“โลกของสัตว์” ภาคสนามชั้น 1 ฉันทะ 2566

“ในรังมดมันมีห้องอะไรบ้างครับ ตัวเขียวๆ นี่มันคืออะไรหรอครับ เพลี้ยคืออะไรคะ เดือยไก่เอาไว้ทำอะไรคะ พี่ครับนี่มดพันธุ์อะไร ดูนี่สิเราเจอปู มันมีไข่เต็มท้องเลย ใช่ๆ เราเจอจิ้งโจ้น้ำด้วย”

เสียงใสๆ ที่เต็มไปด้วยความกระหายใคร่รู้ ดังเจื้อยแจ้วไปทั่วป่า เด็กๆ สลับกันยกมือถามคำถาม ส่วนพี่ๆ ก็ตั้งใจตอบคำถามน้องๆ จากประสบการณ์ทั้งหมดที่ตนเองมี ภาพบรรยากาศของการร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นไปอย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ ตรงไหนเจออะไรน่าสนใจ เด็กๆ ก็ต่างชี้ชวนกันไปสำรวจ สังเกต สัมผัส

กิจกรรมภาคสนามของเด็กๆ ชั้น 1 ได้เดินทางไปที่ The Hidden Fall (ในสวนลับ) ที่นี่เป็นลำธารที่ไหลตรงมาจากน้ำตกชันตาเถร ที่ซึ่งเต็มไปด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายและสัตว์นานาชนิด ชื่อในสวนลับ แสดงว่ามีความลับ เด็กชายคนหนึ่งพูดขณะที่กำลังเดินผ่านเล้าไก่ ใช่ๆ แสดงว่าวันนี้เราก็ต้องมาช่วยกันหาความลับ เด็กผู้หญิงอีกคนนึงตอบ วันนี้ล่ะ เด็กๆ จะได้รู้ความลับเกี่ยวกับสัตว์อีกเยอะแยะเลย ฉันคิด……

สำหรับการเรียนรู้ที่โรงเรียน เด็กๆ ได้ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันทางสังคมของสัตว์ ความแตกต่างตามลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและการปรับตัวของสัตว์ชนิดต่างๆ นำมาสู่การจัดจำแนกกลุ่มสัตว์ตามเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ลักษณะภายนอก เช่น กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก ปลา สัตว์ขาปล้อง แมลง แมง ครัสเตเซียน และกลุ่มขามาก

จากความรู้ที่ได้รับ ในวิชามานุษกับโลก ต่อยอดสู่การตั้งคำถามวิจัย โดยเด็กๆ ได้ช่วยกันเลือกสัตว์ที่ตนเองมีความสนใจ เช่น มด ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มแมลง จิ้งจก ที่เป็นตัวแทนของสัตว์เลื้อยคลาน และ ไก่ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มสัตว์ปีก ได้ฝึกการใช้ทักษะการสังเกตอย่างละเอียดและตั้งคำถาม เช่น มดน่าจะชอบกินน้ำหวานสีอะไรมากที่สุด จิ้งจกจะสามารถพรางตัวในพื้นหลังแบบใดได้บ้าง ไก่จะขันแค่ในช่วงเวลาเช้าเท่านั้นใช่หรือไม่

“เมื่อเกิดคำถาม ก็ต้องหาคำตอบ” เด็กๆ จึงได้รับมอบหมายภารกิจประจำสัปดาห์ เพื่อกลับไปหาความรู้เพิ่มเติม ตลอดจนการออกแบบการทดลอง ลงมือปฏิบัติ และบันทึกผล บ้างก็เป็นไปตามที่ตนเองคาดเดาไว้ และบ้างก็ไม่เป็นเช่นนั้น

กิจกรรมภาคสนาม จึงเป็นเสมือนสถานที่ ที่เด็กๆ จะได้นำข้อมูลที่ตนเองได้ทำวิจัยมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับข้อมูลความรู้ชุดใหม่ เพื่อนำกลับมาสนับสนุนงานวิจัยของตนเอง

“มดน่าจะชอบกินอาหารที่กินง่ายๆ ก่อน มันเลยเลือกไปกินน้ำหวานก่อนอาหารชนิดอื่น”

“เพราะปากมดมันเล็กมาก มันเลยชอบกินของที่เป็นน้ำๆ”

“ของชิ้นใหญ่ๆ มันยังไม่กินแต่จะเก็บไปให้นางพญากิน”

“น้ำหวานสีเขียวน่าจะมีกลิ่นมากกว่าน้ำหวานสีอื่น มดเลยชอบ”

ในตอนท้ายของกิจกรรม เด็กๆ พยายามประมวลความรู้ทั้งหมดที่ตนเองมี ผสมผสานกับความรู้ใหม่ที่พี่ๆ มอบให้ นำมาอธิบายผลลัพธ์งานวิจัยของตนเอง

“ตั้งแต่ผมถ่ายทอดความรู้ให้น้องๆ มาหลายครั้ง ไม่เคยมีน้องๆ คนไหนถามคำถามผมแบบที่น้องๆ ถามเลยครับ คำถามของน้องๆ น่าสนใจมาก เช่น ไก่มีหงอนไปทำไม ทำไมไก่บางตัวถึงหงอนตก ตัวผมเองไม่เคยสงสัยเลย

แต่พอน้องถามมา ผมต้องรีบกลับไปทำการบ้าน อ่านหนังสือ หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เพื่อกลับมาตอบคำถามน้องๆ เลยครับ น้องๆ มาก็ดีเหมือนกันนะครับ ผมก็ได้ความรู้ไปด้วย ”

พี่ซัน เด็กชายผู้อาศัยอยู่ที่นี่ เป็นผู้ที่มีความสนใจในการเลี้ยงไก่และฟักไข่ และเป็นผู้รับหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ในกิจกรรมภาคสนามให้น้องๆ ชั้น 1 เป็นระยะเวลา 5 วันติด บอกกับฉันด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม

“พี่ขอให้น้องๆ นำความรู้ที่พี่ได้ถ่ายทอดให้ ไปถ่ายทอดต่อ เพื่อให้เป็นประโยชน์ ต่อน้องๆคนอื่นๆ ต่อไปนะครับ” ประโยคสุดท้ายที่พี่ซันฝากไว้ ก่อนที่พวกเราจะลากัน น้องๆ พยักหน้าและกล่าวขอบคุณพี่ๆ

ตอนนี้ ฉันแน่ใจแล้วว่า เด็กๆ คงจะได้ล่วงรู้ความลับ เกี่ยวกับเจ้าพวกสัตว์ในสวนลับนี้ กลับบ้านไปไม่มากก็น้อย….

✏️บทความโดย ครูนิ้ง – นันท์ณิชา พัดเกร็ด

ครูภูมิปัญญาภาษาไทย ช่วงชั้น 1

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2566