การออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตผ่านงานภาคสนาม และ Day Trip
อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของคุณครูเพลินพัฒนา คือการจัดกิจกรรมภาคสนามให้กับนักเรียนที่มีเป้าหมายเชื่อมการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่โลกจริง
ในภาคเรียนจิตตะนี้ เด็กๆ ในช่วงชั้นอนุบาลจะได้เรียนรู้ใกล้ชิดกับธรรมชาติรอบตัว เพื่อให้เหล่านักสำรวจตัวน้อยได้เข้าใจและเห็นคุณค่าของธรรมชาติที่มนุษย์พึ่งพาอาศัย ซึ่งเป็นการเรียนการสอนแนวบูรณาการ เพื่อเชื่อมโยงเรื่องธรรมชาติไปสู่สิ่งต่างๆ รอบตัว ตามบทเรียนที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ และจำเป็นต้องได้เรียนรู้จากสถานที่จริง ได้สัมผัสสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการครบกระบวนการ และกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับเด็ก จากการได้ไปเรียนรู้ประสบการณ์ตรง
เริ่มต้นการเรียนรู้ที่ G Farm at Sam Khok
แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งแนวคิดนี้เกิดมาจาก คุณณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ มีความสนใจและน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นแนวทางในการสร้าง แบ่งพื้นที่รอบบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในส่วนของร้านอาหาร แปลงนา บ่อปลา เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่าที่ฟาร์มแห่งนี้มีพืชชนิดไหนบ้าง แล้วพืชแต่ละชนิดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านใดได้บ้าง เด็กๆจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการสังเกต สำรวจ สัมผัส ต่อยอดจากสิ่งที่เด็กๆได้เรียนรู้มาตลอดทั้ง 5 สัปดาห์
โดยในการสำรวจพื้นที่แห่งนี้จะมีฐานกิจกรรมต่างๆ 3 ฐาน ได้แก่
ฐานที่ 1 :เรียนรู้ประโยชน์ของพืช ดิน การปรุงดิน และการปลูกพืชผักสวนครัว (กะเพรา ผักชีฝรั่ง ตะไคร้)
ฐานที่ 2 : เรียนรู้ประโยชน์ของพืชที่มีต่อสัตว์ที่อยู่ในดิน (ไส้เดือน ปูนา กบ หอย เต่า ปลาดุกนา ปลาช่อน)
ฐานที่ 3 : เรียนรู้ประโยชน์ของพืชที่มีต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม (เป็ด ไก่ ห่าน แพะ กระต่าย หมู)
และแน่นอนว่าการมาภาคสนามของเด็กๆ ก็ต้องมีของหวานแสนแร่อยที่ร่วมมือกันทำด้วยความตั้งใจ ของหวายในภาคสนามครั้งนี้ คือ ขนมบัวลอยไข่หวาน เด็กๆ ได้ช่วยกันเก็บไข่เป็ดเตรียมทำขนมในช่วงบ่าย นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องข้าว และ ทดลองปลูกข้าวในแปลงนาสาธิต ทำกิจกรรมลุยๆ อย่างการตะลุยบ่อโคลน และทำกิจกรรมปีนป่าย เล่นสนุกให้สมวัยอีกด้วย
การออกภาคสนามของน้องอนุบาล ยังคงเน้นการได้เล่นสนุก ควบคู่ไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และในครั้งนี้เด็กๆ ได้สนุกกับธรรมชาติรอบตัว ซึ่งจะสร้างหัวใจที่รู้คุณค่าของสรรพสิ่งต่างๆ ที่จะอยู่คู่กับตัวของเขาไปจนเติบใหญ่กว่านี้ในอนาคต
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2566