การออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตผ่านงานภาคสนาม และ Day Trip

อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของคุณครูเพลินพัฒนา คือการจัดกิจกรรมภาคสนามให้กับนักเรียนที่มีเป้าหมายเชื่อมการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่โลกจริง

ขอบคุณผู้ใช้ facebook Chatbodin Artharn ที่แบ่งปันความประทับใจการจัดกิจกรรมภาคสนามของ รร.เพลินพัฒนา จากการนำเสนอในงาน Educa 2024 รูปแบบ online โดยคุณครูวิสนี ทินโนรส (ครูเนส) และคุณครูสริตา มยูขโชติ (ครูอุ้ม) ช่วงชั้นมัธยม

ครูเนสและครูอุ้มได้เล่าถึงวิธีคิด วิธีการ และตัวอย่างของครูในฐานะผู้ออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ เมื่อต้องพาผู้เรียนระดับชั้น 7-11 (ม.1-ม.5) ไปสัมผัสกับประสบการณ์ภาคสนาม

ซึ่งสามารถสรุปประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้แบ่งออกเป็น 3 ข้อ ได้แก่

  1. เป้าหมาย (Objective)
  2. เครื่องมือ (Tools)
  3. หลักการ (Principle)

[1] ความหมายในการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเป้าหมาย (Objective) ที่ชัดเจน โดยคาดหวังผู้เรียนจะเกิดความรู้ความสามารถ (Literacies Outcome) ทั้งหมด 6 ด้าน ดังนี้

Civic Literacy – เข้าใจโครงสร้างทางสังคม

Economic and Financial Literacy – วางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และใช้ทักษักผู้ประกอบการในการยกระดับคุณภาพชีวิตทางสังคม

Human Literacy – มีเจตจำนงในการพัฒนาตนเอง เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์

Science and Technology Literacy – ใช้กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน และมีอุปนิสัยใคร่รู้และเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้

Environment Literacy – ตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้องค์ความรู้แขนงต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาทางสังคม

Cultural Literacy – เข้าใจในแบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ มีปฏิสัมพันธ์ภายใต้วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย

โดยเป้าหมายทั้ง 6 ข้อนั้นเปรียบเสมือนกับการปักธง เพื่อมองหาว่าภาคสนามที่กำลังจะเดินทางไป เราสามารถออกแบบประสบการณ์ของผู้เรียนอย่างไรให้นำไปสู่ผลลัพธ์ (Literacies Outcome) ที่ตั้งไว้

[2] ก็ต้องมีเครื่องมือ (Tools) ที่นำพาผู้เรียนเดินทางไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ ไม่ว่าใบงาน กระดาษ ปากกา สมุดบันทึกร่องรอยความคิด ที่เปิดอิสระให้นักเรียนบันทึก “อะไรก็ได้” ที่เขาพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นไอเดียปิ๊งแว้บ สเกตภาพที่มองเห็นระหว่างทาง

[3] กระบวนการ (Process) ที่ชัดเจน ทุกกิจกรรมในการลงภาคสนามนั้นจะมี “แก่นหลักการ” ให้ยึดเอาไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบชุดประสบการณ์

สรุปก็คือการทัศนศึกษา ลงภาคสนาม หรือ Day Trip จึงเป็นการทำงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ “วางแผนก่อนได้รับประสบการณ์” “กระบวนการระหว่างสัมผัสประสบการณ์” และ “กิจกรรมหลังจากได้รับประสบการณ์” โดยต้องผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนถึงความใส่ใจและการยึดการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก