วรรณรูป “อีกา” ชั้น 1



ภาพจำต่อ “อีกา” ของแต่ละคนเป็นแบบไหน คงมีคำตอบที่คล้ายๆ กันว่า .. ดุร้าย น่ากลัว นิสัยไม่ดี แม้แต่เด็กๆ ก็มีประสบการณ์ที่เห็นว่าเจ้าอีกามักจะเป็นตัวร้ายในนิทานอยู่เสมอ แต่แท้จริงแล้วเราไม่อาจตัดสินใครได้เพียงแค่การมองจากภายนอกเพียงอย่างเดียว

“อีกา” ได้ถูกหยิบยกมาสอนเด็กๆ ชั้น 1 ในหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย โดยมุ่งหมายให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ตัวสะกด และรู้จักการสังเกตตำแหน่งของสระต่างๆ สามารถอธิบายเหตุผลประกอบความคิดของตนเอง ทั้งยังเชื่อมโยงลักษณะของอีกา ปากกา ที่สามารถสังเกตได้อย่างเป็นรูปธรรม จนไปถึงการเชื่อมโยงลักษณะภายนอกกับนิสัยของอีกา คุณค่าในการเรียนรู้ครั้งนี้คือการนำพาให้เด็กๆ มีมุมมองต่อสิ่งรอบตัวอย่างหลากหลาย สามารถมองหาด้านที่ดี หรือแง่มมุมที่งดงามในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งไม่ดีได้ ดังเช่น อีกา

จึงเกิดเป็นชิ้นงานวรรณรูป “อีกา” โดยให้เด็กๆนำคำมาสร้างให้เกิดเป็นรูปภาพซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ทางภูมิปัญญาภาษาไทยผสานกับศิลปะเพื่อให้ผลงานที่ออกมามีความน่าสนใจผ่านการเรียนรู้แง่มุมที่งดงามของอีกาโดยคุณครูได้นำ “บทอาขยานกาดำ” มาให้เด็กๆ ช่วยกันแลกเปลี่ยนคลังคำ ชวนมองอีกาในอีกมุมมอง และช่วยกันหาข้อดีต่างๆ ของอีกา

มื่อการแลกเปลี่ยนจบลง เด็กจึงได้คลังคำ อีกาใจดีมากมายนำมาสร้างสรรค์ชิ้นงานวรรณรูปอีกาได้อย่างสวยงาม และสิ่งสำคัญที่เด็กๆ ค่อยๆ ซึมซับคือการมีมุมมมองที่หลากหลายต่อสิ่งรอบตัว ไม่ด่วนตัดสินใครจากการมองภายนอกเท่านั้น

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม