เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
ครูเก้า และ ครูเบียร์บี๋ ช่วงชั้นที่ 2 รับรางวัลกระบวนกรเน็ตป๊าม้าดีเด่น Excellent Net PAMA Facilitator Award ประเภท Excellent Teamwork
เมื่อถึงวันที่ต้องเป็นพ่อแม่ เราอาจได้พบว่าการเลี้ยงลูกหนึ่งคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีความท้าทายและปัญหามากมายที่ต้องพบเจออยู่เสมอในแต่ละช่วงวัย และหลายครั้งการพบเจอผู้เชี่ยวชาญในการปรับปัญหาพฤติกรรมของลูก อาจมีราคาสูงและไม่ค่อยมีคิวว่างสักเท่าไหร่ จะดีกว่าไหม หากเราสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ และ แหล่งความรู้ดีๆ ที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง รวมถึงมีผู้ที่ได้รับการอบรมมา คอยช่วยแนะนำเราได้ในทุกขั้นตอน “เน็ตป๊าม้า Net PAMA” จึงได้เข้ามาเพื่อเป็นทางออกให้กับทุกปัญหาของพ่อแม่ในปัจจุบัน
❤️“เน็ตป๊าม้า” คือ อะไร
เน็ตป๊าม้า คือ หลักสูตรออนไลน์สอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กในเชิงบวก ที่ดำเนินการโดย ศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยาเด็ก จากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ โดยโครงการเน็ตป๊าม้าเป็น 1 ใน 5 โครงการ ที่ได้รับรางวัล Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022 กลุ่มภาคีเครือข่าย สสส. เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสุขภาพ และ ได้รับรางวัล Team Good Practice Award ในงานมหกรรมคุณภาพมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2566 (Mahidol Quality Fair 2023) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาอีกด้วย
“ความฝันของพวกเราคือ อยากเห็นพ่อแม่ทุกคนมีความรู้และเทคนิคที่ดีในการเลี้ยงลูก เพื่อสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสุขให้กับทุกคนในบ้าน”
โครงการนี้ไม่ได้มีแค่หลักสูตรออนไลน์เท่านั้น แต่ยังมีการอบรมเพื่อสร้าง “กระบวนกร” เพื่อเป็นผู้นำพากระบวนการปรับพฤติกรรมเชิงบวกเหล่านี้ไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ชุมชนต่างๆ โดยหนึ่งในเหล่ากระบวนกรที่ผ่านการอบรมสุดเข้มข้นของทางศิริราชพยาบาลนี้และยังได้รับโล่รางวัล คือ คุณครูสองท่านจากรั้วโรงเรียนเพลินพัฒนา คุณครูจตุรพร หอมนวล (ครูเก้า) และ คุณครูพลาศิณี ศรีสองเมือง (ครูเบียร์บี๋) จากช่วงชั้นที่ 2
❤️“กระบวนกร” ผู้นำกระบวนการเน็ตป๊าม้าให้เกิดขึ้นจริง
ฐานะกระบวนกรที่ครูเก้าและครูเบียร์บี๋เป็นนั้น เป็นมากกว่าแค่ผู้จัดกระบวนการ แต่เป็นผู้ที่ช่วยย่อยความรู้ให้เข้าใจง่ายขึ้น สำหรับคนที่ไม่สะดวกในการเรียนแบบ self-study และสำหรับพื้นที่ที่อาจไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาแบบออนไลน์ได้ กระบวนกรก็คือ ผู้ที่ลงไปให้ความรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ ผ่านการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ซึ่งช่วยสร้างการมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การให้และรับกำลังใจซึ่งกันและกันของผู้ที่เข้าร่วม ซึ่งได้ผลที่น่าชื่นใจมากมายกว่าการเรียนรู้ด้วยตนเองเพียงลำพัง
