เปิดประสบการณ์ใหม่ให้เด็กๆกับค่าย F1 in School
ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ (7-11 ตุลาคม 2567 ) ทาง KX: Knowledge Exchange ได้มาจัดค่าย F1 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองรถแข่ง Formula 1 ขนาดจิ๋ว...
เมื่อพูดถึง “มอนสเตอร์” คุณนึกถึงอะไร ? หลายคนอาจนึกถึงสิ่งมีชีวิตที่หน้าตาน่ากลัวและไม่น่าเข้าใกล้ แต่เมื่อเราพูดคุยกับเด็กเล็ก ๆ เราจะพบว่ามอนสเตอร์ของเด็กมีความหลากหลายตามแต่จินตนาการของเขาจะรังสรรค์ และหลายครั้งเมื่อเราเติบโตขึ้น มอนสเตอร์ก็เติบโตตามเรามา เป็นเพื่อนที่อยู่คู่ความคิดและจิตใจของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย…
ในภาคเรียนฉันทะที่ผ่านมา น้องอนุบาล 2 และ 3 ได้เรียนรู้สีสัน รูปทรงอิสระ ในวิชาศิลปะของคุณครูเบิร์ด และจินตนาการเป็นMonsters ของตนเองขึ้น
ศูนย์บริการการเรียนรู้ (ห้องสมุด) จึงได้ต่อยอดกิจกรรมการวาดภาพ สร้างสรรค์เป็นมอนสเตอร์แบบต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อ “Monsters in the Library มอนสเตอร์ในห้องสมุดยามค่ำคืน”
.
คำถามชวนคิดที่น่าสนใจคือ เมื่อห้องสมุดเพลินพัฒนาปิดแล้ว ในตอนกลางคืนจะมีมอนสเตอร์ตัวไหนออกมา และพวกเขามาทำอะไรกันนะ ทางทีมบรรณารักษ์ได้นำผลงานทั้งหมด มาจัดแสดงในรูปแบบของ Gallery ผลงานศิลปะภายในห้องสมุด ต้องขอขอบคุณศิลปินตัวน้อยกว่า 120 คนที่ได้ร่วมส่งผลงานมาให้คุณครูได้จัดแสดง พิเศษไปกว่านั้น มอนสเตอร์ 4 ตัวได้ถูกสร้างขึ้นมาจริง ๆ และจัดแสดงให้ผู้เข้าชมได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และสร้างจินตนาการให้กับเด็ก ๆ ว่ายามค่ำคืน มอนสเตอร์ 4 ตัวนี้คงออกมาช่วยจัดหนังสือในห้องสมุดอย่างแน่นอน
.
หลังจากgalleryเปิดวันแรก พี่ ๆ ประถมเป็นกลุ่มแรกที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมผลงานของน้องอนุบาลตั้งแต่ตอนพักเที่ยง ทุกคนชมภาพเหล่านี้ด้วยความตื่นเต้น และเมื่อคุณครูบอกว่า อย่าลืมให้กำลังใจกับเจ้าของผลงาน เด็ก ๆ ก็ไม่รีรอที่จะคว้ากระดาษแล้วเขียนข้อความให้กำลังใจแปะกระดานทันที นับว่าเป็นธรรมชาติแบบเด็กเพลินที่น่ารัก ในการไม่รีรอที่จะมอบกำลังใจ คำชื่นชมและสิ่งดี ๆ แก่คนอื่น เมื่อยามเย็นมาถึง ก็ถึงคิวคุณพ่อ คุณแม่ที่ถูกลูก ๆ ลากมาชมผลงานของตนเองและเพื่อน ๆ รอยยิ้มมากมายเกิดขึ้นในที่แห่งนี้ และจินตนาการก็ถูกเปิดกว้างเช่นกัน
ไม่ใช่แค่เด็ก ๆ เท่านั้นที่มีมอนสเตอร์ ผู้ใหญ่ก็มีมอนสเตอร์ซ่อนอยู่ในใจเช่นกัน เมื่อเราเติบโตขึ้น เราอาจหลงลืมไปแล้วว่ามอนสเตอร์ในใจก็เติบโตขึ้นตามมาด้วย ซึ่งหลบซ่อนอยู่และบางครั้งจะปรากฎตัวเมื่อเราโกรธมากหรือเศร้ามาก และหากเราไม่จัดการให้ถูกวิธี มอนสเตอร์เหล่านี้อาจกัดกินจิตใจและความสัมพันธ์ต่าง ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว กิจกรรม Emotional Monster Workshop จึงถูกจัดขึ้นสำหรับผู้ปกครองเพลินพัฒนา
.
กิจกรรมนี้ ผู้เข้าร่วมได้วาดภาพมอนสเตอร์ที่สะท้อนอารมณ์ของตนเองออกมา ความแตกต่างของมอนสเตอร์แต่ละตัวแสดงให้เห็นว่า ทุกคนมีปัญหาและวิธีรับมือกับความรู้สึกที่แตกต่างกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับมอนสเตอร์ของแต่ละคนช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้แบ่งเบาความทุกข์ รับความสุข และเข้าใจกันและกันมากขึ้น การรู้ว่าเราไม่ได้เผชิญปัญหาอยู่คนเดียวเป็นความรู้สึกที่มีค่ามาก
.
นอกจากนี้ในครึ่งหลัง กิจกรรมยังได้รับความร่วมมือจากแผนกสุขภาวะและนักจิตวิทยา คุณณัฏฐนิชชา อัศวจินดานุกุล เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่อง “emotional management การจัดการอารมณ์” นำพาผู้ปกครองที่เข้าร่วม workshop ผ่านกระบวนการสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง เพื่อระบุปัญหาและหาวิธีการจัดการอย่างถูกต้อง รวมถึงเพื่อจะเข้าใจตนเองและคนอื่นมากขึ้นอย่างแท้จริง
.
หลังจบ workshop ทีมบรรณารักษ์ได้จัดเตรียมหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพจิต การพัฒนาตนเอง และการเป็นพ่อแม่ ให้ผู้ปกครองยืมกลับไปอ่านที่บ้าน ช่วยต่อยอดความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรม หลายท่านยังคงมีเรื่องมากมายที่อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกันต่อ หรือบางท่านก็ถือโอกาสเข้าชม gallery ผลงานมอนสเตอร์ของเด็ก ๆ อีกครั้ง นับเป็นอันจบกิจกรรมอย่างสมบูรณ์
กิจกรรม “Monsters in the Library” และ “Emotional Monster Workshop” ไม่เพียงแต่สร้างความสนุกสนานและความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังช่วยให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นมากขึ้น
ทางศูนย์บริการการเรียนรู้ต้องขอขอบคุณผู้ปกครองทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรม workshop และได้เสนอหัวข้อที่น่าสนใจมากมายเพื่อการจัดworkshopมอบความรู้และเกิดประโยชน์แก่ทุกท่านในครั้งท่านไป ขอขอบคุณหน่วยงานสุขภาวะ ช่วงชั้น และนักจิตวิทยาที่ได้ร่วมตั้งต้นและตั้งใจมอบความรู้แก่ผู้ปกครองร่วมกัน และท้ายที่สุด ขอบคุณเด็ก ๆ เพลินพัฒนาที่ร่วมสร้างสรรค์เหล่ามอนสเตอร์ออกมาให้มีชีวิต และไม่กลัวที่จะยอมรับมอนสเตอร์เหล่านั้น แต่เติบโตไปพร้อมกัน หวังว่าจะได้พบทุกท่านอีกในกิจกรรมครั้งต่อไป
.
รับชม Short Interview ความประทับใจ จากตัวแทนผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ที่นี่
https://www.facebook.com/pptnrc/videos/461812346822614
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2567