80 ปี วรรณกรรมเจ้าชายน้อย

…ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1943 วรรณกรรมเรื่อง “The Little Prince – เจ้าชายน้อย” ของอองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี ถูกตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก และนับแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้าชายน้อยก็ได้กลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วทุกมุมโลก

ปี ค.ศ.2023 นี้ วรรณกรรมเจ้าชายน้อยมีอายุครบ 80 ปี เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวาระดังกล่าว ช่วงชั้นมัธยมโดยหน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษาและหน่วยวิชาแสนภาษา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนให้กับนักเรียนมัธยม

โดยกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนเป็นการร่วมกันของวิชาเพิ่มเติมระดับชั้นมัธยมต้น 3 วิชา คือ

นักเรียน ชั้น 7 วิชารำไทยร่วมสมัย และวิชาโลกของนิทาน ร่วมกันออกแบบการแสดงชุดเจ้าชายน้อย โดยเป็นการผสานองค์ความรู้จากทั้งสองวิชาเข้าด้วยกัน

นักเรียน ชั้น 8 วิชาท่องโลกวรรณกรรม เป็นผู้ออกแบบฉากต่างๆ ที่ใช้ประกอบการแสดง โดยมีทีมครูแสนภาษาร่วมออกแบบเสียงและเพลงประกอบการแสดง

นักเรียน ชั้น 9 วิชาปกรณัมในภาษาและภาพยนตร์ ออกแบบบอร์ดนิทรรศการ 80 ปี เจ้าชายน้อย โดยในบอร์ดนิทรรศการเป็นการนำเสนอเจ้าชายน้อยที่ท่องไปในดวงดาวต่างๆ และมีการ์ดเขียนสะท้อนตนเองจากการอ่านวรรณกรรมเรื่องเจ้าชายน้อย

เช้าวันศุกร์ที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา การแสดงชุดเจ้าชายน้อยของนักเรียนมัธยมต้น ได้ปรากฏสู่สายตาของนักเรียนและคุณครูมัธยมที่ตั้งใจรับชมท่ามกลางสายลมหนาวอ่อนๆ เป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจของทุกคน

โดยก่อนเริ่มการแสดงเจ้าชายน้อย นักเรียนและคุณครูที่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ ได้ผลัดเปลี่ยนกันมาบอกเล่าความประทับใจหรือสิ่งได้เรียนรู้จากวรรณกรรมเรื่องนี้

ต้นไม้และแพรว ชั้น 8 ได้พูดถึงวรรณกรรมเจ้าชายน้อยไว้ว่า
“วรรณกรรมเจ้าชายน้อยให้แง่คิดเกี่ยวกับความสำคัญของชีวิตว่า ชีวิตนั้นสำคัญมาก ทั้งของเราและของสิ่งต่างๆ และการที่เราได้เติบโตอาจทำให้ความสุขของเราค่อยๆลดลง ทำให้เราต้องใช้ชีวิตในช่วงเวลานี้ให้ได้มากที่สุด”

พราว นักเรียนชั้น 10 ตั้งคำถามต่อวรรณกรรมเรื่องนี้ไว้ว่า
“ทำไม? เจ้าชายน้อยวรรณกรรมเยาวชนที่ใครหลายๆ คนอ่านแล้วรู้สึกงงมากๆ ถึงได้รับความนิยม เมื่อได้กลับมาอ่านอีกครั้ง พราวได้คำตอบของคำถามนี้ว่า ช่วงเวลาที่เราได้อ่านเจ้าชายน้อย ทำให้เรามีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของเจ้าชายน้อยเเตกต่างกันไป”

ครูไอซ์ ครูแนะแนว พูดถึงเจ้าชายน้อย โดยเลือกพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับ ความหมายของเพื่อน โดยยกข้อความบางตอนมาว่า
“การได้มีเพื่อนที่ดี และการได้เป็นเพื่อนที่ดี ถึงอาจจะมีเเม้เพียงคนเดียว ก็อาจเป็นความอบอุ่นใจ และความมั่นคงที่มีต่อกัน”

ใบข้าว ชั้น 9 พูดถึงวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า
“once in your life I think you should read this book no matter what age you are this book will show you the deeper meaning of life and if somebody say or claim that this is a book only for children or child literature I would disagree because this book shows concepts that is so deep even for adults”

สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น มีกิจกรรมตอบปัญหา 80 ปี เจ้าชายน้อย ทั้งในระดับชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย โดยเป็นการดึงเนื้อหาและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเจ้าชายน้อยมาเป็นชุดคำถาม และยังมีการประกวดวาดภาพจากวรรณกรรมเจ้าชายน้อยที่ประทับใจด้วย

วรรณกรรมเจ้าชายน้อยยังคงเปิดโอกาสในเราทุกคนที่ได้อ่านได้ตีความต่อไปอย่างไม่มีที่สุด

ดังที่นักเรียนหลายๆ คนได้เขียนถึงเจ้าชายน้อยตามทัศนะของตนเองไว้…

ไอจัง นักเรียนชั้น 9 ได้เขียนถึงเจ้าชายน้อยเอาไว้ว่า …
“เจ้าชายน้อยคือ ตัวตนของเราในสมัยเด็กที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและความจริงใจ มีความเป็นมิตร ชอบผจญภัย ทำให้เขามองโลกในอีกมุมหนึ่งเสมอ ค้นพบสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่แปลกใจอยู่เสมอ”

ตีตี้ นักเรียนชั้น 9 ได้เขียนถึงเจ้าชายน้อยเอาไว้ว่า …
“เจ้าชายน้อยเป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นความเป็นเด็ก ที่มีทั้งความอยากรู้ ความสงสัย แต่ในขณะเดียวกันเด็กคนนี้ก็กำลังเติบโตอยู่เหมือนกัน เพราะสิ่งต่างๆ ที่เขาได้เจอก็ทำให้เขาได้เรียนรู้มากขึ้น”

ความพิเศษของวรรณกรรมเรื่อง เจ้าชายน้อย คือการที่ไม่ว่าผู้อ่านจะอยู่ในวัยไหน ก็ยังสามารถเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างได้จากเรื่องราวนี้เสมอ และเราได้เห็นแล้วว่าเด็กๆ ชั้นมัธยมเองก็ได้รับสิ่งดีๆ จากการเรียนรู้แบบบูรณาการร่วมกันในหลายหน่วยวิชา และได้ส่งต่อการเรียนรู้นี้สู่เพื่อนๆ พี่ๆ ชั้นอื่นได้อย่างสมบูรณ์

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567