Open Class เปิดชั้นเรียนมัธยม

“Life and Learning” เพราะการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน พร้อมเปิดกว้าง รับฟัง เพื่อเรียนรู้จากผู้อื่น นี่คือแนวคิดการจัดกิจกรรม Open Class มัธยม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาครูและช่วงชั้นมัธยมโดยเปิดพื้นที่ให้เพื่อนครูโรงเรียนอื่นๆ นักวิชาการ นักการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยขยายมุมมองและช่วยเติมเต็มให้ครูได้รับฟังข้อคิดเห็นและมุมมองต่างๆ เพื่อต่อยอดพัฒนาตนเอง

กิจกรรมภายในงานเริ่มต้นด้วยการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Parallel Sessions ในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ การเตรียมพร้อมให้นักเรียนก้าวสู่เป้าหมายอยู่ดีมีสุข (Well-Being) ผ่านฐานกิจกรรม Homeroom, การออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิต ผ่านงานภาคสนาม และ Daytrip, การสร้างนวัตกรรมทางสังคมผ่านการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) และ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ท้าทายศักยภาพนักเรียนแบบมีส่วนร่วมผ่านงานกิจกรรมนักเรียน

ใน Parallel Session เป็นการแลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนตัวอย่างกิจกรรม หรือวิธีการของโรงเรียนอื่นๆ มาปรับใช้ด้วย

จากนั้นเป็นการร่วมสังเกตห้องเรียนตามความสนใจของผู้เข้าร่วมงาน โดยมีทั้งสิ้น 8 วิชาที่เปิดให้เข้าชม ได้แก่ วิชาประวัติศาสตร์, วิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา, วิชาESL ภาษาต่างประเทศ, วิชาวิทยาศาตร์พื้นฐาน, วิชาจิตวิทยากับสื่อ, วิชากีฬาบาสเกตบอล, วิชาการออกแบบท่าเต้น และวิชาทฤษฎีและโสตดนตรี สำหรับชั้นเรียนของมัธยมที่เปิดในงานนี้เป็นห้องเรียนของคุณครูที่มีอายุงานหลากหลาย และมีประสบการณ์ในการสอนมากน้อยแตกต่างกัน

ช่วงสุดท้ายเป็นการจัดสนทนาจะดูอย่างไรว่าได้ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ งาน Open Class จึงไม่ได้มุ่งหวังที่จะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด แต่นำเสนอ “สิ่งที่เรามีอยู่” และคาดหวังเสียงสะท้อนและมุมมองต่างๆเพื่อพัฒนาตนเองต่อไป หลังจบงาน Open class นอกจากความสุข และกำลังใจจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน คือโอกาสในการรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ จากมุมมองภายนอกที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงแผนการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น

ความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณครูช่วงชั้นมัธยมในกิจกรรมครั้งนี้

  • คุณครู วิสนี ทินโนรส (ครูเนส) ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้น ฝ่ายการจัดการเรียนรู้ / ทีมจัดงาน Open Class

การเปิดชั้นเรียนปีนี้ ทีมจัดงานตั้งต้นจาก “เราอยากให้งานนี้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำมาพัฒนาตนเอง” การเปิดห้องเรียนจึงไม่ใช่การโชว์ห้องที่ดีและเก่งที่สุด คุณครูที่เป็น Model Teacher ทุกคนมีอายุงานตั้งแต่ 4 เดือน ไปจนถึงเกือบ 10 ปี ถึงแม้ประสบการณ์จะแตกต่างกัน แต่ความต้องการในการพัฒนาตัวเองไม่ได้น้อยไปกว่ากัน ทุกคนกล้าหาญที่จะเปิดห้องเรียนเพื่อการเรียนรู้ และเสียงสะท้อนที่ได้จากผู้สังเกตชั้นเรียนถือเป็นของขวัญที่จะนำไปพัฒนาห้องเรียนต่อไป

