เปิดหมวก #1 มหกรรมดนตรีและศิลปะ2567
เปิดหมวก #1 มหกรรมดนตรีและศิลปะ2567เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานเล่น โรงเรียนเพลินพัฒนา “IN OUR DREAM” ของนักเรียนชั้น 9
“อินทัช ปันปัน และ คณุต” นักเรียนชั้น 9 ได้เข้าร่วมโครงการ “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม” (Civic Imagination for Change) ดำเนินการโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง The 101 และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
——————-
“โครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม”
โครงการ “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม” (Civic Imagination for Change) เป็นการต่อยอดการประยุกต์ใช้เครื่องมือจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยกับกลุ่มเยาวชน โดยผนวกกับกระบวนการพัฒนาการออกแบบนวัตกรรมสังคม เพื่อให้เยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้นำจินตนาการของตนเองมาสู่การปฏิบัติจริง และมุ่งหวังผลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป
อินทัช ปันปัน และคณุตเล่าว่า ทุกอย่างเริ่มต้นจากความสนใจของเพื่อนคนหนึ่งในทีม และชักชวนกันมาร่วมสมัครเข้าร่วมโครงการ ทั้งสามคนต้องทำการบันทึกวิดีโอนำเสนอประเด็นทางสังคมที่สนใจ และได้ผ่านการคัดเลือกจนได้พบกับเพื่อนๆ อีก 5 ทีมจากโรงเรียนต่างๆ โดยแต่ละทีมได้หยิบยกประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจแต่ละมุมมองออกมานำเสนอ เช่น ปัญหาการเรียนรู้และการสื่อสารของผู้มีภาวะออทิสติก ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการแยกขยะ ปัญหาการสื่อสารระหว่างวัยรุ่นกับผู้ปกครอง เป็นต้น
“ ปีใหม่ ร่างใหม่” แก้ไขปัญหา Office Syndrome
อินทัช ปันปัน และคณุตได้เลือกประเด็นปัญหาใกล้ตัวอย่าง โรค Office Syndrome มาเป็นหัวข้อหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมในโครงการนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคุณครูในเพลินพัฒนานี่เอง เด็กๆ มองเห็นว่า มีคุณครูหลายท่านมีอาการของโรคนี้ เพราะบางครั้งเพลิดเพลินกับการทำงานจนลืมที่จะขยับร่างกาย ในทีมจึงมีความตั้งใจที่อยากจะเพิ่มการขยับตัวของคุณครูเพื่อลดอาการ Office Syndrome จะมีวิธีการอย่างไรที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดให้คุณครูเข้าร่วมโครงการคือสิ่งที่ทีมต้องช่วยกันขบคิด
เด็กๆ จึงได้นำกระบวนการของ Gamification (กระบสนการสร้างแรงจูงใจโดยมีเป้าหมาย ของรางวัล และความสนุก) เข้ามาใช้ในการออกแบบวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณครู อีกทั้งยังนำแนวคิดทฤษฎี 21 วันมาใช้ด้วย โดยทฤษฎีได้กล่าวไว้ว่า การปรับเปลี่ยนนิสัยโดยการทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ กันเป็นเวลา 21 วัน จะทำให้พฤติกรรมนั้นจะกลายมาเป็นนิสัยใหม่ เด็กๆ จึงอยากให้คุณครูได้นิสัยใหม่คือการขยับตัว ออกกำลังกาย เพื่อลดปัญหาปวดคอ บ่า ไหล่ เส้นตึงตามจุดต่างๆ ตามลักษณะอาการของโรค Office Syndrome
ขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคือ คุณครูทุกคนจะมีแอพลิเคชั่นที่คอยนับก้าวเดินจากการเดินและวิ่งเปลี่ยนเป็นคะแนน ที่ในท้ายที่สุดจะสามารถนำแต้มคะนนเหล่านี้มาแลกของรางวัลได้ ยิ่งวิ่งเยอะเท่าไหร่ ของรางวัลที่ได้ก็ยิ่งดีตามขึ้นไปด้วยเท่านั้น โดยระยะเวลาจัดเก็บแต้มจะใช้ระยะเวลา 21 วันในช่วงสิ้นปีจนถึงปีใหม่ เพื่อสอดคล้องกับชื่อโครงงาน เมื่อถึงปีใหม่ คุณครูทุกคนจะได้ร่างใหม่ที่สดใส สุขภสพดีกว่าเดิมแน่นอน มากไปกว่านั้น เด็กๆ ยังมีสมุดพกให้คุณครูแต่ละคนได้จดบันทึกความสำเร็จและความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการได้ออกกำลังกายอีกด้วย
ผลลัพธ์ของโครงการปีใหม่ร่างใหม่พบว่า จากจำนวนคุณครูที่เข้าร่วมโครงการ 39 ท่าน ทุกคนได้เริ่มต้นการออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่ง และขยับตัวไม่มากก็น้อย และมีคุณครูที่ได้ทำต่อเนื่องจนเกิดการเปลี่ยนแปลในเชิงพฤติกรรม อาการปวดคอ บ่า ไหล่น้อยลง และเกิดความรู้สึกดีต่อตนเองมากขึ้น จนทำให้แม้จะจบโครงการไปแล้ว คุณครูหลายท่านก็ยังจะทำสิ่งนี้ต่อไป ของรางวัลที่เด็กๆ เตรียมมาให้แก่คุณครูเมื่อจบโครงการมีตั้งแต่ หมอนรองคอ กระติกน้ำ ไปจนถึงนาฬิกา smart watch รางวัลทุกชิ้นที่เด็กๆ เลือกมานั้นก็เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพและการออกกำลังกายของคุณครู
“ร่วมแบ่งปัน แต่ฉันก็ได้รับ” ความภูมิใจของเด็กๆ ในฐานะเจ้าของโครงการ
เมื่อถามถึงความภาคภูมิใจระหว่างทาง และสิ่งที่ได้รับหลังจบโครงการ เด็กๆ เล่าว่า
“ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยคุณครูจนสำเร็จผลทำให้คุณครูมีความสุข”
“ผมภูมิใจในระบบเก็บข้อมูลที่ทำขึ้นมา ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่มีทักษะในด้านนี้เลย แต่ผมก็พยายามเรียนรู้จนในที่สุดสามารถสร้างระบบเก็บข้อมูลที่ดีขึ้นมาได้”
และยังได้บอกอีกว่าในการทำโครงงานได้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในระหว่างที่ทำโครงงาน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนๆ พี่ๆ จากโรงเรียนอื่น หรือกับบุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำโครงงาน เป็นความภูมิใจในการสร้างสังคมใหม่ๆ ให้กับตนเอง
แม้ระหว่างจะพบเจอปัญหาอยู่บ้างแต่ก็เอาชนะตัวเองผ่านพ้นไปได้ เช่น บางคนก็มีปัญหาในการจัดการเวลาในการทำงาน หรือบางครั้งก็มีปัญหากับเพื่อนๆ ภายในทีม เด็กๆ เล่าว่า “ในตอนแรกที่เลือกหัวข้อ ทุกคนมีเรื่องที่ตัวเองสนใจกัน ทำให้มีความคิดเห็นที่ไม่ลงตัว แต่สุดท้ายก็ได้พูดคุยกันจนได้หัวข้อ” ดังนั้นบางครั้งการเกิดปัญหาจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง เด็กๆ ได้เล่าว่า “ผมมีการพัฒนาในด้านความรับผิดชอบและการจัดการเวลาที่ดีมากขึ้น” และ “พัฒนาในการแก้ไขปัญหาที่สามารถนำทักษะความคิดที่มีความสร้างสรรค์มาใช้ในการแก้ปัญหาได้” และจากการที่ได้เรียนรู้ทักษะการเก็บข้อมูลก็ได้สร้างทักษะในการทำระบบเก็บข้อมูลให้กับเด็กๆ และยังทำให้มีทักษะในการสื่อสารที่ดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
โครงการนี้สามารถต่อยอดอย่างไรได้บ้าง
“คุณครูบางคนมาบอกกับผมว่า เป็นเพราะกิจกรรมนี้เลยทำให้คุณครูกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง” เป็นประโยคที่ผู้จัดโครงการคงต้องการได้ยินมากที่สุด เพราะคุณครูทุกคนได้ผ่านช่วงเวลายากเย็นของการเริ่มต้นไปแล้ว ตอนนี้มีแต่ต้องทำต่อไป เพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน เพื่อเป็นการแก้ปัญหา Office Syndrome ที่อยู่คู่วัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกับคุณครูที่เด็กๆ ใส่ใจ
ทิ้งท้ายกันสักหน่อย…
หลังจากที่เด็กได้ทำโครงการนี้เสร็จไปแล้วก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “Office Syndrome เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่โรคไกลตัว วิธีการที่จะรักษาโรคนี้ได้ คือ การแก้ไขวิถีชีวิต” และยังได้บอกอีกว่า การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบในการแก้ปัญหาจะทำให้ได้วิธีที่แตกต่าง “ปัญหาบางปัญหาอาจดูไร้ทางออกแต่ถ้าเราใช้จินตนาการในการแก้ปัญหาอาจจะได้รับทางออกที่สร้างสรรค์และไม่จำเจ เพราะมนุษย์มีเซลล์สมองตั้งมากมาย ทำไมถึงจะยึดติดอยู่กับเพียงความคิดหรือวิธีแก้ปัญหาเพียงวิธีเดียว”
เราได้เห็นผ่านโครงการของอินทัช ปันปัน และคณุตแล้วว่าการนำแนวคิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 21 วันและแนวคิด Gamification มาใช้ในการออกแบบการแก้ปัญหาหนึ่งๆ ในสังคมนั้น เป็นความคิดแนวใหม่ที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพเพียงไร
ขอชื่มชนทั้งสามคน และขอขอบคุณโครงการดีๆ แบบนี้จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง The 101 และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
——-
ขอขอบคุณรูปภาพบางส่วนจาก
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
https://www.facebook.com/tu.lsed
ติดตามดูวิดีโอผลงาน “ปีใหม่ร่างใหม่” และผลงานโครงการอื่นๆ
https://www.facebook.com/watch/?v=909429977637517
https://www.facebook.com/photo/?fbid=803749214912493&set=a.584290786858338
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2567