เราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
ตั้งใจเข้ามาช่วยงานโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน และเพราะเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงดู (It takes a village to raise a child.)
ได้เห็นคุณแม่ คุณป้าทาเล็บสวยๆ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากทาเล็บให้สวยแบบนั้นบ้าง เมื่อเริ่มคุยกับคุณแม่ว่าสนใจและอยากเรียนรู้ คุณแม่จึงช่วยสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์ให้ พาไปที่ร้านทาเล็บเพื่อศึกษากับช่างมืออาชีพ เรียนรู้เพิ่มเติมจาก youtube ฝึกทา และทดลองสร้างลายต่างๆ ให้คุณแม่และคุณป้าไปเรื่อย ๆ จนเริ่มคล่องจึงเริ่มออกมาทาเล็บให้ลูกค้าในคาเฟ่ของครอบครัว รายได้ที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงชานันท์ตั้งใจนำไปซื้อของขวัญให้เพื่อนรัก และซื้ออุปกรณ์ทาเล็บเพิ่มเติมด้วย
คุณแม่น้องชานันท์ เล่าว่า “ น้องมีความตั้งใจ ศึกษา ค้นคว้า เมื่อมีเวลาว่างจะสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ตลอดเวลา ฝึกออกแบบลายในสมุดโน้ตเล็กๆของเขา … สิ่งที่ประหลาดใจมากๆ คือ โดยปกติ ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนอยากให้ลูกทาเล็บเลย แต่โรงเรียนกลับอนุญาตให้ชานันท์ทำโครงการทาเล็บได้ สิ่งที่แม่ทำได้ก็แค่สนับสนุนทั้งเรื่องอุปกรณ์ และโอกาสในการฝึกทาเล็บ ตอนแรกก็คิดว่าทาเล็บเป็นเรื่องง่ายๆ ทำไมต้องฝึก แต่พอลองจริงๆ มันต้องฝึกค่ะ” (หัวเราะ)
ลูกค้าของชานันท์มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกคนที่ทาเล็บกับชานันท์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงความตั้งใจ ความพยายาม ความพิถีพิถัน และความช่างพูดช่างคุย ชานันท์จะพิจารณาการเลือกสีทาเล็บจากการแต่งกายของลูกค้าแต่ละคนที่มาทำเล็บว่าควรใช้สีอะไร แบบไหน ขั้นตอนทาเล็บเริ่มจากทาสีเล็บ 2 รอบ เคลือบเล็บ ตกแต่งเล็บด้วยมุกหรือเพชรแล้วเคลือบอีกรอบในราคา 20 บาท นอกจากความใส่ใจที่มีให้ลูกค้าแล้ว ชานันท์ยังมีเทคนิคการขายที่น่าสนใจด้วย ครั้งหนึ่งเคยเสนอทาเล็บให้พี่ๆ ที่ออฟฟิศของคุณแม่ แต่พี่ๆ มีเงิน 100 บาทชานันท์จึงออกการ์ดให้ลูกค้า 1 ใบ แล้วเขียนกำกับไว้ว่าสามารถทำเล็บได้อีก 4 ครั้ง
“เคยถามลูกว่า อยากขึ้นค่าทำเล็บไหม ลูกตอบกลับมาว่า 20 บาทพอแล้วค่ะแม่ เพราะหนูยังอยู่ในช่วงฝึกหัด อยากขอบคุณครูทุกคนที่เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกในแบบของเขา ขอบคุณที่ครูสนับสนุน และสอนชานันท์ให้เพิ่มการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มในสิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่ได้มากกว่าค่าตอบแทนคือโอกาสของการเรียนรู้ การทาเล็บอาจเป็นเพียงแค่แบบฝึกหัดที่ช่วยพัฒนาความสามารถที่จะพกติดตัวเขาไปได้ เขาต้องพบกับอุปสรรค คำติชม การต่อรองจากลูกค้า ความอะลุ่มอล่วย หากลูกค้ามีเงินไม่พอจ่าย ทักษะการสังเกตรูปร่างเล็บแต่ละคนที่แตกต่างกัน การทาเล็บก็มีความยากง่ายต่างกัน ทักษะเหล่านี้จะติดตัวเขาไปไม่ว่าเขาจะทำงานด้านไหนก็ตามค่ะ ” คุณแม่สะท้อน
ด้าน ครูมายด์ – คุณครูรุ่งนภา สาธร คุณครูประจำชั้นของน้องชานันท์ที่คอยให้คำแนะนำต่าง ๆ บอกเล่าด้วยความอิ่มใจ
“ครูเห็นการเติบโตของชานันท์ในทุกๆ ด้านเห็นความสุขขณะที่เขาบรรจงทาเล็บให้ครู ช่วงเวลาหลังเลิกเรียนที่ได้มานั่งทาเล็บและได้พูดคุยกัน ช่วยลดระยะห่างให้ชานันท์ได้ใกล้ชิดครู กล้าที่จะพูดคุยมากขึ้น ส่งผลให้การเรียนรู้ในวิชาต่าง ๆ ดีขึ้นด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดคือสมาธิจดจ่อ ความมุ่งมั่นตั้งใจ เปลี่ยนเด็กขี้อายที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าทำ ‘เชื่อว่าฉันทำได้’ ชานันท์บอกครูว่าเขาใช้เงินจากการทาเล็บซื้อของขวัญให้เพื่อนได้ตามความตั้งใจแต่ราคาไม่เท่าที่เพื่อนบอกไว้ เพราะเขารู้สึกเห็นคุณค่าของเงินที่หามาได้ นอกจากนี้ชานันท์ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนในเรื่องของการเขียนบันทึกการเรียนรู้ลงสมุดโน้ตเล็กๆ ทำให้เพื่อนๆ อยากทำตาม … ปกติครูห้ามทาเล็บนะคะ แต่ก็ได้ปรึกษากันเพื่อให้พื้นที่เขาได้แสดงออก จึงให้ทาได้ในวันศุกร์ แล้วค่อยไปลบออก ส่วนเด็กๆ ที่เขาสนใจต้องทากันในวันหยุด ซึ่งเขาก็เรียนรู้และเคารพกติกาค่ะ”
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563