ภาคสนามชั้น 3 : สืบสาน รักษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น

“สืบสาน รักษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น” แนวคิดภาคสนาม ชั้น 3 ภาคเรียนวิริยะ 2565 นักเรียนได้ลงพื้นที่ วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร และชุมชนบ้านบุ เขตบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความสอดคล้องกับการเรียนรู้ในกลุ่มประสบการณ์โครงงานวิจัยประจำภาคเรียน

วัดสุวรรณารามฯ มีความโดดเด่นด้านภาพวาดจิตรกรรมที่มีการประชันฝีมือกันระหว่างจิตรกรฝีมือเยี่ยมโดยหลวงวิจิตรเจษฎา(ทองอยู่) ผู้เขียนเนมิราชชาดกกับหลวงเสนีย์บริรักษ์(คงแป๊ะ) ผู้เขียนมโหสถชาดก และมีสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในรัชกาลที่ 1 ที่ยังคงความงดงาม รวมทั้งเรื่องเล่าประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่สมัยกรุงธนบุรี – กรุงรัตนโกสินทร์

ทั้งยังได้เรียนรู้วิถีอาชีพของชุมชนบ้านบุกับ “ช่างขันลงหิน” อาชีพเก่าแก่ที่ทำกันในครัวเรือน สืบทอดจากบรรพบุรุษมานานกว่า 200 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2310 ที่อพยพมาจากอยุธยาหลังจากเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนนี้ โดยมีกระบวนการทำมือทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ช่างตี ช่างลาย ช่างกลึง ช่างกรอ ช่างเจียร ช่างขัด

ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ กับงานช่างฝีมือที่เดินทางมาถึงรุ่นสุดท้าย กำลังจะหมดไปในอีกไม่ช้า

เชื่อว่าภาพจำเหล่านี้จะเป็นเรื่องเล่าขานให้เด็กๆนำไปต่อยอดความรู้ มองเห็นคุณค่าในภูมิปัญญาไทยและทุกสิ่งรอบตัว

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2565