เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
กิจกรรม PBL & Design Thinking Workshop เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นให้นักเรียนชั้น 7 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเรียนรู้กระบวนการทำโครงงาน PBL ที่จะต้องทำตลอดทั้งเทอม โดยโครงงาน PBL มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่อยู่รอบ ๆ ตัวนักเรียน หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้นักเรียนได้ใช้ทักษะในการแก้ปัญหาซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง รวมไปถึงใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ที่ได้ถูกกำหนดขึ้น ตลอดจนได้ใช้ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความถนัดแตกต่างกัน นอกจากนั้นกระบวนการ PBL ยังถูกนำไปเชื่อมโยงกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ซึ่งเป็นกระบวนการคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหา และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างตรงประเด็นอีกด้วย
กิจกรรมนี้จัดขึ้นในสัปดาห์แรกของการเปิดเทอมผ่านการเรียนรู้ช่วง HBLC โดยเริ่มจากกิจกรรม Warm-Up เล็กน้อย เพื่อเป็นการทำความรู้จักระหว่างครูและนักเรียน จากนั้นเข้าสู่กิจกรรมหลักคือการแบ่งกลุ่มนักเรียนแยกเข้า Breakout room เพื่อดูคลิปวิดีโอการนำเสนอโครงงาน PBL ของรุ่นพี่มัธยมที่มีหัวข้อแตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่ม และสรุปกระบวนการทำงานจากการดูคลิปและออกมานำเสนอที่ห้องรวม กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนเห็นภาพรวมของกระบวนการทำโครงงานตลอดทั้งเทอม
จากนั้นจึงเข้าสู่การเรียนรู้กระบวนการ Design Thinking โดยเริ่มจากขั้น Empathize คือการลงไปค้นหาความต้องการและปัญหาเบื้องลึกที่อยู่ในตัวผู้ใช้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ นักเรียนจะมีโอกาสได้ตั้งคำถามเพื่อสัมภาษณ์กลุ่มผู้ใช้ หรือกลุ่มคนที่ประสบปัญหา โดยครูได้จัดเตรียมประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น ปัญหากระเป๋าเดินทาง ปัญหาการทานอาหารเช้า ปัญหาการนั่งเรียนออนไลน์ ปัญหาการออกนอกบ้านในช่วงโควิด โดยแต่ละกลุ่มจะได้นำคำถามไปสัมภาษณ์บุคคลที่นักเรียนอยู่ด้วยที่บ้าน หรือบางห้องครูจะเล่นบทบาทสมมุติเพื่อเล่าถึงปัญหาที่ตนเองพบเจอ นักเรียนมีหน้าที่ถามคำถามเพื่อทำความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ไปวิเคราะห์ลงใน Empathize Map ก่อนเข้าสู่ขั้น Define ซึ่งก็คือการย่อปัญหาและความต้องการทั้งหมด มาสรุปเป็นประเด็น เพียงไม่กี่ข้อที่นักเรียนต้องการแก้ไข
เมื่อได้ประเด็นปัญหาที่ได้สรุปมาแล้ว นักเรียนแต่ละกลุ่มจะเข้าสู่ Breakout room เพื่อทำการระดมความคิดผ่านขั้น Ideate ร่วมระดมความคิดเพื่อแก้โจทย์ที่ได้จากขั้น Define ในขั้นตอนนี้มักเป็นไอเดียที่แปลกใหม่, แตกต่าง และหลุดจากกรอบวิธีคิดแบบเดิม ๆ ซึ่งนักเรียนก็สามารถคิดได้อย่างหลากหลายและน่าสนใจ
จากนั้นแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกหยิบไอเดียที่สามารถนำมาต่อยอดได้ และนำมาสร้างต้นแบบผ่านขั้น Prototype and Test เพื่อนำไปทดสอบกับผู้ใช้จริง กิจกรรมนี้ครูจะเป็นผู้ที่ให้ Feedback กับ Prototype ที่นักเรียนได้ออกแบบมา แต่ละกลุ่มจะมีลีลาในการนำเสนอ Prototype ที่แตกต่างกัน เพื่อดึงดูดให้ครูที่มีบทบาทสมมุติเป็นผู้ใช้ เลือกผลงานของกลุ่มตนเอง ขั้นตอนนี้นักเรียนแต่ละกลุ่มจะเต็มที่กับกิจกรรมมาก มีการคิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ใส่เข้าไปใน Prototype และนอกจากนั้นยังมีโปรโมชั่นที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ใช้อีกด้วย โดยครูจะทำการเลือกกลุ่มที่สามารถสร้าง นวัตกรรมที่แก้ปัญหา และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างตรงประเด็น เป็นการจบกระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอนของ Design Thinking
ช่วงท้ายเป็นการสรุปกระบวนการภาพรวมของการทำโครงงาน PBL และให้นักเรียนสะท้อนความรู้สึก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมทั้งวัน โดยภาพรวมนักเรียนได้ความสนุกทั้งการคิดนวัตกรรมและการทำงานกลุ่มร่วมกับเพื่อน ๆ นอกจากนั้นยังได้เห็นถึงกระบวนการทั้งหมดก่อนที่จะเริ่มลงมือทำโครงงานจริงในสัปดาห์ถัดไป
ขอบคุณเรื่องเล่าโดย
คุณครูภัทรพงศ์ บำรุงรัตน์ (ครูม็อบ)
และคุณครูวิสนี ทินโนรส (ครูเนส) ฝ่ายมัธยม
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2564