จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
ภาคสนามเป็นกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่จะสร้างประสบการณ์จริงให้กับเด็กเพลินพัฒนา ปีนี้เป็นอีกปีที่ครูญาได้ดูแลเด็กๆ ชั้น 2 และมีการออกภาคสนามในภาควิริยะ “ไปนา” ในปีนี้เด็กๆ จะไปนาในฐานะนักวิจัยตัวน้อยที่จะไปเก็บข้อมูลการทำนา 2 แบบ คือ นาเคมี กับ นาอินทรีย์ และเป็นภาคสนามแบบค้างคืนเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่นอนด้วย แต่จะมีเพื่อนๆ และคุณครูใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ทีมคุณครูประจำชั้นได้ร่วมออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับทีมบูรณการที่เป็นแม่งานสำคัญสำหรับกิจกรรมภาคสนาม ด้วยการมีกิจกรรมที่จะสะท้อนคุณค่าภายในที่เกิดขึ้นในการออกภาคสนามครั้งนี้
ตั้งแต่ทีมคุณครูรับทราบเรื่องภาคสนามแบบค้างคืน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ ต้องสนุกแน่นอน เพราะจะได้เห็นภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ และกิจกรรมสะท้อนคุณค่าภายในที่จะทำให้คุณครูประจำชั้นได้รู้จักเด็กๆ มากขึ้น พวกเราจึงได้เริ่มวางแผนกิจกรรม เพื่อจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จะใช้ในการทำกิจกรรม เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นความพิเศษที่เกิดขึ้น แตกต่างจากการกิจกรรมโฮมรูมปกติในห้องเรียน
เริ่มที่กิจกรรมการเตรียมความพร้อมในการออกภาคสนามคือ การจัดกระเป๋าสัมภาระสำหรับการค้างคืนได้ด้วยตัวเอง การหัดพับถุงนอนที่บางคนเพิ่งเคยรู้จักถุงนอนเป็นครั้งแรกของชีวิต ฝึกนอนถุงนอนที่บ้านเพื่อสร้างความคุ้นเคย เพราะคุณครูมีประสบการณ์จากรุ่นพี่ที่ตื่นเต้นกับการนอนในถุงนอนครั้งแรกทำให้นอนไม่หลับ ทีมคุณครูประจำชั้นรุ่นพี่ๆ จึงทำการถ่ายทอดมุมมองเรื่องนี้นำมาจัดทำแผนในการเตรียมเด็กๆ ก่อนออกภาคสนาม
วันที่เด็กๆ รอคอยก็มาถึง มากันตั้งแต่หกโมงเช้า ทั้งที่นัดเจ็ดโมงพร้อมกับกระเป๋าสัมภาระ กระเป๋าออกภาคสนาม และถุงนอนหอบกันพะรุงพะรังด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เพราะเราได้พูดคุยกันไว้ตั้งแต่ต้นว่าเด็กๆ ต้องจัดการตัวเอง คุณครูสังเกตการแก้ปัญหาของเด็กที่ใช้กระเป๋าใบใหญ่โดยการยกกระเป๋าขึ้นมาเก็บก่อน แล้วลงไปนำกระเป๋าภาคสนามกับถุงนอนตามขึ้นมา หรือมีเพื่อนๆ ที่มาก่อนไปรอที่หน้าบันได เพื่อจะช่วยเพื่อนยกของขึ้นมาล้วนแล้วเป็นภาพน่าประทับใจในการมีน้ำใจของเด็กๆ ที่มีต่อเพื่อน
นักวิจัยตัวน้อยของเรามีความพร้อมกับการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ในการสำรวจกันครบครัน พอไปถึงทุ่งนาอินทรีย์ ทุกอย่างถูกนำออกมาใช้ตามหน้าที่ทุกคนได้วางแผนกันไว้ คุณครูเห็นได้ถึงการตื่นตัวของนักวิจัยทุกคน
เราใช้เวลาในการเดินสำรวจและเก็บข้อมูลอยู่เป็นชั่วโมง แต่ไม่มีเสียงบ่นจากเด็กๆ เลย ทุกคนดูตื่นตาตื่นใจกับการที่เพื่อนแต่ละกลุ่มเจอสิ่งต่างๆ ที่ตั้งใจมาเก็บข้อมูล ใครเจออะไรก็จะเชิญชวนเพื่อนๆ มามุงดูกันอย่างตื่นเต้น เช่น ได้เห็นจิ้งหรีดที่มุดดิน ไข่นกจริงที่ตกอยู่ ไข่ของหอยเชอร์รี่ศัตรูตัวสำคัญของต้นข้าว ประกายสายตาใคร่รู้ของเด็กๆ และคำถามที่สื่อสารออกมาจากแต่ละคน ที่ช่วยกันซักถามคุณลุงชาวนา เป็นการแสดงถึงการตื่นรู้ของเด็กเพลิน ซึ่งครูญาสัมผัสได้จากเด็กๆ ในการออกภาคสนามเสมอไม่ว่าจะรุ่นไหน ทำให้รู้ว่า เด็กๆ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง
จากห้องเรียนวิจัยมาสู่ห้องเรียนชีวิต ทีมคุณครูตั้งใจฝึกให้เด็กๆ ต้องใช้ความเพียร ความมุ่งมั่น ตั้งใจเพื่อให้สมกับความหมายของภาคเรียนวิริยะ โดยการให้เด็กคัดแยกข้าวจากเศษหินดินทรายต่างๆ เพื่อจะนำกลับไปหุงรับประทานร่วมกันในมื้อเย็น เราได้เห็นความตั้งใจ ใส่ใจ อดทน ความเพียรพยายามของเด็กๆ ที่ช่วยกันแยกเมล็ดข้าว อาหารเย็นวันออกภาคสนาม เด็กๆ จึงได้รับประทานข้าวที่ทุกคนช่วยกันคัดเลือกมาเป็นอย่างดี อิ่มท้องเด็ก อิ่มใจครู ที่ได้เห็นความเพียรของเด็กๆ ในวันนี้
เด็กๆ อิ่มหนำกับอาหารเย็นแล้ว ก็เข้าสู่ค่ำคืนพิเศษที่เราได้มาพักร่วมกัน มีแสงเทียนส่องสว่างลอยรวมกับดอกกล้วยไม้ในน้ำใสเย็นที่บรรจุในชามแก้วใส รายล้อมด้วยเมล็ดข้าวจากนาที่คุณครูเตรียมไว้ให้เด็กๆ ได้เวียนน้ำรับพลังการเติบโตจากการก้าวผ่านปัญหา หรืออุปสรรคที่ได้เผชิญในภาคสนามครั้งนี้มาได้อย่างไร แล้วเด็กๆ ได้นำความเพียรอะไร มาใช้ในภาคสนามครั้งนี้บ้าง เราจะรับสิ่งดีๆ นั้นจากเพื่อนที่ส่งต่อกันมาไว้ในนี้ร่วมกัน แล้วใครอยากสะท้อนเป็นคำพูดมาบอกเล่าให้พวกเราได้ฟังเสียงกันและกัน นับเป็นอีกช่วงเวลาทองของคุณครูประจำชั้นที่จะได้ยินเสียงข้างในใจของเด็กๆ ในค่ำคืนนี้
เสียงสะท้อนจากเด็กๆ แสดงการเติบโตภายในจิตใจของตัวเอง
“ฝึกจัดกระเป๋า ต้องรับผิดชอบสิ่งของของตนเอง” (น้องเกรซ) “ฝึกการอดทนรอคอย เพราะอยากไปภาคสนามมาก” (น้องเชส)การเตรียมตัวก่อนมาภาคสนาม “ต้องพยายามที่จะฝึกตื่นขึ้นมาเอง เพื่อให้มาโรงเรียน พัฒนาตัวเองด้วยความตั้งใจ และคิดเป้าหมายด้วยตัวเอง” (น้องโอบ)
“ฝึกจัดกระเป๋า ต้องรับผิดชอบสิ่งของของตนเอง” (น้องเกรซ) “ฝึกการอดทนรอคอย เพราะอยากไปภาคสนามมาก” (น้องเชส)
การคัดเมล็ดข้าว และ การควบคุมตน
ในการคัดเมล็ดข้าว มีส่วนต่างๆ ที่กินไม่ได้ เลยต้องใจเย็น ไม่รีบร้อน ต้องตั้งใจดูดีๆ ว่าอะไรคือหิน อะไรคือเปลือก เมื่อเราตั้งใจแล้ว เราต้องให้กำลังใจตัวเอง” (น้องดล)
“การคัดเมล็ดข้าวมันยากมาก แต่ผมก็พยายามและตั้งใจทำ สังเกตข้าวว่าเป็นข้าวที่ดีหรือป่าว” (น้องจูจู) “เห็นใจคนอื่นที่คัดเมล็ดข้าว เพื่อนำมาให้คนอื่นทาน” (น้องคูเป้)
“ต้องควบคุมตัวเองไม่ให้คุยกับเพื่อน ช่วงการสัมภาษณ์คุณลุง เราต้องนั่งฟังและรอ ทำให้เรารู้สึกดีใจมากที่เราทำได้” (น้องปุ่น)
“ผมร้อนมากๆ และต้องเดินไปไกล แต่ผมอดทนได้ คือ ต้องใจเย็นมากๆ ถ้าเราใจร้อน ก็จะยิ่งร้อนไปอีก” (น้องคุณ) •เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง “กลัวเท้าเลอะ เพราะต้องลงนา แต่พอได้เดินแล้วก็สนุกมาก” (น้องไจแอน)
“จากที่ครูญาบอกให้มีสติ แล้วกานต์ก็มีสติ” (น้องกานต์) “ตอนแรกกลัวสัตว์ใต้ดินเพราะไม่ชอบโคลน แต่วันนี้เราสามารถอยู่ใกล้ได้มากขึ้นแล้ว” (น้องอานาม) “กลัวแมลงที่อยู่ใต้ดิน แต่วันนี้เห็นแล้วก็ไม่กลัว รู้สึกดีใจที่ได้ดู” (น้องซีซ่าร์)
“ไม่อยากลงในดิน แต่หนูก็ก้าวผ่านได้เพราะเป็นตัวแทนของกลุ่ม รู้สึกว่าเหยียบแล้วมันนิ่มดี” (น้องเณญา) “ตอนที่ตื่นเช้ารู้สึกดีกว่าตื่นเวลาปกติ” (น้องวิน) “วันนี้ร้อนและเดินได้นาน เพราะอดทนได้” (น้องอันหนิง) “กลัวโคลนเพราะอี๋ๆ แต่ก้าวผ่านได้เพราะเพื่อนให้กำลังใจอยู่” (น้องกร)
“หนูตื่นเช้าวันมาภาคสนามด้วยตัวเอง” (น้องเพตรา) “จดบันทึกได้เยอะขึ้นมากกว่าเดิม เพราะสำรวจสัตว์ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง” (น้องไตเติ้ล)
คำพูดข้างต้นมาจากการสะท้อนตนของเด็กๆ แม้จะไม่ได้พูดครบทุกคน แต่สิ่งที่เพื่อนๆ ได้แลกเปลี่ยนน่าจะเป็นตัวแทนความรู้สึกของเด็กๆ ได้ทั้งหมด ครูญาในฐานะครูประจำชั้นรู้สึกอิ่มเอมใจกับการเติบโตของเด็กๆ ทุกคน สำหรับภาคสนามที่งดงามในครั้งนี้ ทุกเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมาจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีทีม คุณครูบูรณการ คือ คุณครูหน่วยประสบการณ์เรียนรู้ภูมิปัญญาภาษาไทย กับมานุษกับโลกที่เป็นแม่งานหลักในการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมดของภาคสนาม ทีมคุณครูชั้นสองทุกท่าน และทีมคุณครูประจำชั้น พลังความตั้งใจที่จะพาเด็กๆ ออกภาคสนามในครั้งนี้ช่างยิ่งใหญ่ และทรงพลังมากๆ เพราะเราไม่ใช่แค่สร้างการเรียนรู้ แต่พวกเราได้ช่วยกันทำให้ “เด็กๆเป็นเจ้าของการเรียนรู้ตัวจริง”
หลังจากนี้ พบกันในการนำเสนองานวิจัยภาควิริยะ มาดูกันว่าเด็กๆ จะถ่ายทอดความรู้จากการออกภาคสนาม และงานวิจัยในรูปแบบของแต่ละกลุ่มอย่างไร
บทความโดย คุณครูธนมนัสนันท์ จุ่นบุญ (ครูญา)
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2566