แต่กว่าจะสำเร็จการเป็นกระบวนกรของโครงการเน็ตป๊าม้า ครูเก้าและครูเบียร์บี๋จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนทั้งหมด 3 ขั้นตอน ตั้งแต่เรียนหลักสูตรเน็ตป๊าม้าออนไลน์ทั้ง 6 บทให้จบเพื่อมีความรู้ตั้งต้น และหลังจากนั้นจึงสมัครเข้าร่วมการฝึกฝนเป็นกระบวนกร โดยต้องผ่านการอบรม และฝึกปฏิบัติจริงโดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากศิริราชพยาบาลคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำแนะนำและให้คะแนน อีกทั้งยังมีการสอบเพื่อสำเร็จการฝึกฝนนี้ มากไปกว่านั้น ครูเก้าและครูเบียร์บี๋ ได้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยทำการวิจัยของ ศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล โดยทำการจัดกลุ่มให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองอาสาจากช่วงชั้นที่ 2 เพื่อให้คำแนะนำเทคนิคการเลี้ยงลูกเชิงบวก
❤️“พ่อแม่เปลี่ยน ลูกเปลี่ยน” นำพาหลักสูตรเน็ตป๊าม้าเข้าสู่ครอบครัว
สำหรับกลุ่มผู้ปกครองที่ครูเก้าและครูเบียร์บี๋ดูแลนั้น เมื่อจบกระบวนการ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกๆ เพราะว่าในกระบวนการตลอด 6 สัปดาห์ ผู้ปกครองจะได้เรียนรู้การปรับพฤติกรรมเชิงบวกในแต่ละปัญหา เช่น เทคนิคการชม เทคนิคการให้รางวัล เทคนิคการลงโทษ และเทคนิคในการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งทุกครั้งที่พบกัน ก็จะมีแบบฝึกหัด และการบ้านกลับไปให้ผู้ปกครองได้ทดลองทำพร้อมบันทึกผล เช่น ให้ลองเขียนสิ่งดีๆ เกี่ยวกับลูก ให้บันทึกผลว่าหลังจากลองชื่นชมลูกอย่างถูกต้องแล้วเกิดอะไรขึ้น หลังจากนั้นจึงกลับมาแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงปรึกษาหาทางออกร่วมกันในกลุ่ม
โดยในการจัดกิจกรรม “เพลินเรียน เพียรรู้ คู่เน็ตป๊าม้า” เพื่อการวิจัยนี้ จะมีผู้ปกครองอาสาทั้งหมด 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะเรียนรู้กระบวนการหลักสูตรเน็ตป๊าม้า โดยมีครูทั้งสองท่านเป็นกระบวนกรคอยดูแลการพบปะแต่ละครั้ง และอีกกลุ่มจะไม่ได้เรียนรู้หลักสูตรเน็ตป๊าม้า แต่สามารถหาความรู้ในการเลี้ยงลูกจากแหล่งความรู้อื่นๆ ได้ โดยในการทำกลุ่มแต่ละครั้งจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยเป็นผู้ประเมินและให้คำแนะนำเสมอ ซึ่งสำหรับการทำกลุ่มนี้ได้รับเกียรติจาก พญ. รศ.พญ. สุพร อภินันทเวช เป็นผู้ให้คำปรึกษา และมีครั้งหนึ่งที่ ศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล มาชมการจัดกลุ่มของครูเก้า ครูเบียร์บี๋ด้วยตนเองอีกด้วย
ผลการวิจัยพบว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ผู้ปกครองที่ได้เรียนรู้หลักสูตรเน็ตป๊าม้าและได้รับการดูแลจากกระบวนกรทั้งในด้านวิธีการเลี้ยงลูกและมุมมองต่อตนเอง และลูกของผู้ปกครอง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้าน self esteem และการกำกับตนเองของลูก กล่าวคือเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งแก่พ่อแม่และเด็กๆ
การวัดผลนี้ใช้แบบประเมินจากศิริราชพยาบาลโดยตรง และเป็นการวัดผลที่วัดจากทั้งสองทาง คือ ทั้งพ่อแม่และลูก ไม่ว่าจะเป็นแบบสำรวจการเลี้ยงดูเชิงบวกของพ่อแม่ แบบสำรวจอารมณ์และพฤติกรรมก่อน-หลังของเด็กๆ เพราะในการปรับพฤติกรรมลูกบางครั้ง ทุกอย่างก็เริ่มต้นที่การเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เปลี่ยน ลูกก็เปลี่ยนด้วย