การเปิดห้องเรียน 2 ห้อง แต่ใช้แผนเดียวกัน เป็นความตั้งใจที่อยากให้ผู้เข้าร่วมได้สังเกตชั้นเรียนที่ถึงแม้จะสอนในหัวข้อเดียวกัน กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้อาจให้ผลต่างกัน ทำให้ครูต้องปรับกิจกรรมการเรียนรู้ให้ตรงกับพื้นฐานการเรียนรู้ของห้องเรียนนั้น ๆ เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมสังเกตชั้นเรียน เช่น กระบวนการสอนที่แตกต่างกัน ทำให้ได้เห็นวิธีการทำงานของนักเรียนที่แตกต่างกันออกไป

สิ่งท้าทายในการสอน คือ ผู้เรียนได้เรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมายที่ครูวางไว้หรือไม่ ผลลัพท์ที่อยากเห็นสามารถประเมินได้ตั้งแต่เริ่มต้นคาบเรียน ไม่ใช่แค่ท้ายคาบเรียนเท่านั้น เช่น นักเรียนมีส่วนร่วมกับชั้นเรียนหรือไม่ สะท้อนตนเองผ่านการทำงานได้แค่ไหน กระบวนการทำงานร่วมกันกับเพื่อนในการพูดคุยกันจนทำให้เกิดชิ้นงาน

  • คุณครูกิติพันธ์ พูลเงิน (ครูต๊อบ) ครูการงานและเทคโนโลยี (AI) / ทีมจัดงาน Open Class

ในช่วงการสังเกตการณ์ชั้นเรียน ผมคิดว่าครูที่อายุงานหลากหลายจะช่วยส่งเสริมกันในด้านการออกแบบกิจกรรมได้เป็นอย่างดี ด้วยครูที่มีอายุงานน้อย แต่มากด้วยไอเดีย มีเกม มีกิจกรรมที่น่าสนใจ แต่อาจจะไม่ชำนาญในการจัดการชั้นเรียนหรือดูแลนักเรียนให้ปฏิบัติตามได้ ในขณะที่ครูอายุงานมากแล้วจะมีความสามารถในการจัดการชั้นเรียน การสังเกตพฤติกรรมนักเรียน ดังนั้นจึงสามารถแลกเปลี่ยนและช่วยกันออกแบบการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานในครั้งนี้ และอีกส่วนเราตั้งเป้าหมายกันไว้ว่างานนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เปิดให้คนอื่นได้เข้ามามองและสะท้อนในสิ่งที่เราทำว่ายังขาดหรือเสริมในเรื่องไหน ซึ่งภาพที่ออกมาก็เป็นไปตามเป้าหมาย และถือเป็นกำลังใจให้ตัวผมเองอยากจัดงานแบบนี้ขึ้นมาอีกครับ

  • คุณครูภัทรพงศ์ บำรุงรัตน์ (ครูม็อบ) ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้น ฝ่ายวิถีชีวิต

Parallel: การเตรียมพร้อมให้นักเรียนก้าวสู่เป้าหมายอยู่ดีมีสุข (Well-Being) ผ่านฐานกิจกรรม Homeroom

จากรูปแบบกิจกรรมที่มาจากแนวคิดที่ว่ากิจกรรมโฮมรูมของโรงเรียนเราไม่ได้เป็นรูปแบบกิจกรรมโฮมรูมที่ดีที่สุดหรือ Best Practice จึงได้มีการปรับรูปแบบให้เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านหัวข้อต่าง ๆ และใช้เวลาในการบรรยายเนื้อหาสั้น ๆ ทำให้ได้มีโอกาสและช่วงเวลาที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง เติมเต็มแนวคิดจากผู้เข้าร่วมในหลากหลายสาขาอาชีพ ผู้เข้าร่วมทุกคนมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ทำให้บรรยากาศในกิจกรรมเป็นไปอย่างสบายๆ และเป็นกันเอง อีกทั้งยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้หลายท่านนำแนวคิดบางอย่างไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนของตนเอง รวมถึงโรงเรียนของเราก็ได้รับไอเดียดีๆเพื่อมาปรับใช้ด้วย

ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสเชื่อมโยงกิจกรรมโฮมรูมของตนเองที่เคยได้ทำ และกิจกรรมโฮมรูมที่มาจากการแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมงานคนอื่น ๆ อีกมุมมองบางโรงเรียนจัดให้ช่วงเวลาโฮมรูม คือพื้นที่ชีวิต เพื่อรับฟัง พูดคุยความรู้สึก เป็นบ้านให้กับเด็ก เสริมทักษะ สะท้อนตัวตน สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและครู

  • คุณครูสิปปกร จันทร์แก้ว (ครูแอร์) ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้น ฝ่ายกิจกรรมนักเรียน

Parallel: หัวข้อ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ท้าทายศักยภาพนักเรียนแบบมีส่วนร่วมผ่านงานกิจกรรมนักเรียน

ผมคิดว่าการจัดงานในลักษณะนี้ดีมากๆ เพราะเป็นการบอกเล่าในงานที่เราได้ทำ และเราไม่ได้รู้สึกกังวลหรือกดดันว่าเราต้องนำเสนอสิ่งที่สำเร็จเพียงอย่างเดียว เราสามารถบอกเล่าในสิ่งที่เรายังทำได้ไม่ดี ยังพบเจออุปสรรคมากมายให้กับผู้เข้าร่วมรับฟังได้รับรู้ด้วย มันเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมรับฟังสะท้อนคิดมาว่า ประทับใจที่เวลาเราทำกิจกรรมนักเรียน เราไม่ได้มองที่ผลลัพธ์ของงานเพียงอย่างเดียว แต่โรงเรียนเน้นให้ความสำคัญกับระหว่างทาง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกันของเด็กๆ อารมณ์ความรู้สึกด้วย ซึ่งโดยทั่วไปมักจะละเลยสิ่งนี้

  • คุณครูอรอุษา รุ่งทิวากรอุทัย (ครูเจอร์รี่) คุณครูแนะแนว

Parallel: หัวข้อ การสร้างนวัตกรรมทางสังคม ผ่านการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem based learning)

รู้สึกตื่นเต้นว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไรให้ผู้เข้าร่วมประทับใจ และที่สำคัญต้องแตกต่างจาก Open Class ปีที่ผ่านมาที่จัดห้อง Parallel หัวข้อ PBL เหมือนกัน เมื่อดำเนินการจบแล้วก็รู้สึกขอบคุณผู้เข้าร่วมที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นที่สามารถนำไปพัฒนากระบวนการ PBL สำหรับนักเรียนในปีการศึกษาต่อไปได้ และรู้สึกเสียดาย เพราะอยากมีเวลามากกว่านี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เสนอแนะแนวทางให้ครบทุกท่าน เพราะไอเดียที่หลากหลาย จะนำไปสู่วิธีพัฒนาการจัดการเรียนรู้ PBL ได้อย่างยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมมีมุมมองที่น่าสนใจหลายประเด็นที่ช่วงชั้นมัธยมสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ เช่น การต่อยอดให้นักเรียนออกไปนำเสนอผลงานภายนอกโรงเรียน กระบวนการพัฒนาและช่วยเหลือนักเรียนที่ทำโครงงานไม่สำเร็จ แต่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้หรือถอดบทเรียนจากการลงมือทำโครงงานของตนเอง

ขอขอบคุณผู้ร่วมงานทุกท่านที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้มุมมองใหม่ๆ เสริมการเรียนรู้กันและกัน ขอขอบคุณ รศ.ดร. พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และ รศ.ดร. พเยาว์ ยินดีสุข ในการสรุปการสะท้อนชั้นเรียนร่วมกัน และ รศ.ดร. ณัฏฐภรณ์ หลาวทอง จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การวัดประเมินผล ขอบคุณทุกกำลังใจ และทุกข้อเสนอแนะดีๆ … เพราะการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566