ภาคสนามช่วงชั้นมัธยม โรงเรียนเพลินพัฒนา

ทุกเดือนธันวาคมของแต่ละปีการศึกษาเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนระดับชั้น 7 – 11 ได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมภาคสนาม การไปภาคสนามทำให้เราเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่เราไม่อาจได้สัมผัสเมื่อเราอยู่เพียงแค่พื้นที่โรงเรียน การไปภาคสนามจึงเป็นโลกของความสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านกลุ่มคน โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ เป้าหมายคือออกไปศึกษาผู้อื่นเพื่อเข้าใจตนเองและโลกที่เราอยู่

การเตรียมภาคสนามให้เป็นพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน เริ่มจากการทำงานของทีมครูมัธยมในการลงสำรวจพื้นที่แหล่งเรียนรู้ในแต่ละเส้นทางช่วงเดือนกรกฎาคม เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมาย ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงและเชื่อมโยงความรู้หลากหลายแขนงสู่การปรับใช้ในชีวิตจริงได้ การสำรวจทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม และทุนมนุษย์ที่มีในแต่ละแหล่งเรียนรู้ของแต่ละเส้นทาง เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายทั้งด้านความรู้ ทักษะ และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม

ภาคสนามพื้นที่แห่งการเรียนรู้แบบบูรณาการ…

โจทย์และความท้าทายของครูประจำชั้นในฐานะของผู้ที่อำนวยการเรียนรู้ของนักเรียนคือ “จะทำอย่างไรให้พื้นที่ภาคสนามของตนนั้นไม่ได้หนักไปทางความรู้ด้านใดด้านหนึ่ง” เช่น พื้นที่แหล่งเรียนรู้ในลักษณะของแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณสถานหรือพิพิธภัณฑ์ จะดึงต้นทุนต่างๆ ของพื้นที่มาออกแบบการเรียนรู้อย่างไรให้นักเรียนเห็นในมิติความสัมพันธ์ของพื้นที่นั้นกับด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของโบราณสถานกับเศรษฐกิจในชุมชน การกลายมาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ดังนั้นทีมครูประจำชั้นจำเป็นต้องประชุม หาแนวทางในการวางโจทย์และออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากสภาพจริงให้ได้มากที่สุด จะเห็นได้ว่าโจทย์ที่นักเรียนต้องร่วมกันค้นคว้า เรียนรู้ และหาคำตอบนั้น หลายๆ พื้นที่เป็นโจทย์และคำถามที่นักเรียนร่วมกันตั้งขึ้นมาถึงในสิ่งที่พวกเขาอยากจะรู้ และเป็นโจทย์ที่ต้องใช้หลากหลายองค์ความรู้ และทักษะในการหาคำตอบ

