อำนาจ การเมือง และกฎหมาย กับความเป็นไปของผู้คนและสังคม

เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมานักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายซึ่งในเทอมนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดของอำนาจ การเมือง และกฎหมายที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนและสังคม ได้เดินทางไปเรียนรู้ ณ รัฐสภาและศาลฎีกา ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย เป็นสองในสามของสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าในการใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย

ที่รัฐสภา หรือสัปปายะสภาสถาน นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของรัฐสภาในฐานะสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าฝ่ายนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทย นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐสภาในการทำงานด้านนิติบัญญัติคือการตรากฎหมายต่างๆ ที่จะบังคับใช้กับคนไทย ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ทำหน้าที่สะท้อนปัญหาแทนพี่น้องประชาชนเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข นอกจากนั้น นักเรียนยังได้สัมผัส ชื่นชม กับงานสถาปัตยกรรมของอาคารรัฐสภาซึ่งแฝงไปด้วยแนวคิดต่างๆ คติความเชื่อแบบไทยด้วย และมีโอกาสได้เข้าไปชมห้องประชุมสุริยันซึ่งเป็นห้องประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย

จากนั้น ได้เดินทางต่อไปยังศาลฎีกา เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและการทำงานของศาล ซึ่งถือเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการที่ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีความต่างๆ เพื่อสร้างความยุติธรรมในกับผู้คนและสังคม นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาลชำนัญพิเศษต่างๆ เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับเส้นทางการเป็นผู้พิพากษา การเตรียมตัว การเรียน การสอบ จนกระทั่งได้มาเป็นผู้พิพากษา ซึ่งทำให้นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพผู้พิพากษามากขึ้น และนักเรียนยังได้ชื่นชมกับสถาปัตยกรรมของอาคารศาลฎีกา ได้ชมนิทรรศการ “ศาลฎีกานิทรรศน์” ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาและเกียรติภูมิของศาลฎีกาของประเทศไทยด้วย

การไปเรียนรู้ยังสถานที่สำคัญทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยทั้งสองที่นี้ นอกจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับเกี่ยวบทบาทหน้าที่ความสำคัญแล้ว ยังทำให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของตนเองด้วย ดังที่นักเรียนได้เขียนสะท้อนความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ว่า…

  • โอนิ ชั้น 12 เขียนบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองว่า “การไปเดย์ทริปครั้งนี้ นอกจากที่ได้รับความรู้ต่างๆ ยังทำให้ตัวเองมีแรงบันดาลใจในการทำตามเป้าหมายมากขึ้น
  • กะตังค์ ชั้น 12 เขียนบอกเล่าความรู้สึกของตนเองว่า “รู้สึกมีความสุขและมีกำลังใจ ตอนไปรัฐสภารู้สึกว่าตื่นเต้นเพราะเป็นการไปครั้งแรก รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของสถาบันอันทรงเกียรติของชาติ ส่วนที่ศาลฎีกาแม้ว่าเคยไปมาแล้วจากการเข้าค่าย แต่ก็ยังรู้สึกมีพลัง ตื่นเต้น และเมื่อได้คุยกับพี่ๆ ผู้พิพากษา ก็ยิ่งมีกำลังใจมากขึ้น มีไฟในการไปสู่เป้าหมายของตนเอง มันเป็นความรู้สึกมีสุขล้นมากๆ
  • บัว ชั้น 11 เขียนบอกเล่าความรู้สึกของตนเองว่า “รู้สึกสนุกมาก ถึงแม้ว่าประเด็นการเรียนรู้จะดูจริงจัง แต่ก็รู้สึกสนุก เพราะทำให้ได้เข้าใจกับกฎหมายมากขึ้น ทำให้มีความสนใจกับสิ่งนี้มากขึ้นด้วย
  • เกีย ชั้น 11 เขียนบอกเล่ามุมมองของตนเองไว้ว่า “การไปเรียนรู้ที่สถานที่สำคัญของประเทศไทยครั้งนี้ ทำให้ได้เปิดโลก เปิดมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะที่อาคารรัฐสภา ได้เรียนรู้แนวคิดการออกแบบผ่านคติความเชื่อแบบพุทธ ซึ่งสภาควรจะเป็นสถานที่ที่รวมความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งนี่ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก
  • ล้ำ ชั้น 11 เขียนบอกเล่าถึงความภาคภูมิใจของตนเองที่มีต่อพี่ชั้น 12 ว่า “รู้สึกภาคภูมิใจในตัวพี่กะตังค์มาก เพราะตอบคำถามได้ทุกคำถาม
  • สาคู ชั้น 10 เขียนบอกเล่าความประทับใจของตนเองว่า “รู้สึกประทับใจมาก เพราะไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ไปเยือนรัฐสภาจริงๆ เพราะในช่วงที่มีการเลือกตั้งปี 66 ได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตลอด ทำให้อยากมีโอกาสได้เข้าที่รัฐสภาจริงๆ
  • พราว ชั้น 10 เขียนบอกเล่าถึงการได้รับแรงบันดาลใจของตนเองว่า “ รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก โดยเฉพาะที่รัฐสภาทำให้มีแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นในการเรียนสถาปัตย์ เพราะที่นี่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม อลังการ ทันสมัย และมีแนวคิดการสร้างที่น่าสนใจ

ขอบคุณบทความโดย คุณครูสิปปกร จันทร์แก้ว (ครูแอร์) คุณครูสังคมศึกษา

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2567