วงล้อฝึกตนสู่ความเพียร : HBLC วิมังสา 2563

มื่อรู้สึกเบื่อ .. ลองหาหนังสือสักเล่มมาอ่าน หรือดูหนังสักเรื่อง เมื่อรู้สึกง่วง ..ไปออกกำลังกาย หรือพักสายตาสักครู่ เมื่อรู้สึกโกรธ ลองเล่นดนตรี หรือ นั่งสมาธิ

แต่ละคนก็มีวิธีผ่อนคลายอารมณ์ที่แตกต่างกันยิ่งในสภาวะเช่นนี้โอกาสที่จะเกิดอารมณ์ขุ่นมัวยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ต้องถูกจำกัดพื้นที่ เรียนรู้ผ่านหน้าจอวันละหลายชั่วโมง จำเป็นต้องมีเครื่องมือฝึกให้เด็กๆได้รู้จักอารมณ์และหาวิธีผ่อนคลายได้หลากหลายวิธี

ทีมคุณครูหน่วยวิชาพื้นที่ชีวิตช่วงชั้นที่ 1 จึงร่วมวางแผนคิดกิจกรรม “วงล้อฝึกตนสู่ความเพียร” เพื่อฝึกการกำกับดูแลตนเองของนักเรียนระดับชั้น 1 – 3 เมื่อต้องเรียนรู้อยู่บ้าน โดยนำหลักทางพุทธศาสนา “นิวรณ์ 5” (ความอยาก ความโกรธ ความเหงา ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย) เพื่อฝึกให้เด็กๆ ได้รู้เท่าทันอารมณ์ และจัดการอารมณ์ได้ด้วยวิธีของตนเอง โดยดัดแปลงเป็นวงล้ออารมณ์ให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่ายขึ้น เริ่มจากให้ทบทวนตัวเองจากสิ่งที่ชื่นชอบ จากความรู้สึกที่เขามักเกิดขึ้นบ่อยๆ ขณะการทำงาน

การประดิษฐ์วงล้อใช้เวลา 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง โดยเด็กๆ ต้องวิเคราะห์ตัวเองว่าอารมณ์ใดบ้างตรงกับตัวเองมากที่สุด โดยคุณครูย่อยการทำงานให้เด็กๆ ค่อยๆทำไปทีละขั้น

  • ขั้นที่ 1 ให้เด็กๆ ทำวงล้อวงเล็ก แล้วเลือกติดสติ๊กเกอร์อารมณ์ต่างๆ ที่ตรงกับอารมณ์ที่มักเกิดกับตัวเองบ่อยๆ
  • ขั้นที่ 2 วงล้อวงใหญ่ คือวิธีการแก้ไข หากมีอารมณ์นั้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร ให้เลือกติดสติ๊กเกอร์ที่ครูเตรียมให้หรือเขียนเพิ่มเติมได้
  • ขั้นที่ 3 เข็มชี้บอกอารมณ์และวิธีแก้ สามารถสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระแตกต่างกันไป

จากนั้นก็นำมาประกอบเข้าด้วยกัน เป็นวงล้อที่หมุนได้จริงตามอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของตนเอง และบอกวิธีแก้ไขอุปสรรคนั้นได้ด้วย จากกิจกรรมนี้

คุณครูกนกภรณ์ เพชรขำ (ครูเบ้นซ์) คุณครูผู้สอนหน่วยวิชาพื้นที่ชีวิต ชั้น 2 สะท้อนว่า

“ เห็นความพยายามในการทำงานของเด็กๆ สร้างความรู้สึกภูมิใจกับผลงานที่มีความสวยงามและใช้งานได้จริง เด็กๆ เรียนรู้วิธีการบอกอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมทั้งเหตุผลและการแก้ปัญหาอารมณ์เหล่านั้นผ่านการหมุนวงล้อ ซึ่งทำให้คุณครูได้เห็นวิธีการแก้ปัญาต่างๆของแต่ละคน ทั้งยังได้เรียนรู้วิธีการจัดสรรเวลาในการทำงานของเด็กๆ ด้วยค่ะ ”

ขณะที่คุณครูปาณิชา ธุวธนายศ (ครูเค้ก) คุณครูผู้สอนหน่วยวิชาพื้นที่ชีวิต ชั้น 3 ก็สะท้อนคล้ายกัน

“ได้เห็นความพยายามและความตั้งใจในการทำชิ้นงานนี้เป็นอย่างมาก เพราะเด็กๆได้สะท้อนกับครูผู้สอนว่า ตอนแรกที่ได้เห็นภาพตัวอย่างที่ครูทำ รู้สึกว่ามันยากมากๆ และคิดว่าทำไม่ได้แน่นอน แต่เมื่อนักเรียนลองทำแต่ละขั้นตอนแบบไม่ได้เร่งรีบ ก็ทำให้เห็นภาพความสำเร็จวงล้อมากขึ้น จนถึงครั้งสุดท้ายที่นำชิ้นส่วนมาประกอบกัน ก็ยิ่งทำให้ภูมิใจที่ทำชิ้นงานออกมาได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจและอาจจะเกินความคาดหมายด้วย

พอเห็นชิ้นงานที่สำเร็จก็ทำให้ครูดีใจและภูมิใจว่าเด็กๆสามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จค่ะ และสิ่งสำคัญนักเรียนได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเองและได้เรียนรู้ถึงวิธีการแก้ไขอารมณ์ที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองด้วยค่ะ”

วันนี้ถ้าเด็กๆ รู้สึกเบื่อ รู้สึกง่วง รู้สึกหงุดหงิด หรือรู้สึกอารมณ์ไม่ดี หวังว่าทุกคนจะมีวิธีแก้ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ 🙂