ภาคสนามพื้นที่แห่งความผูกพันและความทรงจำร่วมกัน…

การไปภาคสนามนั้นไม่เพียงแต่นักเรียนจะได้เรียนรู้ในส่วนขององค์ความรู้ด้านต่างๆ แต่เพียงอย่างเดียว นักเรียนทุกคนยังได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ไม่ว่าจะเป็นอยู่ร่วมกับเพื่อนในชั้น กับครู กับวิทยากร และกับคนอื่นๆ ในชุมชน ภาพความทรงจำและประทับใจที่เกิดขึ้นตลอดในช่วงระยะเวลา 5 วันนั้น มีความหมายและคุณค่าต่อทั้งนักเรียนและครูมากเพราะเราต่างได้เรียนรู้และรู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้นผ่านการมีพื้นที่ชีวิตร่วมกัน ความประทับใจของครูที่เกิดขึ้นคือ ประทับใจในทีมครูด้วยกันที่ช่วยเหลือกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันตั้งแต่ช่วงการเตรียมตัววางแผนเส้นทาง และการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันที่ไปจริง และประทับใจในตัวนักเรียนจะเห็นได้ว่าเราได้รู้จักพวกเขามากขึ้น ในมุมอื่นๆ ที่ไม่สามารถเห็นได้จากโรงเรียน “มีเหตุการณ์ที่เด็กนักเรียนคนหนึ่งเสียใจและร้องไห้ เราได้เห็นนักเรียนคนหนึ่งแสดงความเห็นอกเห็นใจเพื่อนและเดินเข้าไปปลอบ ซึ่งเป็นภาพที่ประทับใจมาก แสดงให้เห็นว่านอกจากที่เขาจะมีความรู้สึกเห็นใจผู้อื่นแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าเขามีทักษะและความเป็นผู้ใหญ่ที่จะเดินเข้าไปอยู่เคียงข้างเพื่อน” ช่วงเวลาในการไปภาคสนามทำให้ครูและนักเรียนได้พูดคุย ได้สนิทกันมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนไม่สามารถนำโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ไปได้ เวลานั่งรถเดินทางนานๆ แล้วเกิดความรู้สึกเบื่อ นักเรียนก็จะพูดคุยกันเองหรือชวนครูพูดคุย ทำให้ได้รู้จักมุมส่วนตัวกันมากขึ้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา เราเห็นนักเรียนหลายๆ คนเติบโตขึ้น มีวุฒิภาวะและจัดการตัวเองได้ดีขึ้นจากค่ายเตรียมความพร้อม ซึ่งมันทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาในทิศทางที่ดีขึ้นผ่านการไปอยู่ด้วยกันตลอดเวลา 5 วัน ความประทับใจของนักเรียนในการไปภาคสนามครั้งนี้นอกจากจะประทับใจที่ครูออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่ได้หนักจนเกินไป มีช่วงเวลาให้พักผ่อน และได้เล่นกับเพื่อนบ้างแล้วนั้น ยังประทับใจที่ได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อน ได้มีความทรงจำร่วมกัน “เป็นความทรงจำที่ดีมาก สนุกกว่าที่คิดไว้ เพราะได้อยู่กับเพื่อน ได้ใช้เวลาด้วยกัน กับเพื่อนบางคนที่ปกติอาจจะไม่ได้สนิทกัน ไม่ค่อยได้คุยกัน แต่ได้มีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น ได้รู้ว่าเพื่อนก็มีหลายๆ อย่างที่ชอบเหมือนกับเรา ทำให้สนิทกันมากขึ้นจากการไปภาคสนาม”

นอกจากความประทับใจที่มีต่อเพื่อนด้วยกันเอง มุมมองต่างๆที่นักเรียนได้เรียนรู้ ผู้คนหลากหลายที่ได้สัมผัสในแต่ละพื้นที่ เป็นสิ่งที่ทำให้ได้เติบโตทางความคิด และเรียนรู้ที่จะเปิดรับเรื่องราวใหม่ ๆ ที่เขาได้พบเจอ

ชั้น 9 “ประทับใจผู้คนที่พบเจอ ที่โรงเรียนปอเนาะ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ เราเป็นชาวพุทธมาตลอด พอได้ไปคุยกับเพื่อนที่เป็นอิสลามเหมือนได้อีกมุมนึงที่ไม่เคยรู้ ชอบงานฝีมือที่ร้อยลูกปัดโนราห์ เพราะรู้สึกว่าสื่อถึงภาคใต้จริงๆ”

“ได้เห็นมุมมอง เห็นสังคมใหม่ๆที่เราไม่เคยเห็น ที่สวนป่าโมกข์ เคยไปตอนเด็กๆ ตอนนั้นรู้สึกไม่เข้าใจ แต่ไปรอบนี้รู้สึกว่าเข้าใจได้มากขึ้น”

ความประทับใจเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีความประทับใจอีกมากมายที่เกิดขึ้นแก่เด็กๆ ที่ได้ไปภาคสนาม รวมถึงคุณครูทุกท่านที่ได้ไปร่วมใช้เวลาแสนมีค่านอกห้องเรียนเหล่านี้กับเด็กๆ มัธยม ความรู้ที่อัดแน่น ความสนุที่กเต็มล้น และความสัมพันธ์ที่ถูกทักทออย่างดี สิ่งเหล่านี้จะเป็นความทรงจำแสนมีค่าที่จะติดตามทุกคนไปจนอีกนานแสนนาน จนกว่าจะพบกันอีกในภาคสนามครั้งถัดไป

บทความโดย นางสาวสริตา มยูขโชติ (ครูอุ้ม) และ นางสาววิสนี ทินโนรส (ครูเนส) คุณครูช่วงชั้นมัธยม

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2567