“สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ สู่การเรียนรู้พื้นที่สีเขียว” ภาคสนามชั้น 2

เมื่อช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ของภาคเรียนฉันทะเดินทางมาถึงสัปดาห์ที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ รอคอยที่จะได้ออกภาคสนาม นักวิจัยตัวน้อยต่างมีคำถามมากมายมาสอบถามคุณครูอยู่เสมอ “ภาคสนามครั้งนี้เราจะไปที่ไหนกันคะ” “ภาคสนามครั้งนี้เราจะได้ทำอะไรบ้างครับ” “คุณครูจะให้พวกหนูเตรียมอะไรบ้าง” “หนูต้องมาถึงโรงเรียนกี่โมงคะ” เด็ก ๆ ต่างตื่นเต้นและรอคอยวันที่จะได้ออกภาคสนาม และคุณครูอย่างพวกเราก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน

กิจกรรมภาคสนามของเด็ก ๆ ชั้น 2 จะศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว โดยเริ่มต้นจากพื้นที่ใกล้ตัวของเด็ก ๆ และเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน นั่นคือ โรงเรียนเพลินพัฒนาของพวกเรานั่นเอง ก่อนที่การเรียนรู้จะเดินทางมาถึงกิจกรรมภาคสนาม เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ความสำคัญและซึมซับคุณค่าของพื้นที่สีเขียว ผ่านกิจกรรมการสำรวจโรงเรียน สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและปัญหาของการที่พื้นที่สีเขียวลดลง ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาที่เด็ก ๆ พบจากการที่พื้นที่สีเขียวลดลง แต่นักวิจัยตัวน้อยของเรายังพบข้อดีที่ซ่อนอยู่ในปัญหานั้นด้วย เด็ก ๆ สะท้อนว่า “แม้พื้นที่สีเขียวจะลดลง แต่เราก็มีอาคารเรียนเพิ่มนะ” “และมีห้องให้เพื่อน ๆ เพิ่มด้วยล่ะ” ดังนั้น ภารกิจของพวกเราคือ จะทำอย่างไรกันนะให้อาคารเรียนของเรามีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น เด็ก ๆ ตอบได้ทันทีว่าเราต้องปลูกต้นไม้ แต่ต้นไม้แบบไหนกันล่ะ ที่จะมีประโยชน์สำหรับอาคารเรียนของเรามากที่สุด

ภารกิจการเรียนรู้จึงเริ่มต้นขึ้น โดยเด็กๆ จะได้รับความรู้จากหน่วยวิชามานุษกับโลก เรื่องคุณค่าและประโยชน์ของต้นไม้ หน้าที่และส่วนประกอบต่าง ๆ ไล่เรียงจากส่วนที่เห็นชัดที่สุดและอยู่ด้านบนสุด คือ ใบ ลำต้น ราก และเมล็ด รวมถึงเรียนรู้ปัจจัยที่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตเป็นต้นที่สมบูรณ์ เมื่อนักวิจัยตัวน้อยของเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับต้นไม้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การหาคำตอบจากคำถามที่สงสัยก็ค่อย ๆ มีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เด็ก ๆ ได้ตกผลึกความรู้ขึ้นอย่างชัดเจนในคาบเรียนวิจัย ว่าต้นไม้ที่เหมาะสำหรับการสร้างพื้นที่สีเขียวในอาคาร ควรเป็นต้นไม้ที่ลดฝุ่น ลดอุณหภูมิ และสร้างความผ่อนคลาย พวกเขาจึงเลือกทำวิจัยจากกลุ่มต้นไม้ที่ตนเองสนใจ

เมื่อรู้แล้วว่าต้นไม้ที่เหมาะกับการสร้างพื้นที่สีเขียวในอาคารเป็นอย่างไรแล้ว แต่ต้นไหนที่จะดีที่สุดล่ะ ถึงเวลาที่ต้องไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมกันแล้ว ดังนั้น เมื่อเด็ก ๆ ได้เลือกต้นไม้ที่ตนเองสนใจแล้ว ถึงเวลาต้องมาทดลองกันแล้วล่ะ

