ภาคสนามภาคเรียนจิตตะ ชั้น 6

ครั้งนี้พวกเราเดินทางไปจังหวัดสมุทรสงคราม 3 วัน 2 คืน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการการท่องเที่ยวว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความงอกงามและยั่งยืนต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว ระบบนิเวศและวัฒนธรรม

พวกเราได้ไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่ต่างๆ เช่น ตลาดน้ำท่าคา ตลาดน้ำอัมพวา บ้านเบญจรงค์บางช้าง อุทยาน ร.2 ตลาดน้ำบางน้อย วิสาหกิจริมคลองโฮมสเตย์ โดยสัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มาและแนวคิดในการก่อตั้งวิสาหกิจจากต้นทุนที่มีอยู่ (Input) กิจกรรมต่างๆ ที่คนในวิสาหกิจร่วมกันทำ (Process) และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชน (Output)

สถานที่ที่ฉันชอบมากที่สุดคือ ตลาดน้ำท่าคาเพราะได้ล่องเรือชมธรรมชาติ สำรวจตลาดน้ำ และซื้อของฝาก อีกที่ที่ประทับใจคือตลาดน้ำอัมพวา เพราะได้ซึมซับบรรยากาศของตลาดในวันเสาร์ ได้กินข้าวเที่ยงกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม และได้รู้ที่มาของสิ่งต่างๆ ในอัมพวา ซึ่งชุมชนแห่งนี้มี ‘ปลาทูหน้างอคอหัก’ เป็นอัตลักษณ์ พวกเรารู้จากคนในชุมชนว่าที่จริงแล้วมันหน้างอคอหักก็เพราะมันต้องถูกยัดลงในเข่งให้พอดี จนปลาทูหน้างอคอหักกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สามารถหาซื้อกันเป็นของฝากได้มากมาย

สำหรับใครที่อยากลองทำกิจกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนและได้ความรู้ต่างๆ ต้องลองแวะไปเยี่ยมชมวิสาหกิจ ริมคลองโฮมสเตย์เพราะที่นี่มีกิจกรรมหลากหลายมากจริงๆ ที่สำคัญคือนอกจากได้ทดลองทำจริงแล้วยังสนุกมากอีกด้วย ทั้งการทำจักสาน ทำขนมต้ม ทำน้ำตาลมะพร้าว ทำผ้ามัดย้อมและทำเรือดุ๊กดิ๊ก เรือดุ๊กดิ๊กเป็นของเด็กเล่นพื้นบ้าน ตัวเรือทำจากกาบมะพร้าวโดยจะมีตัวคนที่ทำจากขุยมะพร้าวอยู่บนเรือ เมื่อเอาไปแล่นบนน้ำมันจะส่ายไปมาดุ๊กดิ๊ก ดูน่ารักมากๆ เลย

จากการไปภาคสนามครั้งนี้นอกจากจะได้ประสบการณ์ดีๆ แล้ว พวกเรายังได้ความรู้ใหม่อีกด้วย เช่น การใช้ไม้พะยอมในการรักษาน้ำตาลมะพร้าวไม่ให้มันบูด โดยคนในชุมชนจะนำเปลือกไม้พะยอมมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ( ที่ต้องนำเข้ามาจาก จ.ลำปาง เพราะ จ.สมุทรสงคราม ไม่มีไม้ไผ่) ก่อนนำไปเก็บน้ำตาลสดเพื่อป้องกันการบูดเสีย

หลังจากภาคสนามครั้งนี้พวกเราต้องกลับมาตั้งสมมติฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง นักท่องเที่ยว ระบบนิเวศและวัฒนธรรมต่อไป

เรื่องเล่าโดยสมาชิก Plearn Kid Creator พราว พันวา 6/2 พีค พันปกร 6/1