เราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
ตั้งใจเข้ามาช่วยงานโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน และเพราะเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงดู (It takes a village to raise a child.)
เมื่อคุณครูต้องลองไปนั่งในใจเด็กให้ได้…
ผ่านห้องเรียนสาธิตคณิตศาสตร์ ชั้น ๓ ของคุณครูสุภาพร กฤตยากรนุพงศ์ คูณครูวิชาการโดยมีเพื่อนครูเป็นผู้เรียน
ถ้า “ครู” ต้องเป็น “เด็ก”
จะสงสัยอะไร…
จะเข้าใจว่าอย่างไร…
อีกหลากหลายความคิดที่ครูต้องสวมหมวกลองเป็นเด็กดูบ้าง
เมื่อถอดหมวกออก บทบาทของเด็ก จะถูกเปลี่ยนเป็นบทบาทครูทันที เพื่อร่วมกันวิพากษ์บทเรียนที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน
แผนการสอนที่ถูกออกแบบเพื่อให้เด็กๆ รักและสนุกในการเรียนรู้วันนี้ อาจไม่ใช่แผนที่สมบูรณ์ที่สุด หากแต่การเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มครูก่อให้เกิดการไหลเวียนของประสบการณ์ที่มีการร้อยเรียงอย่างเป็นระบบ
ช่วยให้ครูน้องใหม่ได้เรียนรู้แบบปฏิบัติที่ดีของครูรุ่นพี่จากการมาร่วมสร้างชั้นเรียนคุณภาพที่ก้าวไปด้วยความรู้สะสม และแนวคิดของผู้เรียนได้อย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ครูผู้สอนได้ข้อมูลสะท้อนกลับเป็นระยะเกี่ยวกับคุณภาพของแผนจัดการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ มองเห็นทิศทางของพัฒนาการ รูปแบบการเรียนรู้ (Learning style) และจุดอ่อน จุดแข็งของนักเรียนแต่ละคน
เป็นห้องเรียนที่ดูมีชีวิตชีวา ร่วมคิดร่วมพัฒนาเพื่อเด็กๆ อย่างแท้จริง
ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2559
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร