม่ใช่เป้าหมายหลักของโรงเรียน เป้าหมายหลักของโรงเรียนคือ การสมบูรณ์ชีวิต มีความสุขในการใช้ชีวิต รู้จักการบาลานซ์ชีวิตได้ว่า จะมีความสุขได้อย่างไร แต่ละคนมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ยอมรับและเข้าใจความแตกต่าง
เพราะเด็กทุกคนไม่ได้เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ อาจมีเด็กบางคนที่มีความพร่อง โรงเรียนจึงเกิดโครงการ No one left behind เราจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กเหล่านี้จะได้รับการประคับประคอง ช่วยเหลือ แก้ไข เพื่อให้เด็กดำเนินชีวิตต่อได้ โดยทางโรงเรียนและครอบครัว ต้องวางแผนช่วยกันแก้ปัญหาและพัฒนาเด็กร่วมกัน ตราบใดที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทิ้งเด็ก พร้อมจะช่วยเหลือกัน โรงเรียนก็ไม่มีวันทิ้งเด็กจะสู้เพื่อให้เด็กได้ไปต่อ นอกจากนี้ยังมีโครงการการศึกษาพิเศษ เป็นสิ่งรองรับอีกขั้น เพื่อดูแลเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม คอยเฝ้าสังเกต ได้รับการดูแลจากคุณครูเป็นพิเศษหรือมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูแล เพราะทุกคนคือครอบครัวเพลินพัฒนา
1. สัดส่วนของครูกับนักเรียน เป็นอัตราส่วนที่ครูสามารถดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง ครูที่นี่ช่างสังเกต และพร้อมพัฒนาเด็ก ในจุดเด่นและแก้ไขจุดด้อย โดยทำงานร่วมกับผู้ปกครองแต่ละบ้าน เป็นแบบ1:1
2. เด็กนักเรียนที่นี่มีเป้าหมายชัดเจน กล้าคิดและกล้าตัดสินใจ เพราะหัดตั้งเป้าหมายเองตั้งแต่เล็กจากสิ่งที่ตนเองสนใจ
3. เด็กที่เพลินพัฒนาเห็นคุณค่าของตัวเอง เด็กจะสะท้อนตัวเองและสะท้อนผลของการเรียนรู้
4. การสอนที่ทำให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหา และมองปัญหาเป็นเรื่องปกติของชีวิต สำเร็จก็ได้ไม่สำเร็จก็ได้ ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีในโลกอนาคต
5. นักเรียนชั้นมัธยมจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มีบทบาทในการสร้างกฎกติกา ที่จะใช้อยู่ร่วมกัน เช่น สีผม เครื่องแต่งกาย ชุดไปรเวทจะเป็นอย่างไร แต่งวันไหน แต่ละปีก็จะขึ้นอยู่กับนโยบายของสภานักเรียน นอกจากนี้เด็กสามารถเปิดรายวิชาที่ตนเองสนใจได้ ทั้งเด็กมัธยมต้นและมัธยมปลาย
ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ Amarin Baby & Kids https://shorturl.asia/bQRCu
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566