ร้อยฝันเปลี่ยนโลก

กิจกรรม “ร้อยฝันเปลี่ยนโลก” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ได้รับเกียรติจากวิทยากรหลากหลายสาขาอาชีพ มาบอกเล่าเรื่องราว ความฝัน แรงบันดาลใจ ที่ช่วยพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคมในแง่มุมต่างๆ พาเด็กๆ ช่วงชั้นที่ 2 มองเห็นคุณค่าของการประกอบอาชีพที่มีความดีงามต่อบุคคล สัตว์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเด็กๆ ทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการก่อร่างสร้างโลกใบนี้ให้น่าอยู่และเอื้ออาทรต่อกันและกันได้ กิจกรรมในครั้งนี้มุ่งหมายสร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กๆได้มีโอกาสสัมผัสคุณค่าการทำงาน ที่ตั้งอยู่บนประโยชน์ส่วนรวม ไม่เพียงได้ฟังเรื่องราวจากวิทยากรเท่านั้น เด็กๆ ยังได้ลงมือทำ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดในแต่ละอาชีพ ดังนี้

1.ศิลปะการละครเพื่อสังคม – คุณชิงชัย สายสินธุ์

2.แท็กซี่อุ้มบุญ – คุณสุวรรณฉัตร พรหมชาติ และ พญ. จำเนียร พรหมชาติ คู่สามี ภรรยาที่ร่วมทำงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้พิการ

3.ค่ายวิทยาศาสตร์ – อ.ดำรงค์ สุภาษิต

4.กลุ่มใบไม้ – คุณโชคนิธิ คงชุ่ม

5.สถาปนิกเพื่อชุมชน – คุณยศสะไกร มาซา

6.ครูสอนศิลปะกลุ่มผู้สูงวัยและผู้พิการ – คุณอมรรัตน์ เรืองอ๊อด

7. Art for cancer – คุณไอรีล ไตรสารศรี

8.ผู้ออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ (Mindventure) – คุณกันตพร ขจรเสรี

9.Thai Love Animal & Watchdog Thailand – คุณศิราณัฐ ทองคำ / คุณวรรณทัศน์ แสงดารา

10.Uncleree farm – คุณชารีย์ บุญญวินิจ

11.บ้านรักหมาศาลายา – อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัสราคม

12.เทใจดอทคอม – คุณสิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย

13.Greenpeace – คุณวิภาวดี แอมสูงเนิน

14. A CALL for Animal Rights Thailand – คุณปิยะวรรณ ตั้งสกุลสถาพร

15.มูลนิธิ The voice – คุณชลลดา สิริสันต์

16.บ้านนางฟ้าของสัตว์จร – คุณอนันต์ธรณ์ วินิจเถาปฐม

17.กลุ่ม Big Trees รุกขกร – คุณนัยนา พรมอุดม

18.นักดนตรีบำบัด หน่วยสุขภาวะข้างถนน – คุณพิชาญา ดังสิริแสงทอง

ขอขอบพระคุณวิทยากรทุกท่านที่สละเวลามาแบ่งปันความรู้ให้เด็กๆ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้าง “โลกใบนี้” ให้น่าอยู่และมีการเอื้ออาทรต่อกันได้

ขอหยิบยกตัวอย่างเรื่องราวจากฝันและแรงบันดาลใจที่มาพร้อมพลังความสุขที่ถ่ายทอดถึงเด็กๆ

“ร่วมดูแลท้องทะเล และผืนป่า”

สำหรับบางคน “ป่า และ ทะเล” อาจเป็นเพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตหลายชีวิต ที่นี่คือบ้านแสนรัก… ในฐานะมนุษย์ เรากิน เราใช้ เราปกครองอยู่เหนือสิ่งมีชีวิตอื่นมากมายในธรรมชาติ แต่เราจะรับบทบาทนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ? นี่คือคำถามตั้งต้น ที่วิทยากรสายธรรมชาติทั้งสองท่านได้มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจและให้แนวคิดแก่เด็กๆ ในวันนี้ เพื่อให้เราได้เรียนรู้อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญคือการเป็น “นักอนุรักษ์”

คุณโชคนิธิ คงชุ่ม หัวหน้าองค์กรกลุ่มใบไม้ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอ.ดำรงค์ สุภาษิต ผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ในลักษณะค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เป็นตัวแทนจากทั้งฝั่งผืนป่า และผืนน้ำในการนำพาเด็กๆ ออกจากป่าคอนกรีตเพื่อเรียนรู้ความสำคัญ ของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่าและน้ำที่ให้ชีวิต รอบตัวของเขา

“กลุ่มใบไม้” เป็นมากกว่าเพียงกลุ่มคนที่ชอบไปเดินป่า แม้จุดเริ่มต้นจะมาจากความชอบในการไปเยี่ยมเยียนธรรมชาติ แต่จากความชอบ กลายเป็นความใส่ใจ และกลายเป็นความรัก

ป่ากลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับกลุ่มใบไม้ ทุกอย่างในป่าพึ่งพาอาศัยกัน เกิดเป็นวงจร วัฎจักรชีวิต การได้นั่งเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตในลำธารที่ไหลผ่าน ดูเหล่าสัตว์ป่าใช้ชีวิต สัมผัสต้นไม้ที่เติบโตตามฤดูกาล ทำให้เข้าใจชีวิตและเข้าใจตนเองมากขึ้น แต่ป่าจะอยู่อย่างสวยงามไม่ได้ ตราบใดที่มนุษย์อย่างเราไม่ช่วยกันดูแลรักษา กลุ่มใบไม้จึงทำหน้าที่ในการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับป่าและมอบประสบการณ์พิเศษที่จะหาได้จากการเข้าป่าเพื่อเรียนรู้เท่านั้นแก่สังคมปัจจุบัน

เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในป่าก็สามารถรักษ์ผืนป่าได้ และแนวคิดนี้จะต้องถูกส่งต่อให้กับเด็กๆ รุ่นต่อไป ดังคติของกลุ่มใบไม้ที่ว่า “จงทำในสิ่งที่คุณทำได้ ณ จุดที่คุณอยู่ ด้วยสิ่งที่คุณมี“

…ใต้ทะเลเองก็มีต้นไม้ ต้นไม้นี้เป็นทั้งบ้านของสัตว์ทะเล เป็นเกราะกำบัง และรับบทสำคัญในการเป็นตัวช่วยลดโลกร้อน นั่นคือ ปะการัง แต่ปัจจุบันเราประสบปัญหาปะการังธรรมชาติเสื่อมโทรม ระบบนิเวศในทะเลเริ่มมีปัญหา มนุษย์อย่างเราจะมีส่วนในการแก้ปัญหานี้อย่างไร อาจารย์ดำรงค์ ผู้ซึ่งอยู่อาศัยใกล้ชิดกับทะเลจึงเป็นหนึ่งในต้นแบบของมนุษย์ผู้รักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่เราจะสามารถเรียนรู้จากอาจารย์ได้ และความรู้นี้เช่นกัน ที่ต้องถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป ดังนั้นจึงเกิดเป็นค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จะพาเด็กๆ ไปเรียนรู้การอนุรักษ์ทะเลผ่านการร่วมฐานกิจกรรมชีวทางทะเลต่างๆ ในพื้นที่จริง ณ แสมสาร จังหวัดชลบุรี

“หากผู้คนไม่เห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็จะค่อยๆ หายไป โดยการกระทำของมนุษย์… ดังนั้นจงช่วยกันอนุรักษ์“ อาจารย์ดำรงค์ย้ำเตือนกับเราว่า ธรรมชาติจะงดงามหรือเสื่อมโทรม ล้วนขึ้นอยู่กับมือของมนุษย์อย่างเราทั้งนั้น รวมถึงเด็กๆ ทุกคนด้วย บทบาทนักอนุรักษ์จึงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทุกคนที่ยังคงต้องอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติ และวันนี้เด็กๆ เพลินพัฒนาได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของสองมือเล็กๆ ที่ตัวเองมี ต่อบ้านหลังใหญ่ที่เรียกว่า “ป่า และ ทะเล” รอบตัวเขา

“ไม่พร้อม ไม่เลี้ยง”

แนวคิดในการก่อตั้งมูลนิธิ The voice ของคุณเก๋ ชลลดา สิริสันต์ เกิดขึ้นเมื่อตอนเด็กๆ คุณเก๋ขอคุณพ่อ คุณแม่เลี้ยงสุนัข แต่คุณพ่อ ถามว่าใครเป็นคนดูแล คำตอบคือคนที่อยู่ในบ้าน คุณเก๋ไม่ได้ดูแลเอง คุณเก๋จึงรอวันที่พร้อมแล้วสามารถเลี้ยงได้ และจากการที่ได้ช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งในหลายๆครั้งนั้น ก็พบว่า สัตว์เหล่านั้นถูกทิ้งจากความไม่พร้อมของเจ้าของที่หาเขามาเลี้ยง บางตัวข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาจากต่างประเทศ แต่กลับต้องมาเผชิญกับโชคชะตาที่เลวร้ายจากเจ้าของปล่อยปะละเลยในการดูแลจนถูกรถชน จากนั้นเกิดภาวะแผลติดเชื้อจนต้องตัดขา สุดท้ายต้องกลายมาเป็นสุนัขพิการในที่สุด นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่สัตว์ถูกเลี้ยงโดยไม่พร้อมจากเจ้าของเท่านั้น แต่ยังมีอีกมากมายที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้

กิจกรรมครั้งนี้ยังมีมูลนิธิที่ช่วยเหลือสัตว์อีก 2 ห้องเรียนที่มาบอกเล่าถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสัตว์อย่าง A call of Animal right Thailand ที่เป็นตัวกลางในการส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือของสัตว์ต่างๆ ให้มาถึงผู้ใจบุญที่อยากช่วยสัตว์เลี้ยง มูลนิธินางฟ้าของสัตว์จร ที่คอยช่วยเหลือ หมาจร แมวจร ที่มีอยู่ ทุกพื้นที่ของประเทศให้เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะสัตว์เหล่านี้ เขาไม่ได้อยากเกิดมาเป็นหมาจร แมวจร

ร้อยฝันเปลี่ยนโลก เป็นหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่ตั้งใจนำพาเด็กๆ ให้เห็นแง่มุมของการให้ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ดีขึ้นผ่านการร่วมแรง ร่วมใจกัน แม้เพียงคนละเล็กละน้อยก็มีส่วนให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้น

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567