เรียนรู้โลกมุมใหม่ผ่าน “นักเรียนแลกเปลี่ยน”

“การไปเรียนแลกเปลี่ยน ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด”

คำพูดนี้ ไม่เกินจริง เมื่อเราได้ฟังจากรุ่นพี่นักเรียนแลกเปลี่ยนที่ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การไปเรียนมัธยมที่ต่างประเทศระยะเวลาเกือบ 1 ปี ครั้งนี้เป็นพี่ๆ จากประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และ นิวซีแลนด์ โดยผู้ที่ร่วมมาแบ่งปันกับรุ่นน้องในครั้งนี้ ได้แก่ พี่แบ่งปัน พี่นต พี่นีร พี่เก็ท นักเรียนเพลินพัฒนารุ่นที่ 14 และพี่ซินซิน นักเรียนเพลินพัฒนารุ่นที่ 15 ทุกคนได้แบ่งปันเรื่องราว ทั้งความประทับใจ และอุปสรรคปัญหา รวมถึงบทเรียนที่ได้เรียนรู้ตลอดการใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน ซึ่งเราสามารถถอดบทเรียนที่น่าสนใจจากพี่ๆ ได้หลากหลายมุมเลยทีเดียว

การเตรียมตัว เตรียมความพร้อม

เมื่อคิดจะไปเรียนต่างประเทศในโครงการแลกเปลี่ยน

การเตรียมตัวนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงค้นคว้าข้อมูลก่อนเข้าโครงการ และ ช่วงเตรียมตัวหลังผ่านโครงการ

  • ช่วงค้นคว้าข้อมูลก่อนเข้าโครงการ

ให้เริ่มต้นที่การตรวจสอบความพร้อมของตนเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทางด้านเวลา ครอบครัว การเงิน ภาษา และความตั้งใจที่พร้อมจะเผชิญโลกกว้าง ว่าทุกอย่างพร้อมและเอื้ออำนวยแก่การไปต่างประเทศในครั้งนี้ เพราะว่าการไปเรียนแลกเปลี่ยนนั้นใช้เวลาหลายเดือนจนถึง 1 ปี ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวให้ดีก่อนไป และต้องทำการค้นคว้าว่ามีโครงการหรือเอเจนซี่ใดบ้างที่เปิดรับสมัคร อีกทั้งในแต่ละโครงการ จะมีประเทศที่ให้ไปได้ไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายจึงแตกต่างกันไปด้วย รวมถึงควรหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเทศที่มีความสนใจจะไป ทั้งสภาพแวดล้อม ผู้คน วัฒนธรรม พี่ๆ เหล่านี้มีทั้งคนที่ไปผ่านโครงการ และไปด้วยตนเอง เช่น พี่แบ่งปัน คือการไปแบบส่วนตัว โดยมีญาติที่อาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นผู้รับรอง

สิ่งที่พี่ๆ นักเรียนแลกเปลี่ยนทุกคนเน้นย้ำกับผู้ฟังในการบรรยายนี้คือ “ภาษาสำคัญมากๆ”

หลายโครงการที่เปิดรับสมัคร นักเรียนจะต้องผ่านเกณฑ์วัดระดับภาษาที่กำหนดไว้จึงจะสมัครได้ และแม้เราจะรู้ภาษาอังกฤษ แต่หลายประเทศใช้ภาษาประจำชาติของตนเองเป็นหลัก เช่น ประเทศในแถบยุโรปเหล่านี้ที่พี่ๆ ไป  ทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี ต่างก็ใช้ภาษาของตนเอง ดังนั้นหากเราไม่ได้ภาษาที่ 3 เลย จะทำให้การใช้ชีวิตที่นั่นเป็นเรื่องยากมากขึ้น พี่นต ผู้ซึ่งไปประเทศอิตาลีได้ให้การยืนยันในเรื่องนี้ว่า ถึงแม้เขาจะใช้ภาษาอังกฤษเมื่ออยู่ที่อิตาลี แต่น้อยคนมากในประเทศที่จะใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นการเตรียมตัวด้านภาษาจึงสำคัญมาก

