เรียนรู้ชุมชนผ่านบอร์ดเกมต่อยอดสู่ PBL | มัธยม 2567

เราทุกคนคือส่วนประกอบของสังคมและมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เจริญงอกงามในสังคมได้ จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมการศึกษาชุมชน ของนักเรียนชั้น 9 10 และ 11 เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมของการเป็นเจ้าของสังคมและปลูกฝังความเชื่อว่าเราทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นได้ โดยนำความรู้ ทักษะ และเครื่องมือต่างๆ ในการเก็บข้อมูลและศึกษาชุมชน มาทำความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความสลับซับซ้อน โดยได้รับเกียรติจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นวิทยากรในการชวนนักเรียนคิด วิเคราะห์ ฝึกใช้เครื่องมือบอร์ดเกมเครื่องมือ 7 ชิ้นในการศึกษาชุมชน ตลอดจนการสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันจากกิจกรรมดังกล่าว

มาทำความรู้จักเครื่องมือ 7 ชิ้น

⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯

1. แผนที่เดินดิน

เครื่องมือสำรวจชุมชน ทำให้เข้าใจพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางสังคม และความสัมพันธ์ที่คนมีต่อพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชน ได้ข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชน และทำให้เห็นภาพรวมของชุมชนอย่างรวดเร็ว

2. ผังเครือญาติ

แผนผังที่แสดงความสัมพันธ์แบบเครือญาติ โดยใช้สัญลักษณ์แทนตัวคนและเส้นแสดงความสัมพันธ์ทั้งทางสายเลือดและการแต่งงาน ช่วยให้ทำความเข้าใจคนและโครงสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนผ่านคนในครอบครัว อีกทั้งช่วยสร้างความคุ้นเคยระหว่างผู้เก็บข้อมูลกับคนในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว

3. โครงสร้างองค์กรชุมชน

เป็นเครื่องมือที่ทำให้เข้าใจระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในชุมชนซึ่งโยงใยเป็นโครงสร้างหรือเครือข่ายความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางการเมือง

4. ระบบสุขภาพ + ทุน และความท้าทาย

ระบบสุขภาพชุมชน เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์และเชื่อมโยงความคิดหรือความรู้เกี่ยวกับ “โลกสุขภาพ” โดยใช้แผนผังความคิดเพื่อให้เห็นภาพรวมและเข้าใจสิ่งที่ค้นพบจากการทำงานตามประเด็นยิ่งขึ้น เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพ เข้าใจวิถีความเชื่อ วิธีปฏิบัติ และพฤติกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนในท้องถิ่น เช่น ความเชื่อในการรักษาของชุมชน ฯลฯ

ทุน และความท้าทาย เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์และเชื่อมโยงความคิดหรือความรู้เกี่ยวกับทุน ภูมิปัญญา หรือศักยภาพของชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนก็มีวิธีการมองทุนที่แตกต่างกันออกไป ส่วนความท้าทายคือสิ่งที่ชุมชนมักเผชิญ รับมือ หรือกำลังประสบปัญหา ทั้งทุนและความท้าทายจึงเปรียบเสมือนการมองหาจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละชุมชน

5. ปฏิทินชุมชน

เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าใจช่วงเวลาของกิจกรรมหรือเหตุการณ์ของชุมชนที่เกิดขึ้นในรอบปี รอบเดือน หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ตามการนับของชุมชน ช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีบริบท หลักสำคัญคือการเรียนรู้เรื่องเวลาในวิถีชีวิตชุมชน เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและสามารถวางแผนการทำงานได้อย่างสอดคล้องกับเวลาของชุมชน

6. ประวัติศาสตร์ชุมชน

เป็นเครื่องมือที่เรียบเรียงเรื่องราว เหตุการณ์ ความเป็นมาของชุมชน ที่บอกเล่าจากมุมมองของคนในชุมชน แม้จะแตกต่างกันออกไปตามการตีความของผู้เล่าแต่ละคน

7. ประวัติชีวิต

เป็นเครื่องมือที่เรียบเรียงเรื่องราวของบุคคลหนึ่ง ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตที่ถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่า หลักสำคัญของการศึกษาประวัติชีวิต คือ ทำความเข้าใจเรื่องราวชีวิตของผู้คนแล้วเชื่อมโยงเข้ากับสังคมหรือชุมชนที่คน ๆ นั้นดำเนินชีวิตอยู่

เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจกระบวนการ และเครื่องมือสำคัญในการศึกษาชุมชน รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องออกแบบให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการตั้งคำถาม การสืบหาข้อมูล การเรียบเรียงและการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลที่ตนได้ศึกษาค้นคว้า ผ่านการฝึกใช้เครื่องมือ 7 ชิ้นและการสะท้อนการเรียนรู้

เกมเครื่องมือ 7 ชิ้น สู่การออกแบบชุมชนจำลอง

⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯

จากกระบวนการเรียนรู้เครื่องมือ 7 ชิ้น เป็นการจำลองสถานการณ์ (Simulation game) การทำงานภาคสนามสไตล์นักมานุษยวิทยา นักเรียนจะได้ลองสำรวจและเรียนรู้ชุมชนบ้านกุดตะโกที่มีอายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี เพื่อทำความเข้าใจผู้คนและเรื่องราวผ่านการตั้งคำถามและสนทนากับคนในชุมชนโดยใช้เครื่องมือ 7 ชิ้นในการจัดการข้อมูล

เกมเครื่องมือ 7 ชิ้นที่นักเรียนได้สวมบทบาทเป็นคนนอกพื้นที่ที่อยากรู้เรื่องราวของชุมชนกุดตะโก ผ่านมุมมองของคนใน และท้าทายนักเรียนให้ออกแบบแนวทาง การจัดการพื้นที่ โดยใช้ข้อมูล “ผู้คน” “สถานที่” และ “เวลา” เท่าที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อชาวกุดตะโกมากที่สุด

ตัวอย่าง นักเรียนกลุ่มหนึ่ง ชั้น 11 สมมติบทบาทเป็น “ผู้กำกับภาพยนตร์” เป้าหมายของนักเรียนคือ หาโลเคชั่นถ่ายหนังแต่เมื่อนักเรียนได้ลงไปศึกษาข้อมูลชุมชนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ได้ไป “ศาลปู่ตาต้นตะโก” “วัดกุดตะโก” “ลานกุด” “ปราสาทหิน” และสถานที่อื่น ๆ นักเรียนเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้เห็นถึงความเป็นมาของหมู่บ้านกุดตะโก ได้เห็นความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ความเชื่อของคนในชุมชน และวัฒนธรรมประเพณีของหมู่บ้าน เช่น บทบาทของหน่วยงานรัฐในชุมชนค่อนข้างน้อย การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังหายไป ทัศนคติของคนรุ่นเก่าที่ไม่เปิดรับคนรุ่นใหม่ อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่แบบกระจุกตัว ฯลฯ ทำให้นักเรียนได้ตระหนักคิด รับรู้ เข้าใจในพื้นที่มากขึ้น นักเรียนจึงได้ความคิดในการทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสุดท้ายหลังจบกิจกรรมบอร์ดเกม คุณครูได้ชวนนักเรียนมองถึงปัญหาของชุมชนกุดตะโกที่พบเจอ ทุนและความท้าทายของชุมชน จึงชวนให้นักเรียนคิดวิธีการในการช่วยส่งเสริมชุมชนกุดตะโกให้มีความศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ และเป็นชุมชนที่ยั่งยืน นักเรียนได้ออกแบบแผนในการพัฒนาและส่งเสริมชุมชน เช่น ติดต่อ หน่วยงานรัฐเพื่อขอสนับสนุนในการพัฒนาชุมชน , เพิ่มบุคลากรในโรงเรียน , เปิดรับสมัครกลุ่มคนที่มีความสนใจด้านประเพณีวัฒนาธรรมมาศึกษา เรียนรู้จากคนในชุมชน , ส่งเสริมและขยายฐานสินค้าของดีในชุมชนให้คนภายนอกได้รับรู้ ฯลฯ

ต่อยอดการเรียนรู้สู่การทำโครงงาน PBL

⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯

เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการใช้เครื่องมือ 7 ชิ้นแล้วนั้น นักเรียนจะต้องนำเครื่องมือไปใช้ในการศึกษาชุมชนที่สนใจ เพื่อรวบรวมข้อมูล และนำมาประยุกต์ใช้ในการทำโครงงาน PBL หรือ Problem-based Learning (การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน) ก่อนที่นักเรียนจะตั้งต้นปัญหา นักเรียนต้องเข้าใจปัญหาก่อน และการจะเข้าใจปัญหาได้นั้น นักเรียนต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ รวมไปถึงตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน การลงพื้นที่เพื่อศึกษาชุมชนเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เห็นถึงบริบทของชุมชน ศักยภาพของชุมชน ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน หลังจากลงพื้นที่และทำความเข้าใจชุมชนผ่านเครื่องมือ 7 ชิ้นแล้ว นักเรียนสามารถนำข้อมูลที่ได้มาช่วยในการวิเคราะห์ และวางแผนงานตามเป้าหมายของนักเรียนที่ตั้งไว้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถดึงศักยภาพของทรัพยากรในพื้นที่ออกมาได้อย่างเต็มที่

ขอบคุณบทความจาก คุณครูกิตติธัช ชิเดนทรีย์ (ครูเฟิร์ส)
คุณครูวิชาสังคมศึกษา

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2567