เรื่องเล่าศิษย์เก่าเพลินฯ : คุณหมอฟันบนเส้นทางวิชาการ อะตอม รุ่น 1

ในโลกของการทำงานถ้าลูกของเราได้เลือกทำในสิ่งที่ชอบ ใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีความหมาย ไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง ก้าวไปข้างหน้าอย่างคนมีฝัน เพียงเท่านี้คนเป็นพ่อแม่ก็มีความสุขแล้ว …

หลังจากได้พบเจอศิษย์เก่าหลายๆคนได้พุดคุย ทักทายกัน ทำให้เกิดความมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์น้อยๆ เมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้ค่อยๆ หยั่งรากลึก เติบโตอย่างมั่นคงพร้อมแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแล้ว

อะตอม – นายก้องภพ พิทักษ์สินสุข ศิษย์เก่าเพลินพัฒนา รุ่นที่ ๑ คือคนหนึ่งที่เป็นแบบอย่างของความมุ่งมั่นตั้งใจทำในสิ่งที่ชอบ จากจุดเริ่มต้นที่อยากทำให้ครอบครัวภูมิใจจึงมีเป้าหมายศึกษาต่อในคณะทันตแพทย์ แม้จะพลาดหวังคะแนนขาดไปเพียง ๑% แต่อะตอมก็ยังไม่ละความพยายาม จึงเข้าเรียนในคณะสหเวชศาสตร์ สาขาเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อนในปีแรกเพื่อเตรียมพร้อมในวิชาชีววิทยาและเคมีก่อนลงสอบใหม่ในปีถัดไป…

ในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ อะตอมจบการศึกษาจากคณะทันตแพทยศาสตร์ ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ ๑ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะและมหาวิทยาลัยที่จบมา ทั้งยังมีแผนศึกษาต่อด้านศัลยกรรมเกี่ยวกับการผ่าตัดขากรรไกรและตั้งใจกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะต่อด้วย

ทำไมจึงเลือกเป็นอาจารย์ ซึ่งบางคนอาจจะอยากเปิดคลินิกของตนเอง หรืออาจกลับไปสานต่อคลินิกของครอบครัว

อะตอม : เป็นเพราะว่าขณะที่ผมเรียนอยู่ผมค้นพบตัวเองว่าผมชอบงานสายไหน ซึ่งตอนนั้นพอมีอาจารย์มาชวน ก็ทำให้ผมคิดหนักอยู่สักพัก ผมมองว่าการที่เราตัดสินจะเลือกอะไรก็ต้องขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนครับ “คำว่าชีวิตที่ดี” สำหรับผมอาจไม่ได้หมายถึงการที่มีเงินเยอะๆ แต่ผมมองว่ามันคือการที่เราได้มีความสุขกับสิ่งที่เรากำลังทำครับ ผมเป็นคนชอบทำงานวิจัยและชอบหาความรู้ใหม่ๆ และอยากจะถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดว่าดีให้ผู้อื่นได้ลองทำดู ก็คงด้วยเหตุผลประมาณนี้ครับ ทำให้ผมเลือกที่จะเป็นอาจารย์เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในสายงานวิชาการต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมก็กำลังสนุกกับสิ่งที่ทำครับ

การใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยแตกต่างจากมัธยมอย่างไร และต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

อะตอม : มีการปรับตัวเยอะพอสมควรครับ เหมือนตอนอยู่ที่เพลินฯ เราจะสนิทกับคุณครูเวลามีปัญหาอะไรก็ปรึกษาได้ตลอด แต่พออยู่มหาวิทยาลัยจะมีความห่างระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ทำให้เวลามีปัญหาอะไรก็ต้องแก้ด้วยตัวเองเป็นหลัก ส่วนเรื่องการเรียนก็จะค่อนข้างต่างกันตรงที่ในมหาวิทยาลัยจะมีการแข่งขันที่สูง เพราะการตัดเกรดจะอิงกลุ่ม ซึ่งการที่เราคะแนนถึงแม้จะทำได้ ๘๐ คะแนนจาก ๑๐๐ แต่ถ้าเพื่อนส่วนมากทำได้มากกว่านั้นเกรดเราก็จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทำให้บางครั้งก็ต้องอ่านหนังสือเยอะขึ้น เพื่อเน้นทำให้ไม่ผิดเลย

แล้วการอ่านหนังสือแต่ละครั้งไม่ได้อ่านเพื่อเอาไปใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนตอน ม.ปลาย แต่ความรู้ส่วนมากจะต่อเนื่องจำเป็นต้องเอาไปใช้ต่อยอดตลอดในสายอาชีพนั้นๆ
อย่างของผมปี ๒ จะเรียนพวกระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย และหน้าที่ต่างๆของแต่ละอวัยวะตามปกติ แต่พอปี ๓ จะเรียนพวกที่เป็นความผิดปกติต่างๆ ดังนั้นถ้าเราไม่รู้ว่าปกติเป็นยังไง เวลาเจออาการที่ผิดปกติเราก็จะไม่สามารถหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้ แล้วพอขึ้นมาปี ๔ ก็จะเริ่มทำคนไข้จริง ดังนั้นมันต้องมีความรู้ต่างๆสะสมมากพอเพื่อที่จะประยุกต์นำมาใช้ได้

นำวิธีการเรียนรู้แบบเพลินพัฒนาไปปรับใช้อย่างไร


อะตอม : ผมมองว่าข้อดีของการที่ผมได้เรียนที่เพลินฯ คือการประยุกต์ใช้ความรู้ครับ เพราะเมื่อได้รู้เนื้อหาแล้ว บางคนจะยังมองภาพของการนำไปใช้ไม่ออก แต่ผมมองว่าการสอนของที่เพลินฯ คือการทำความเข้าใจในตัวพื้นฐาน ดังนั้นเวลาที่ผมเรียนผมจะอาศัยการทำความเข้าใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมมองว่าการทำความเข้าใจกับพื้นฐานของวิชานั้นๆเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถเข้าใจในตัววิชาและมองภาพการนำมาใช้จริงได้

ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้อะตอมบนเส้นทางสายงานวิชาการนะคะ ขอให้อะตอมประสบความสำเร็จและมีความสุขในการทำงานนะคะ 🙂

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2560