พี่ๆ ได้แนะนำให้เรียนรู้เพิ่ม หรือใช้แอพเรียนภาษาเพื่อเตรียมตัวในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เรื่องของเอกสารก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญในการเดินทางข้ามประเทศ หากเราไปเรียนต่างประเทศโดยผ่านเอเจนซี่ ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลส่วนนี้ให้ แต่หากไปด้วยตนเอง ก็จำเป็นต้องดูแลจัดการเอกสารให้ถูกต้องเรียบร้อยด้วยตนเอง หลังจากนั้น เมื่อเราสมัครและผ่านการสัมภาษณ์ รวมถึงจัดการเอกสารเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ก็เตรียมตัวบินได้เลย

  • ช่วงเตรียมตัวหลังผ่านโครงการ

หลังผ่านการทดสอบและสัมภาษณ์ นักเรียนจะได้รับเอกสารต่างๆ เช่น กำหนดการบิน รายละเอียดโรงเรียน รวมถึงข้อมูล “Host Family” หรือครอบครัวอุปถัมภ์ ที่นักเรียนแลกเปลี่ยนจะต้องไปอาศัยอยู่ด้วยตลอดปี ในบางราย โฮสต์อาจจะทำการติดต่อมาผ่านทางโซเชียลมีเดียก่อน เพื่อทำความรู้จักให้มากขึ้น แต่โดยปกติแล้วจะมีการแนะนำตัวผ่านทางอีเมล

หลังจากนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องเตรียมคือ เอกสารจำเป็นสำหรับการเดินทางข้ามประเทศต่างๆ และเงิน pocket money ที่เราจะต้องพกติดตัวเพื่อใช้จ่ายส่วนตัวตลอดการเดินทาง พี่ๆ บางคนจำเป็นต้องออกเดินทางคนเดียว จึงให้คำแนะนำว่าพยายามมีสัมภาระให้น้อยที่สุด เพราะถ้าหากนำไปเยอะ อาจดูแลได้ไม่หมด และเสี่ยงต่อการสูญหายได้ และสิ่งจำเป็นอีกส่วนหนึ่ง นักเรียนจะต้องเตรียมข้าวของเครื่องใช้

ขอบคุณภาพจาก Dreamdestination.in.th

ซึ่งพี่ซินซินได้ให้คำแนะนำว่า หากเป็นไปได้ให้นำอุปกรณ์พกพาต่างๆ ที่ช่วยให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้นติดตัวไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น “ที่ฉีดชำระแบบพกพา” เนื่องจากในหลายประเทศไม่ได้มีการใช้สายชำระในห้องน้ำแบบประเทศไทย ดังนั้นการเข้าห้องน้ำอาจเป็นเรื่องใหญ่ หากเราไม่เตรียมตัว

ขอบคุณภาพจาก pantip

หลากประสบการณ์ดีและร้าย เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน

พี่ๆ ศิษย์เก่าแต่ละคน ทยอยเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนของตนเองในแต่ละประเทศ สิ่งหนึ่งที่พี่ๆ พูดเหมือนกัน คือ การใช้ชีวิตที่นั่น ไม่ง่ายเลย ในหลายๆ ครั้งต้องพบเจอความลำบาก หรือ พบเจออุปสรรคปัญหา ในบ้านเมืองที่ไม่คุ้นเคย การไปใช้ชีวิตในระยะเวลาเกือบปี เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเด็กวัยรุ่นอย่างพวกเขามาก แต่ความท้าทายนั้นกลับส่งผลดีอย่างไม่น่าเชื่อในภายหลัง

  • ด้านครอบครัว Host Family

เด็กแลกเปลี่ยนทุกคนจะได้ครอบครัวโฮสต์อย่างน้อย 1 ครอบครัวเพื่อรองรับการใช้ชีวิตอยู่ที่โน่น เสมือนเป็นผู้ปกครอง หลายครอบครัวจะมีลูกหลานวัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกับเราให้ได้ผูกมิตรเป็นเสมือนพี่น้อง และเพื่อนร่วมชายคาที่เราจะได้แบ่งปันทุกข์สุขด้วย แม้ว่าโฮสต์จะมีบทบาทในการดูแลเรา แต่พี่นีรได้ให้คำแนะนำในส่วนนี้ว่า เราเองก็ควรเป็นคนที่ดูแลครอบครัวโฮสต์ด้วย

เราควรช่วยโฮสต์ดูแลทำความสะอาดบ้าน ช่วยทำอาหารหากทำได้ เป็นเพื่อนเล่นดูแลน้องๆ ในบ้านได้ถ้ามี ปฏิบัติตัวเป็นเสมือนลูกที่น่ารัก แล้วเราจะได้ประสบการณ์ดีๆ ที่น่าจดจำรวมถึงอาจได้ครอบครัวที่ 2 ที่เราสามารถติดต่อกันไปชั่วชีวิต 

ถึงกระนั้นก็มีโอกาสที่นักเรียนแลกเปลี่ยนจะเจอโฮสต์ที่ไม่ดี เช่น โฮสต์ที่ไม่ดูแล เอาใจใส่เราเท่าที่ควร นักเรียนทุกคนมีสิทธิในการติดต่อเจ้าหน้าที่โครงการเพื่อขอเปลี่ยนโฮสต์ แต่ในขณะเดียวกันโฮสต์เองก็มีสิทธิขอยกเลิกการดูแลเราเช่นกัน หากเราประพฤติตัวไม่ดี หรือบางครั้งการเปลี่ยนโฮสต์อาจมาจากความไม่สะดวกในการเดินทาง หรือสภาพความเป็นอยู่โดยรอบ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่กับครอบครัวใด เราควรพยายามมีปฏิสัมพันธ์ มีส่วนร่วมกับครอบครัวที่เราได้ไปอยู่ให้มากที่สุด นี่เป็นคำแนะนำจากพี่ๆ ทุกคนที่ไปแลกเปลี่ยนมา

  • ด้านอาหารการกิน

แม้มื้ออาหารแบบชาวตะวันจะมีมากถึง 6 มื้อ แต่บางครอบครัวกลับกินอาหารมื้อหลักไม่ถึง 3 มื้อ พี่เก็ทเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะอาหารที่กินเป็นประจำนั้นค่อนข้างหนักท้อง จึงทำให้ไม่หิวเมื่อถึงมื้อหลักถัดไป และเป็นที่รู้กันดีว่าชาวต่างชาตินิยมอาหารประเภทขนมปัง นม เนย ไข่ ซึ่งต่างจากคนไทย ดังนั้นการปรับตัวให้เป็นผู้ที่อยู่ง่าย กินง่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็น การปรับตัวเรื่องการกินอาหารให้เข้ากับครอบครัวโฮสต์ที่อยู่ด้วยก็สำคัญ บางครอบครัวรักสุขภาพ เราก็จะได้กินอาหารรักสุขภาพไปด้วย แต่ถึงกระนั้นโฮสต์ส่วนใหญ่จะใส่ใจว่าเด็กแลกเปลี่ยนสามารถกินอะไรได้บ้าง หลายครั้งที่โฮสต์หัดทำอาหารไทยสไตล์ฝรั่งเตรียมไว้สำหรับการมาถึงของเราโดยเฉพาะ

พี่เก็ทได้ให้คำแนะนำในส่วนนี้ไว้ว่า

เราควรหัดทำอาหารไทยอย่างน้อย 2 – 3 เมนูก่อนไปต่างประเทศ

เพื่อทำให้โฮสต์ หรือ เพื่อนต่างชาติของเราได้ชิม เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรม soft power ด้านอาหารไทยไปในตัว

  • ด้านการเดินทางคมนาคม

แต่ละประเทศมีระบบคมนาคมที่แตกต่างกันออกไป สำหรับพี่ๆ ศิษย์เก่า พวกเขาเคยเจอแม้กระทั่งเหตุการณ์นั่งรถเลยไปอีกเมือง เป็นเหตุให้ต้องหาวิธีเดินทางกลับมาเอง หรือ โรงเรียนที่เรียนนั้นอยู่บนภูเขา ทำให้การเดินทางขึ้นและลงมีความลำบากอยู่มาก คำแนะนำในเรื่องการเดินทางคือ ควรศึกษาให้ดีว่าในเมืองที่อาศัยอยู่ ผู้คนเดินทางกันอย่างไร และจงอย่าอายที่จะถาม หรือขอความช่วยเหลือจากคนในพื้นที่หากจำเป็น สิ่งสำคัญคือ ต้องเดินทางคนเดียวให้เป็น นี่เป็นสิ่งที่พี่ๆ แนะนำ

  • ด้านการเรียน

เนื่องจากเรามาเรียนในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน บางครั้งเราอาจพบเหตุการณ์แบบเดียวกันกับพี่ๆ บางคน คือ พบว่าเราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนคนเดียวของโรงเรียน ถือเป็นความความโดดเดี่ยวที่ไม่ได้ให้ความทุกข์เสมอไป เพราะอีกแง่มุมหนึ่ง ถือเป็นความโดดเด่นที่สามารถกลายเป็นข้อดีให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนนักเรียนในท้องถิ่นได้ ความท้าทายอย่างหนึ่งในด้านการเรียนเมื่อเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน คือ ข้อจำกัดในด้านภาษา เพราะเราจำเป็นต้องเรียนวิชาต่างๆ ในภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาประจำประเทศนั้นๆ ดังนั้นหากเราไม่เก่งภาษาที่จำเป็นต้องใช้ในระดับหนึ่งแล้ว อาจทำให้การเรียนมีความลำบากมากขึ้นสักหน่อย

แม้พี่ๆ ทุกคนอาจจะรู้สึกท้อบ้างกับการเรียน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้พบความสนุกจากวิชาเรียนที่ต่างจากของไทย แปลกใหม่และตอบโจทย์ความสนใจของเหล่าพี่ๆ นักเรียนแลกเปลี่ยนจริงๆ อย่างเช่น พี่นีร ที่มีโอกาสได้เรียนวิชาศิลปะ ที่ไม่ใช่แค่เพียงการวาดรูปเท่านั้น แต่กระบวนการสอน เริ่มต้นตั้งแต่การค้นคว้า ทำความเข้าใจ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อสร้างชิ้นงาน กว่าจะออกมาเป็นผลงาน 1 ชิ้น จึงเกิดเป็นคุณค่าและสะท้อนความตั้งใจ ใส่ใจของศิลปินตั้งแต่ต้นจนจบ และคะแนนที่อาจารย์ให้ ก็เป็นการให้คะแนนจากกระบวนการตั้งแต่การค้นคว้าเลยทีเดียว

เมื่อทบทวนกระบวนการนี้เราจะพบความคุ้นเคยอย่างน่าประหลาด “ครูนา” หัวหน้าโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ได้กล่าวว่า แท้จริงแล้วกระบวนนี้ก็คือ กระบวนการในการทำโครงงาน PBL ของนักเรียนเพลินพัฒนานั่นเอง ดังนั้นการที่เราได้มีโอกาสฝึกทำ PBL จะช่วยเราอย่างมากในการไปเรียนต่างประเทศด้วย

หรืออย่างพี่ซินซิน ที่เป็นเด็กที่สนใจด้านดนตรี  และด้านศิลปะ แต่กลับต้องไปเรียนสายวิทย์ที่เยอรมัน ทำให้เจอประสบการณ์สุดหิน ที่ต้องนั่งอ่านตำราเรียนที่เป็นภาษาเยอรมันล้วนๆ  อีกทั้งยังต้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องของ coding ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถนัดเลย

“พี่ร้องไห้เรื่องภาษาบ่อยมาก” พี่ซินซินกล่าว

แต่ในท้ายที่สุดพี่ซินซินก็สามารถพาตัวเองเรียนผ่านมาจนได้ ดังนั้นหากไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน อย่างไรเสียก็จะผ่านไปได้ พี่ๆ บอกว่า เราก็แค่ต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่น ตั้งใจมากขึ้นเป็นสองเท่าแค่นั้น เพราะฉะนั้นแล้วในด้านการเรียน พี่ๆ นักเรียนแลกเปลี่ยนทุกคนได้ให้คำแนะนำที่ตรงกัน คือ

“ควรเตรียมตัวด้านภาษาไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอย่ากลัวที่จะเข้าเรียนวิชาที่แปลกใหม่ แต่น่าสนใจสำหรับเรา”

  • ด้านความสัมพันธ์ และ วัฒนธรรม

สำนวนที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” ถูกนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี เมื่อเราจำเป็นต้องอาศัยอยู่ต่างแดน พี่ๆ ได้เล่าถึงปัญหาเรื่องของการเข้าสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น พี่นตที่ออกตัวว่า เป็นคนที่มีลักษณะแบบ introvert ไม่ชอบสุงสิงกับใคร ทำให้เขาหาเพื่อนได้ยาก แต่กระนั้นเพื่อนที่พี่นตได้สานสัมพันธ์ด้วย แม้จะจำนวนน้อย แต่ก็เป็นคนที่มีความชอบในเรื่องเดียวกันและอัธยาศัยดี อย่างเช่น เจ้าของร้านบอร์ดเกมแถบที่พัก เมื่อพี่นตย้อนมองกลับไป ก็ได้ให้คำแนะนำแก่ทุกๆ คนที่เป็นชาว introvert เช่นเขาว่า ถึงอย่างไรก็ควรที่จะเข้าสังคมและหาเพื่อนไว้ อย่าเป็นคนที่ไม่อยากรู้จักใคร เพราะโอกาสที่จะมีเพื่อนต่างชาติแบบนี้อาจไม่ได้หาได้ง่ายๆ อีกแล้ว

พี่แบ่งปันเองก็ได้สนับสนุนในเรื่องนี้ว่า ให้กล้าที่จะเข้าไปทักทายเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ เพราะจะทำให้การใช้ชีวิตสนุกขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็ให้ระวังในการเลือกคบเพื่อนด้วย พยายามอยู่ให้ห่างจากเพื่อนที่จะชวนเราไปในทางไม่ดีทั้งหลายจะเป็นการดีที่สุด

ทางพี่ๆ ฝ่ายหญิงเองก็มีเรื่องเล่าเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการต้องเปลี่ยนโฮสต์ แต่ทุกอย่างก็จบลงด้วยดี หรือการที่มีเพื่อนชาวต่างชาติเซอร์ไพรส์วันเกิดด้วยการทำเค้กมาให้ แต่ไม่มีกล่องใส่จึงใช้กล่องรองเท้ายี่ห้อ Nike ใสให้ นับเป็นเรื่องราวที่ชวนให้มองเห็นความต่างที่น่าสนใจของวัฒนธรรมชาวต่างชาติกับชาวเอเชีย

ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าเราควรพยายามผูกมิตรกับชาวต่างชาติ แต่ต้องไม่ลืมว่า ผู้ประสงค์ร้ายมีอยู่ทุกที่ และเราอาจกลายเป็นเหยื่อได้หากไม่ระมัดระวัง พี่ซินซินได้เล่าประสบการณ์ราคาแพงที่กลายมาเป็นอุทาหรณ์ให้แก่น้องๆ ด้วยเรื่องราวการถูกขโมยเงินสดในช่วงเดือนแรกๆ ที่ไปอยู่ ทำให้ต้องไปสถานีตำรวจกับโฮสต์ นั่นทำให้พี่ซินซินให้คำแนะนำกับเราว่า เมื่อเราไปอยู่ต่างแดน เราจะต้องดูแลทรัพย์สิน และข้าวของของเราให้ดี ระมัดระวังตัวอยู่เสมอ