กิจกรรมภาคสนามจึงเริ่มต้นขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบพื้นที่สีเขียวมาให้ความรู้กับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่ของน้องชั้น 1 บรรยากาศการเรียนรู้ดำเนินไปอย่างเพลิดเพลิน เด็ก ๆ ตอบคำถามกันอย่างหลากหลายจากเรื่องที่ตนเองมีประสบการณ์

“พื้นที่สีเขียวคืออะไร” “ทำไมเราถึงควรมีพื้นที่สีเขียว” “ประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวคืออะไร” “เราจะสร้างพื้นที่สีเขียวได้อย่างไร” คุณพ่อ คุณแม่ และเด็ก ๆ แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันอย่างสนุกสนาน เสริมประสบการณ์การเรียนรู้อย่างหลากหลายที่ชวนให้เด็ก ๆ ตาโต กับเรื่องราวการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่พึ่งเคยได้ยิน “หญ้าและพื้นที่รกร้างถือเป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่สีเขียว” หรือ “น้ำ ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวเหมือนกันนะ” “ต้นไม้ไม่จำเป็นต้องปลูกลงดินเพียงเท่านั้น เราสามารถปลูกในน้ำ กระถางลอยฟ้า หรือตามผนังกำแพงได้” เวลา 1 ชั่วโมงผ่านไปไวเหมือนกะพริบตาจนเด็ก ๆ เผลอพูดคำว่า “หมดเวลาแล้วหรอไวจัง”

เมื่อถึงช่วงเวลาสุดท้ายของกิจกรรม เด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ร่วมสะท้อนคุณค่าของการเรียนรู้ในวันนี้… มุมมองเล็กๆผ่านประสบการณ์ความคิดถูกส่งผ่าน และขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่สอดแทรกคุณค่าได้อย่างอยากคาดไม่ถึง “หากเรามีพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ เจ้านกตัวน้อยคงได้มีจุดแวะพักเวลาที่บินแล้วรู้สึกเหนื่อย” “สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นดินเขาก็จะได้มีที่หลบแดด มีที่อยู่อาศัยที่ดีได้” หรือ “ก่อนหน้านี้หนูคิดว่าพื้นที่รกร้างดูน่ากลัวและไม่มีประโยชน์ แต่มันสามารถเป็นบ้านและพื้นที่ปลอดภัยให้กับเจ้างูและกระรอกได้นะ” มุมมองความคิดของเด็กๆ เล็กน้อยแต่มหาศาล บ้างเป็นคำตอบที่คาดไม่ถึง บ้างเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมช่องว่างของการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

กิจกรรมสะสมความรู้ผ่านพ้นไป… เข้าสู่กิจกรรมปลุกพลังใจของเหล่านักสำรวจตัวน้อย น้ำส้มสองแก้วที่ดูคล้ายคลึงกันจะมีอะไรซ่อนอยู่ไหมนะ ? เหล่านักสำรวจร่วมกันสังเกตน้ำส้มทั้ง 2 แก้วอย่างสนุกสนานผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลายในรูปแบบการสำรวจ และ การทดลอง นำไปสู่การออกแบบการบันทึกผลของกลุ่มวิจัยตนเอง

หลังจากที่เด็ก ๆ ได้ออกแบบตารางบันทึกผลของตนเอง ก็เข้าสู่ช่วงลงมือทดลองงานวิจัยร่วมกับเพื่อนในกลุ่มอย่างสนุกสนาน กลุ่มลดฝุ่นนำไปต้นไม้ที่ร่วมกันตั้งสมมติฐานมาทำการทดลอง กลุ่มลดความร้อนหรือลดอุณหภูมินำต้นไม้มาทำการทดลอง สังเกตและบันทึกผลตามเวลาที่ได้วางแผนกันเอาไว้ แต่เหล่านักทดลองไม่ได้ต้องการเพียงผลวิจัยเพื่อพิชิตสมมติฐานที่ตั้งไว้เพียงอย่างเดียว หน้าตู้ทดลองของเด็ก ๆ มีกระดาษแผ่นจิ๋วมากมายแปะอยู่หน้ากล่อง เป็นข้อความส่งต่อความรู้สึก และกำลังใจมอบให้ต้นไม้ที่เสียสละทำหน้าที่กรองควันธูป และต่อสู้กับอุณหภูมิในกล่องตู้โดมทดลอง ด้วยคำพูดที่ลุ่มลึกทางความรู้สึก “สู้ ๆ นะเจ้าจั๋ง” “

ขอบคุณที่เสียสละเพื่อพวกเรานะ” “ขอโทษที่ทำให้นายต้องเจอฝุ่นและอึดอัดด้วย” “หนูรักต้นไม้ทุกต้นเลย หวังว่าคุณต้นไม้จะไม่จากโลกนี้ไปนะคะ” หรือแม้กระทั่งตอนที่ภารกิจการทดลองสิ้นสุดลง คำพูดของเด็ก ๆ ยังสะท้อนให้เห็นว่า ต้นไม้เปรียบเสมือนเพื่อนคนหนึ่งของพวกเขาจริง ๆ “เดี๋ยวกลับบ้านไปพักผ่อนด้วยกันนะ”

กิจกรรมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงช่วงบ่าย บรรยากาศความตื่นเต้นจากการตั้งตารอคอยผลการทดลองค่อย ๆ คลายลงคล้ายกับคุณสมบัติของต้นไม้ที่เด็ก ๆ กลุ่มต่อไปได้คัดเลือกมาเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้คนที่ได้สังเกตหรือพบเห็น สีสัน รูปทรง และกลิ่นหอมของมวลต้นไม้ส่งพลังมายังสายตาของนักสำรวจ เจ้าของกลุ่มสำรวจไม่รอช้าที่จะบอกเล่าความมหัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ในต้นไม้พร้อมทั้งบันทึกผลสำรวจได้อย่างครบถ้วน

พื้นที่สีเขียว… การทดลอง… และการสำรวจ… ดำเนินมาถึงช่วงท้ายของวัน สายตาของเด็ก ๆ จับจ้องมาที่หน้ากระดานของชั้นเรียน พร้อมกับพูดว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้”

คุณครูคะ…วันนี้หนูอยากบอกว่าหนูรู้สึกสนุกมาก รู้สึกตื่นเต้นระหว่างรอผลการทดลอง หนูอยากรู้มากว่าต้นไม้ต้นไหนจะสามารถเอาชนะฝุ่น และอุณหภูมิที่ร้อนได้

คุณครูครับ… วันนี้ผมได้เรียนรู้ว่าดอกไม้ที่มีสีสันทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้จริง ๆ เสียงที่เด็ก ๆ ร่วมกันแลกเปลี่ยนภายในห้องเรียนดังขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

คุณครูเป็นเพียงผู้จดบันทึกคำสำคัญและสิ่งที่ได้เรียนรู้ รู้ตัวอีกทีก็ไม่มีพื้นที่ให้เขียนซะแล้ว เด็ก ๆ ไม่รอช้าหยิบเครื่องเขียนขึ้นมาบันทึกการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในวันนี้ พร้อมทั้งส่งต่อความรู้สึกผ่านข้อความบนกระดาษหัวใจแผ่นจิ๋วหลากสีทั้ง 30 ดวงเพื่อแทนความรู้สึกและแทนคำขอบคุณ สำหรับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในการเข้าร่วมกิจกรรมภาคสนามพื้นที่สีเขียว

ข้อความสุดท้ายที่เด็ก ๆ ฝากไว้ก่อนเดินทางกลับบ้านทำให้ครูอย่างพวกเรามั่นใจได้ว่าในวันข้างหน้าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากนักสำรวจตัวน้อย ๆ ของเราอย่างแน่นอน “แม้ว่าภาคสนามในวันนี้จะอยู่ที่โรงเรียน แต่ก็เป็นวันพิเศษของผมนะครับ” ครูอย่างพวกเราก็คิดแบบนั้นเช่นกัน

ขอขอบคุณผู้ปกครองทุกท่านที่มาร่วมสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ ด้วยนะคะ

บทความโดย :

ครูกิ๊ฟ จิตตินันท์ มากผล

ครูเป้ ทยาภา ฆารบุญ

ครูดาว วิลาวัณย์ คลังทอง

ครูกุ๊ก อาภาพร กิจพ่อค้า

ครูปอ นารีรัตน์ ทองดา

ทีมครูบูรณาการชั้น 2

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2566