เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
จุดหมุน … แรงต้านวัตถุ … แรงพยายาม ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ที่ฟังเข้าใจยาก แต่เมื่อเด็กๆ ชั้น 3 ได้ทำการทดลองด้วยตนเองแล้ว กลับทำให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยากอย่างที่คิด คุณครูพาเด็กๆ ทดลองเพื่อสร้างความเข้าใจ “หลักการทำงานของคาน” ผ่านม้ากระดกที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี
คุณครูวางไม้คานบนจุดหมุน โดยมีระยะทางของไม้คานฝั่งซ้ายและขวาห่างจากจุดหมุนเท่าๆ กัน จากนั้นจึงแขวนลูกบอลพลาสติกใส่ทรายน้ำหนัก 200 กรัม และ 300 กรัม บนไม้คานคนละฝั่ง และให้นักเรียนคาดเดาว่าม้ากระดกจะเป็นอย่างไร
“ไม้คานที่แขวนลูกบอล 300 กรัม เอียงลง ส่วนไม้คานที่แขวนลูกบอล 200 กรัมกระดกขึ้น” เด็กๆ ตอบอย่างไม่ลังเล
คุณครูถามต่อ “เราจะทำอย่างไรให้ลูกบอล 300 กรัม ลอยขึ้นมาเท่ากับลูกบอล 200 กรัม” เด็กๆ หยุดคิด และทดลองขยับตำแหน่งลูกบอล
คุณครูอธิบายเพิ่มเติมว่าตำแหน่งบนไม้คานที่ลูกบอลพลาสติกใส่ทรายน้ำหนัก 300 กรัมแขวนอยู่เรียกว่า “แรงต้านของวัตถุ” ส่วนตำแหน่งบนไม้คานที่ลูกบอลพลาสติกใส่ทรายน้ำหนัก 200 กรัมแขวนอยู่ เรียกว่า “แรงพยายาม” โดยส่วนประกอบของคาน มี 3 ส่วน คือ จุดหมุน แรงต้านวัตถุ และแรงพยายาม
เมื่อเด็กๆ เข้าใจหลักการของ “คาน” แล้ว ก็ถึงเวลาทำโจทย์ท้าทายบ้าง คุณครูให้เด็กๆ ทดลองใช้คานไม้ไผ่แบกถุงทราย 1 กก. แล้วค้นหาว่า “จุดหมุนควรอยู่ตำแหน่งใดของบ่า จึงทำให้รู้สึกเบาที่สุด” ในครั้งนี้เด็กๆ ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับการทดลอง โดยผลัดกันแบกไม้ไผ่และให้เพื่อนนำถุงทราย 1 กก.ไปแขวน คนที่แขวนถุงทรายจะค่อยๆ ปรับตำแหน่งของถุงโดยมีไหล่เป็นจุดหมุน มีเพื่อนๆ ช่วยประคองถุงทราย จนกระทั่งได้ตำแหน่งที่รู้สึกเบาที่สุด
หลังจากที่เด็กๆ ช่วยกันทดลองขยับถุงทรายกันหลายรอบก็พบว่าจุดหมุนต้องอยู่ใกล้กับแรงต้านของวัตถุ (ถุงทราย) และอยู่ไกลจากแรงพยายาม (จุดที่มือจับยกวัตถุ) จึงจะทำให้รู้สึกเบาที่สุด ดังนั้นคานจะช่วยผ่อนแรงในการทำงานก็ต่อเมื่อมีการจัดวางตำแหน่งของจุดหมุน แรงต้านวัตถุ และแรงพยายามได้อย่างเหมาะสม
การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นใน 90 นาทีนี้ไม่มีช่วงเวลาใดที่เด็กๆ จะขาดช่วงของการแสดงความคิดเห็น ทั้งถามตอบกับคุณครู แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ คุณครูมีหน้าที่คอยสนับสนุน ตั้งคำถาม และอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจ เมื่อเด็กๆ รู้สึกสนุก การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องง่าย
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2563