เรียนคณิต คิดสนุก

เคยสังเกตไหมคะว่า คณิตศาสตร์มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสิ่งของขนาดใหญ่โต หรือแม้กระทั่งการประกอบอาหาร ขนมเบเกอรี่เล็ก ๆ ก็เช่นเดียวกัน สูตรขนมหวานแสนอร่อยต่าง ๆ จึงมักจะมีเรื่องของการชั่งตวงมาเกี่ยวข้อง ในคาบเรียนนี้คุณครูคณิตศาสตร์ ชั้น 3 จึงชวนเด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง จากการทำขนมบานอฟฟี่ ที่มีการชั่งหน่วยกรัม มิลลิกรัมมาเกี่ยวข้อง และยังผสานกับเนื้อหารูปร่าง รูปทรง ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นเชิญติดตามไปพร้อมกันเลยค่ะ

โจทย์ที่ 1 วัตุดิบชวนคิด : บราวนี่เค้ก บัตเตอร์เค้ก และเนยเค็ม เด็ก ๆ คนเก่งเมื่อเห็นวัตุดิบทั้ง 3 ชนิด เกิดข้อสงสัยจนกระทั่งเชื่อมโยงเห็นถึงรูปทรงเดียวกัน (ที่คุณครูแอบตัด แอบเตรียมให้รูปร่างเหมือนกันเป๊ะไว้ล่วงหน้า) คุณครูจึงใช้กระบวนการกลุ่มให้เด็กๆ ชั่งน้ำหนักสิ่งของ ทั้ง 3 ชนิด บันทึกผลและสรุปการเรียนรู้ตามความเข้าใจของตนเอง ผลที่ได้นอกจากการอ่านค่าน้ำหนักหน่วยกรัมได้แล้วนั้น ข้อสรุปที่ทำให้คุณครูอดยิ้มตามไม่ได้เลยคือ “สิ่งของถึงจะมีรูปทรงเดียวกัน แต่น้ำหนักอาจต่างกัน เพราะความหนาแน่นของวัตถุดิบต่างกัน”

เพียงแค่กิจกรรมในขั้นนำเท่านั้นยังทำให้เกิดการเรียนรู้ที่น่าสนใจขนาดนี้ แล้วโจทย์ต่อไปจะน่าสนุกขนาดไหนกันนะ

โจทย์ที่ 2 คุณครูอาม และคุณครูนก คุณครูหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น 3 ได้นำกล้วยหอมมาแจกให้เด็กๆ แต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 2 ผล โดยให้โจทย์ที่น่าสนใจไปว่า ถ้าน้ำหนักของกล้วย 2 ผลที่ติดกัน น้ำหนักของกล้วย 2 ผลเมื่อแยกออกจากกัน และถ้านำกล้วย 2 ผลนั้นมาหั่นแล้วน้ำหนักของวัตถุดิบทั้ง 3 ลักษณะจะเป็นอย่างไร และให้เด็ก ๆ สรุปการเรียนรู้ของตนเอง จะเห็นได้ว่าเด็ก ๆ สนุกกับการคาดเดา การทดลอง และร่วมคิด ถกเถียงข้อสรุปกันอย่างหลากหลาย จนเกิดข้อสรุปร่วมกันว่าถึงแม้รูปทรงของวัตุดิบจะเปลี่ยนไป แต่น้ำหนักยังคงเท่าเดิม เพราะปริมาณของกล้วยยังคงเท่าเดิม ความสนุกยังไม่หมดแค่นั้นครูถามคำถามทิ้งท้ายต่อว่า แล้วทำไมกล้วยหอมของแต่ละกลุ่มมีน้ำหนักไม่เท่ากันนะ เด็ก ๆ ตอบแทบจะทันทีว่าก็ขนาดผลไม่เท่ากัน

โจทย์ที่ 3 หาน้ำหนักของเปลือกกล้วยเพียงอย่างเดียวว่ามีน้ำหนักเท่าไหร่ โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่นำเปลือกกล้วยไปชั่งน้ำหนัก เด็ก ๆ ใช้วิธีการชั่งน้ำหนักของเนื้อกล้วยพร้อมเปลือกกล้วย และน้ำหนักของเนื้อกล้วยเพียงอย่างเดียว และใช้วิธีการคำนวณด้วยการลบเพื่อหาน้ำหนักของเปลือกกล้วยที่หายไป เมื่อเด็ก ๆ ได้ น้ำหนักของเปลือกกล้วยแล้ว คุณครูจึงชวนสรุปการเรียนรู้วันนี้ ซึ่งสิ่งที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้นั้น มีหลากหลาย ทั้งการลบแบบมีทศนิยม การใช้งานเครื่องชั่งน้ำหนัก วิธีการหาน้ำหนักของเปลือกกล้วย เรียนรู้หน่วยของการชั่ง

เมื่อจบคาบเรียนนอกจากความรู้ที่ได้รับอย่างหลากหลาย รอยยิ้มของเด็ก ๆ ยังเบิกกว้างกับความสุขจากขนมบานอฟฟี่กล้วยหอมที่เพิ่งชั่งน้ำหนักเมื่อซักครู่เป็นอาหารว่างเช้าอีกด้วย การเรียนคณิตศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเด็ก ๆ อีกต่อไป เชื่อว่าคุณค่าที่ได้รับในวันนี้จะขยายสายตาของการมองเห็นถึงคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันรอบ ๆ ตัวอีกหลากหลายเลยค่ะ

ขอบคุณบทความจากคุณครูคณิตศาสตร์ ชั้น 3

คุณครูอภิทัย เรืองรอง (ครูอาม) และคุณครูรุ่งนภา ไทยเจริญ (ครูนก)

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567