อาหาร 4 ภาค: ชั้น 2

อาหารคาวหวานประจำภาคหลากชนิดถูกจัดเตรียมให้เด็กๆ ชั้น 2 ได้ลิ้มรส กินกับขนมจีน ทั้งแกงเขียวหวาน น้ำเงี้ยว ส้มตำ น้ำยาปลาร้า แกงเหลือง แกงไตปลา มาพร้อมผักเครื่องเคียงพื้นถิ่นที่เด็กๆไม่คุ้นเคย เช่น ผักแพรว ผักแขยง ยอดมะม่วงหิมพานต์ และอาหารอีกหลายชนิด

ชิมไป เผ็ดไป แต่ก็อยากชิมต่อ .. คุณครูจึงมีตัวช่วยลดความเผ็ดร้อนด้วยกล้วยบวชชี ข้าวซอยตัด ขนมโค ข้าวเกรียบ ของหวานประจำภาคให้ลิ้มลอง

เด็กๆ ได้ชิมอาหารเพื่อหารสชาติเด่นของแต่ละภาค ทำความรู้จักกับวัตถุดิบหลักประจำภาคต่างๆ และรับชมการแสดงร้องเล่นเต้นรำจากคุณครูที่สะท้อนศิลปะวัฒนธรรมประจำภาคด้วย ฟ้อนขันดอก (ภาคเหนือ) รำดีดไห (ภาคอีสาน) รำเคียวเกี่ยวข้าว (ภาคกลาง) การแสดงลิเกฮูลู (ภาคใต้) ช่วยสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน

จากนั้นจึงสรุปการเรียนรู้ผ่านการคิดคลังคำเกี่ยวกับวัฒนธรรมและอาหาร 4 ภาคในประเด็นของการแสดงพื้นบ้าน ลักษณะการแต่งกาย ลักษณะรูปร่าง นิสัย วัตถุดิบหลัก และรสชาติอาหารแต่ละภาค โดยนำคลังคำมาใช้ในการเขียนบรรยาย แต่งกลอน วาดภาพประกอบในรูปแบบที่ตนเองสนใจ

รสชาติอาหาร วิถีชีวิต สภาพภูมิอากาศยังส่งผลต่อธาตุเจ้าเรือนของผู้คนในแต่ละภูมิภาคด้วย

ภาคเหนือ รสเผ็ดมัน อากาศหนาวเย็น นิสัยไม่เร่งรีบ (ธาตุน้ำ)

ภาคอีสาน รสเผ็ดนำ มีนิสัยสนุกสนานครื้นเครง (ธาตุลม)

ภาคกลาง รสมันหวาน เผ็ดไม่มาก นิสัยไม่ช้า ไม่เร็วเกินไป (ธาตุดิน)

ภาคใต้ รสเผ็ดร้อน วัตถุดิบหลักคือขมิ้น นิสัยคล่องแคล่วว่องไว (ธาตุไฟ)

จบคาบเรียนด้วยความอิ่มอร่อย ทั้งยังได้เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านสื่อการเรียนรู้ที่ครูจัดเตรียมให้

#ประสบการณ์สร้างได้ในห้องเรียน

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2563