การไปอยู่ประเทศอื่นเกือบปี ส่งผลต่อบุคลิกและนิสัยของพี่ๆ ด้วยเช่นกัน เหล่านักเรียนแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่จะรับวัฒนธรรมชาวตะวันตกบางอย่างติดตัวกลับมาไม่มากก็น้อย อย่างเช่น พี่ๆ ที่ไปประเทศเยอรมัน จะได้อุปนิสัยใหม่จากความสัมพันธ์ ใกล้ชิดกับคนเยอรมันที่พูดจาตรงไปตรงมา ชัดเจน  ไม่อ้อมค้อม กลับมาด้วย ซึ่งนิสัยนี้เป็นข้อดีเมื่อนำมาปรับใช้ในบริบทสังคมไทยช่วยให้กลายเป็นผู้นำ กล้าพูด กล้าคิด กล้าลงมือทำมากขึ้น

ถ้าอยากจะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับโฮสต์ เพื่อนๆ หรือชาวต่างชาติ นักเรียนแลกเปลี่ยนก็สามารถใช้กิจกรรมที่มีให้เลือกทำมากมายในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ได้ เพราะยิ่งได้ไปเที่ยว ได้ใช้เวลาด้วยกัน ยิ่งทำให้มิตรภาพแน่นแฟ้นขึ้น และทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติมากขึ้นด้วย

เช่น พี่นต ได้เจอกลุ่มคนเล่นบอร์ดเกมที่ร้านใกล้บ้าน พี่นีรได้ไปเที่ยวสถานที่สำคัญที่กลุ่มคนรักศิลปะต้องไป เช่น บ้านของศิลปินโมเน่ต์ พี่ๆ คนที่เหลือได้เล่นสกี เดินเขา หรือแม้กระทั่งออกเดินทางในทริปข้ามประเทศ นับเป็นการเปิดประสบการณ์ และขยายมุมมองต่อโลกให้กว้างขึ้น สร้างความประทับใจไม่รู้ลืม

สารพัดความประทับใจ

ความประทับใจส่วนใหญ่ของพี่ๆ มักจะหนีไม่พ้นกิจกรรมที่น่าสนใจ ผู้คนดีๆ และความสวยงามของดินแดนตะวันตก เช่น พี่แบ่งปัน ได้มีประสบการณ์อยู่ร่วมในการแข่งขันกีฬาสีของโรงเรียน ได้เห็นว่าเพื่อนนักเรียนที่โรงเรียนนั้นแข่งขันกันอย่างจริงจัง และสนุกมากๆ

ในเวลาเดียวกัน พี่นตเอง นอกจากจะได้มีโอกาสเล่นสกี เดินเขา เรียนกีฬา kickboxing แล้ว ก็ยังได้เจอกับโฮสต์ที่น่ารัก และเจออาจารย์สายสังคมที่ได้ช่วยสนับสนุนในการเรียนและทำให้พี่นตสนใจสายสังคมมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนพี่เก็ท ก็มีความประทับใจเรื่องโฮสต์เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะได้โฮสต์ที่ค่อนข้างมีอายุแล้ว แต่ความอบอุ่นที่ได้รับนั้นมากมาย อีกทั้งพี่เก็ทได้มีโอกาสเล่นในทีมฟุตบอล แม้ว่าเมื่อเทียบกับนักบอลต่างชาติแล้ว ขนาดตัวจะสู้ไม่ได้ แต่ฝีมือนั้นไม่เป็นรองใครเลย

ทางพี่นีรนั้น ประทับใจอย่างมากกับสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังต่างๆ ที่ได้ไปแวะเวียนระหว่างไปเรียน รวมถึงธรรมชาติอันสวยงามของประเทศแถบยุโรป

และพี่ซินซิน ก็มีความประทับใจต่องานเทศกาลคริสต์มาสของต่างประเทศ ที่สวยงามและเต็มไปด้วยความน่าสนใจ รวมถึงประทับใจโฮสต์ที่ดูแลตนทั้งสองครอบครัว ที่อยู่กันคนละฝั่งของเบอร์ลิน ทำให้พี่ซินซินได้ทบทวนเรื่องประวัติศาสตร์ กับ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันของสองฝั่งกำแพงเมืองเบอร์ลินตะวันออก และตะวันตก

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการไปแลกเปลี่ยน

พี่แบ่งปัน – ประเทศนิวซีแลนด์

ผมได้เรียนรู้เรื่องภาษามากขึ้นจากการไม่กลัวที่จะพูดคุยกับคนอื่น และการไปครั้งนี้เป็นการเปิดโลกมากๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมต้องใช้ชีวิตด้วยตนเอง ผมมีอิสระ แต่ผมต้องดูแลตัวเองได้ ผมได้เจอคนเก่งๆ เยอะมาก ได้เจออาจารย์ปรัชญาที่ดี ผมได้เรียนวิชานี้ ทำให้เมื่อผมกลับมา จึงเรียนสายสังคมต่อเนื่องจนปัจจุบัน

พี่นต – ประเทศอิตาลี

มันมีหลายความรู้สึกมากๆ ในการไปแลกเปลี่ยน แต่ผมรู้สึกชอบนะ ช่วงแรกๆ ผมยังปรับตัวไม่ได้ แต่สุดท้ายมันก็กลายเป็นความทรงจำที่ดี ผมต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับคนอื่นเรียนรู้ทักษะการเอาชีวิตรอด ต้องหัดดูแลตัวเอง เรื่องภาษาเองก็ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ที่สำคัญสุด สำหรับผมคือ เราจะอยู่คนดียวยังไงให้มีสนุกและมีความสุข

พี่เก็ท – ประเทศเยอรมัน

ผมได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัว ไลฟ์สไตล์ของเราจะเปลี่ยนไปตามโฮสต์ที่เราอาศัยด้วย ผมเติบโตขึ้นจากอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่เจอ พอผ่านมาแล้ว ผมรู้สึกว่าผมโตขึ้น รู้สึกกลัวสิ่งต่างๆ น้อยลง มีความกล้ามากขึ้น

พี่นีร – ประเทศฝรั่งเศส

เห็นด้วยมากๆ กับนต ในแง่มุมที่ว่า เราจะอยู่คนเดียวยังไงให้มีความสุข เพราะหลายครั้งเราต้องทำอะไรด้วยตัวเอง จัดการเองคนเดียว พี่รู้สึกว่าเมื่อกลับมาแล้ว บุคลิกภาพของพี่เปลี่ยนไป เราโตขึ้น กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำแบบคนยุโรป แล้วนำมาปรับให้เข้ากับสังคมไทย

พี่ซินซิน – ประเทศเยอรมัน

3 เรื่องที่ทำให้รู้สึกว่าพี่โตขึ้นอย่างชัดเจนคือ หนึ่งคือเรื่องของการเรียนกับภาษา เราต้องพยายามหนักมาก เพื่อเรียนตามเพื่อนให้ทัน สองคือเหตุการณ์ที่ถูกขโมยเงิน ที่ทำให้เรียนรู้ว่าเราต้องดูแลตัวเอง รวมถึงสิ่งของของเราด้วย  และสุดท้ายคือ การที่ต้องเดินทางคนเดียว หรือตอนที่เจอความกดดันต่างๆ ทำให้เมื่อกลับมา พี่กลายเป็นคนที่แก้ปัญหาได้ดีขึ้น และมีความเป็นผู้นำมากขึ้น

สิ่งที่อยากจะฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะไปโครงการแลกเปลี่ยน

แม้ว่าพี่ๆ ทั้ง 5 คนนี้จะได้ไปเรียนคนละที่ และต่างภาษากัน แต่ประสบการณ์ที่ทุกคนได้รับนั้นไม่สามารถหาสิ่งใดมาแลกได้ นับเป็นทั้งความทรงจำดีๆ และบทเรียนที่พาให้เติบโต พี่ๆ ทุกคนได้ฝากและเน้นย้ำถึงน้องๆ เด็กเพลินพัฒนาทุกคนที่มีความสนใจอยากจะออกไปเปิดโลก 5 ข้อ ดังนี้

  1. ภาษาสำคัญที่สุด – เตรียมตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ดังนั้นจึงอยากจะย้ำอีกครั้งว่าทางที่ดีควรเตรียมตัวด้านภาษาไปให้ได้มากที่สุดเพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิต
  2. เลือกเรียนสิ่งที่สนใจ – หากมีโอกาสได้เลือกวิชาเรียน ให้เลือกเรียนวิชาแปลกใหม่ หรือวิชาที่สนใจ เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้
  3. จงเป็นคนที่กินง่าย อยู่ง่าย – เมื่อไปอยู่ต่างแดน เราต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ได้ในทุกสภาพแวดล้อม และความไม่แน่นอน รวมถึงตามบริบทวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ หากมีโอกกาส ให้ลองกินอาหารให้หลากหลาย เพราะเราอาจไม่ได้กินรสชาติดั้งเดิมแบบนี้ที่ไหนอีกเลยก็เป็นได้
  4. อย่าเอาแต่เล่นโทรศัพท์ – เมื่อมีโอกาสได้อยู่ที่ต่างประเทศ ขอให้ใช้ชีวิตให้เต็มที่ สนใจใส่ใจสิ่งที่อยู่รอบตัวให้มากกว่าสิ่งที่อยู่ในจอโทรศัพท์
  5. อย่ากลัวที่จะใช้ชีวิต – เมื่อมีโอกาสได้ออกเดินทาง หรือ มีกิจกรรมทางวัฒนธรรม อย่ากลัวที่จะเข้าร่วมกิจกรรมหรือออกเดินทาง ความกล้าจะพาเราไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาไม่ได้ในเมืองไทย และผู้คนที่อาจกลายเป็นเพื่อนตลอดชีวิต

การเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ของวัยรุ่นหนึ่งคน และช่วยสร้างเขาให้เติบโตทางจิตใจ และสามารถดูแลพึ่งพาตนเองได้อย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ และการที่ได้ฟังเหล่าพี่ๆ นักเรียนแลกเปลี่ยน ศิษย์เก่าเพลินพัฒนาในวันนี้ เสมือนเป็นโอกาสในการให้เราได้รู้ก่อน เตรียมตัวก่อน เป็นโอกาสในการตรวจสอบทักษะของตัวเองว่าในวันนี้เรายังไม่รู้ ยังไม่เป็น หรือยังไม่คล่องในเรื่องใด เพื่อที่เราจะได้พัฒนาตัวเองให้พร้อมก่อนเริ่มต้นการเดินทาง ไม่ว่าปลายทางจะเป็นที่ใด ประสบการณ์ดีๆ จะรออยู่ ณ ที่นั่นอย่างแน่นอน ขอบคุณพี่ๆ ทุกคนที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในวันนี้ และสำหรับใครที่สนใจอยากออกเดินทาง สามารถเข้ามาปรึกษาคุณครูนา คุณครูผู้ดูแลโครงการแลกเปลี่ยนของช่วงชั้นมัธยมได้ที่ช่วงชั้นมัธยม

“Studying abroad is the single most effective way of changing the way we view the world.”

-Chantal Mitchell-

บทความ โดย

ครูลูกไม้ (นารดา จันทร์ช่วง)

ผู้เชื่อว่าการศึกษา และ ภาษาคือประตูที่เปิดออกสู่ทุกหนแห่งในโลกใบใหญ่นี้

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2566