❤️ “รางวัลกระบวนกรเน็ตป๊าม้าดีเด่น” รางวัลของความทุ่มเท
เมื่อถามครูเก้าและครูเบียร์บี๋ว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้รับโล่รางวัลจากโครงการ ทั้งสองคนตอบด้วยแววตาสดใสและรอยยิ้มกว้าง
“รู้สึกภูมิใจมาก และ รู้สึกตื่นเต้นมากๆ เราทำไปทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการรางวัลใดๆ แต่เรากลับถูกมองเห็นโดยอาจารย์และทีม ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับโอกาสช่วยงานวิจัยเลยด้วยซ้ำ แต่ก็ได้รับมา รู้สึกภูมิใจจริงๆ ค่ะ”
ครูเก้า และ ครูเบียร์บี๋ได้รับรางวัลกระบวนกรเน็ตป๊าม้าดีเด่น Excellent Net PAMA Facilitator Award ประเภท Excellent Teamwork ซึ่งเป็นรางวัลที่ช่วยแสดงถึงการทำงานเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมและมีประสิทธิภาพ ครูเก้าได้เล่าว่า เบื้องหลังการนำกลุ่มการปรึกษาที่ดีนั้น เต็มไปด้วยการเตรียมแผนการสอน เตรียมสื่อ ให้เหมาะกับเหล่าผู้ปกครองของโรงเรียนเพลินพัฒนา และยังต้องซ้อมการสอนและนำกิจกรรมล่วงหน้า ซึ่งทักษะเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคุณครูเพลินพัฒนา ครูทั้งสองขอบคุณโรงเรียนที่ได้มอบโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะเหล่านี้ล่วงหน้าไว้แล้ว และกว่าจะกลายเป็นกระบวนกรที่ outstanding หรือโดดเด่นออกมาในบรรดาผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 50 คน เหล่าอาจารย์ในโครงการไม่ได้สังเกตแค่ตัวกระบวนการ แต่ยังสังเกตแม้กระทั่งสภาพแวดล้อมในการจัดกิจกรรมกลุ่มว่าเหมาะสมต่อการเรียนรู้หรือไม่
“อาจารย์จะเดินฟังแล้วให้คะแนน อาจารย์ละเอียดมาก ดูทุกอย่าง ทั้งการพูด ท่าทางทุกอย่างของเรา เป็นการฝึกที่จริงจังมาก รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นนิสิตอีกครั้งเลย”
การเข้าโครงการในครั้งนี้จึงเป็นดั่งการขัดเกลาทักษะของครูเก้าและครูเบียร์บี๋ให้แหลมคมมากขึ้น
❤️ “ความรู้ดี ต้องแบ่งปัน” ภาพฝันของกระบวนกรรุ่นใหม่
แน่นอนว่าโรงเรียนเพลินพัฒนามี “ห้องเรียนพ่อแม่” ซึ่งจัดเป็นประจำอยู่แล้วเพื่อให้ความรู้กับผู้ปกครอง โดยเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ กระทบวงกว้าง แต่หัวใจของหลักสูตรป๊าม้า คือ การฝึกลงมือทำจนเกิดเป็นทักษะเชิงบวก กล่าวได้ว่า หลักสูตรเน็ตป๊าม้าเป็นเสมือน “ยาสามัญประจำบ้าน” ในด้านการเลี้ยงดูลูกเชิงบวกที่ใช้งานง่ายและเกิดผลจริงในระดับครอบครัว ส่วนห้องเรียนพ่อแม่จะเป็นเสมือน “วัคซีนภูมิคุ้มกันหมู่” ที่เป็นองค์ความรู้ใหญ่ๆ ในเรื่องที่สำคัญ หรือ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กในระดับสังคม ครูเก้าและครูเบียร์บี๋กล่าวว่า เราสามารถจัดห้องเรียนพ่อแม่ไปพร้อมกันกับหลักสูตรเน็ตป๊าม้าได้ เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถาบันครอบครัวในทุกระดับ
เมื่อถามถึงภาพฝันและการต่อยอดในอนาคต คุณครูทั้งสองคนหวังที่จะเห็นผู้ปกครองในชุมชนเพลินพัฒนาช่วยเหลือกันด้วยการแบ่งปันความรู้และเทคนิคที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรเน็ตป๊าม้า พากันรู้ พากันเรียน รวมถึงจะยังคงจะทำโมเดลกลุ่มให้คำปรึกษาลักษณะนี้ต่อไป และนำเนื้อหาบางส่วนมาปรับใช้ในการสอนในห้องเรียนแก่คุณครูน้องใหม่ ทำให้เกิดเป็นการสอนเชิงบวก ที่จะช่วยส่งเสริมการดูแลเด็กเชิงบวกให้ครบวงจรมากขึ้นไปอีก เพื่อให้เด็กๆ ได้รับการดูแลที่ดีอย่างต่อเนื่องทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน
❤️เสียงสะท้อนจากผู้ปกครองอาสาที่เข้าร่วม “เพลินเรียน เพียรรู้ คู่เน็ตป๊าม้า”
“ชอบหลายเรื่องเลย เช่นเรื่องของการใช้คำพูด เมื่อก่อนเราเคยชินกับการสั่งอย่างเดียว และเราได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีกลับมา แต่หลังจากเรียน เราแค่เปลี่ยนคำนิดเดียว ความรู้สึกลูกของเราเปลี่ยนไปเลย ทำให้เราได้รับความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นทันที”
“เราคิดมาตลอดว่าการต่อรอง การติดสินบน การให้รางวัล มันไม่ดีทั้งนั้น แต่เราได้เรียนรู้ว่ามันไม่เหมือนกัน ถ้าเราใช้ให้ถูก ลูกจะอยากทำสิ่งดีๆ ด้วยตนเอง โดยที่เราไม่ต้องบังคับเลย”
“ตอนนี้ทุกวัน ลูกมีเรื่องราว เรื่องเล่ามาเล่าเยอะแยะไปหมด เขาอยากคุยกับเรา แม่เป็น safe zone ของเรา ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกดีขึ้นมากๆ”
“เราเคยรู้สึกหาทางออกไม่ได้ ไม่รู้จะไปต่ออย่างไรกับลูก แต่การได้เรียนรู้บทเรียนไปทีละขั้น ทีละเรื่อง มันทำให้เรารู้สึกว่ามันยังไปได้ ค่อยๆ แก้ไปทีละเรื่อง การกลับไปทำการบ้านแล้วกลับมาแบ่งปันกัน ทำให้เรารู้สึกว่ามีคนเข้าใจเรา การมีพื้นที่แบ่งปันเรื่องราวมันรู้สึกดี”
“เราได้เห็นตัวเองมากขึ้น ได้เห็นว่าเราเคยรับมือต่อเรื่องๆ หนึ่งแบบไหน และตอนนี้เราเปลี่ยนไปอย่างไร”
“ก่อนเข้าร่วม เคยคิดว่าตัวเองก็ได้รับความรู้มาเยอะ ผ่านการอบรมมามากพอสมควร แต่หลังเข้าโครงการ การได้ลงมือทำ การได้กลับไปฝึกฝน ทำให้เราทำได้ดีมากขึ้นมากขึ้นไปอีก”
“บ้านทุกบ้านก็มีปัญหาของตัวเอง แต่เราได้มีโอกาสมาหาทางออกร่วมกัน ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบ้าน”
“เราได้กลับมาใส่ใจเรื่องพื้นฐานที่เราอาจเคยมองข้าม ได้เรียนรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเชิงบวกที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อเรานำไปใช้จริง เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งตัวเราและลูกของเรา”
————–
สุดท้ายนี้ทางโรงเรียนเพลินพัฒนาขอขอบคุณโครงการดีๆ อย่าง เน็ตป๊าม้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้สร้างสรรค์แหล่งความรู้ดีๆ แก่ผู้ปกครองทั่วประเทศไทย และเปิดพื้นที่ให้กับคุณครูของเราได้ฝึกฝนตัวเอง เพื่อกลับมาช่วยเหลือผู้ปกครองและเพื่อนครูในเพลินพัฒนา เพื่อการเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีความสุขโดยเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน
หากผู้ปกครองท่านใดสนใจที่จะเรียนรู้บทเรียนจากหลักสูตรเน็ตป๊าม้า
สามารถเข้าไปได้ที่
เว็บไซต์: https://www.netpama.com/
เพจ facebook: https://www.facebook.com/netpama.101
อ้างอิง: ครูเก้าและครูเบียร์บี๋รับเกียรติบัตรเน็ตป๊าม้า
https://www.facebook.com/netpama.101/posts/601840952131486
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 6 มีนาคม 2567