ภาคสนามชั้น 4 ระบบนิเวศป่าชายเลนเพชรบุรี และตั้งสมมติฐานการวิจัย | Plearn Content Creator

ภาคสนามชั้น 4 กับประสบการณ์ใหม่ที่ต้องห่างบ้านครั้งแรก 3 วัน 2 คืน ณ จังหวัดเพชรบุรี พวกเราได้เรียนรู้ ได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเรื่องการฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม เป็นการเปิดโลกกว้าง ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่ มีอะไรให้เราได้เรียนรู้อีกเยอะเลย

การเดินทางในครั้งนี้ เริ่มจากการสำรวจรอยต่อของน้ำจืดและน้ำเค็มที่สะพานเฉลิมพระเกียรติ บริเวณปากอ่าวบางตะบูน ซึ่งพวกเราได้เห็นวิถีชีวิตของชุมชนบริเวณแม่น้ำเพชรบุรีทั้งการตั้งของบ้านเรือน และการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำอาชีพประมงและพักอาศัยอยู่ริมน้ำ ต่อจากนั้นพวกเราได้ไปที่โรงเรียนบางตะบูนวิทยาเพื่อดูพื้นที่ป่าชายเลน และวางกริด (อุปกรณ์ที่นำมากำหนดขอบเขตพื้นที่ให้แคบลง ช่วยให้เห็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่าชายเลนได้ชัดเจนมากขึ้น) ที่นั่นมีทั้ง ปูแสม กุ้งดีดขัน และปลาตีน

พวกเราไปต่อกันที่ป่าชายเลนใกล้บริเวณ Art of salt เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกนำมาใช้สร้างเป็นสิ่งปลูกสร้าง ส่งผลให้สภาพแวดล้อมของป่าชายเลนเริ่มเสื่อมโทรม ขณะเดียวกันก็ได้เห็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน และมูลค่าของสิ่งมีชีวิตที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เช่นการทำประมงจากการหาหอย หาปลา และพวกเรายังได้พบกับปูเสฉวนมากถึง 200 กว่าตัวที่มาอาศัยอยู่ในเปลือกหอยซึ่งมีส่วนช่วยในการย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ต่างๆ

วันสุดท้ายก่อนจบการเรียนรู้ พวกเรามุ่งหน้าสู่สวนลุงอู๊ด ซึ่งตอนแรกคุณลุงทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบทั่วไป แต่สุดท้ายหันมาทำเกษตรเชิงนิเวศ มีการจัดสรรพื้นที่เพื่อให้สิ่งมีชีวิตเกื้อกูลกันและเกิดประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตภายในสวน เช่นการใช้ร่มเงาต้นไม้และไม้คลุมดินเพื่อลดอุณหภูมิ ซึ่งนอกจากจะสร้างอาชีพที่ยั่งยืนแล้ว ยังได้สร้างระบบนิเวศในสวนของตนเองให้สัตว์ได้พึ่งพาอาศัยกัน สร้างความสมบูรณ์ในพื้นที่ โดยมีหลักการ 5 ข้อดังนี้ มีความหลากหลาย มีความยั่งยืน มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน สร้างความมีส่วนร่วมในชุมชน และสร้างความสัมพันธ์กันเป็นวงจร

พวกเราได้สัมภาษณ์คุณลุงอู๊ดเจ้าของสวนที่มาให้ความรู้ใหม่ๆ กับเด็กๆ เช่น เรื่องของมะพร้าว ลุงอู๊ดจะนำเกลือมาโรยรอบต้นมะพร้าวเพื่อให้รากดูดซึมเข้าไปในลำต้น จะช่วยให้มะพร้าวสามารถเจริญเติบโตได้ดี และนำใบมะพร้าวมาปูไว้รอบๆ พื้นที่ในสวนเพื่อดูดความชื้นช่วยให้ดินชุ่มชื่น ป็นการช่วยทั้งต้นมะพร้าวและดินให้สมบูรณ์ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ในสวนของลุงอู๊ดยังมีสัตว์ และพืช ที่พึ่งพาอาศัยกัน เช่น ผึ้งชันโรง ที่ไปดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เอาน้ำหวานมาไว้ในรังเป็นน้ำผึ้ง สามารถแบ่งปันสู่ชุมชนและสร้างรายได้

“ การได้ออกไปภาคสนามรอบนี้รู้สึกสนุกเพราะ ได้มีเพื่อนร่วมพูดคุยทั้งตอนได้นั่งรถไปด้วยกัน และก่อนเข้านอน แต่การไปภาคสนามครั้งนี้ ก็มีอุปสรรค นั่นคือ ความร้อน ตอนไปป่าชายเลนรู้สึกร้อนมาก เพราะเป็นป่าชายเลนที่ติดทะเลและมีแดดเยอะ แต่ก็สามารถอดทนผ่านมาได้ และก้าวข้ามผ่านความกลัวที่ต้องห่างบ้านเป็นเวลาหลายๆ วัน รู้สึกภูมิใจที่สามารถดูแลตัวเองได้ ”

– น้องบรู๊ค ชั้น 4

เรื่องเล่าภาคสนามผ่านประสบการณ์และมุมมอง สมาชิกกลุ่ม Plearn Content Creator
PCC003 ด.ญ. ธนัชญาน์ ดิษฐกองทอง ธัญญ่า – ชั้น4/5
PCC011 ด.ช. คุณณากร ทรัพยวณิช บรู๊ค – ชั้น 4/1
PCC029 ด.ญ.วรินทร์ลดา เจริญวุฒิ เอวี่ – ชั้น 4/5

ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567