ภาคสนามชั้น 2 ภาคจิตตะ 2566

ภาคสนาม ชั้น 2 ในภาคเรียนจิตตะนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้กระบวนการกว่าจะออกมาเป็นอาหาร 1 จานที่ทุกคนจะได้ลงมือทำและรับประทานร่วมกันนั้น นอกจากการปรุงอาหารตามเมนูที่ได้วางแผนไว้ให้ได้คุณค่าสารอาหารตามหลักโภชนาการจะถูกใจ ถูกปากเพื่อนในห้องหรือไม่ เด็กๆ ยังได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นทางจากแปลงปลูกจนถึงการคัดเลือกวัตถุดิบเพื่อนำมาปรุงอาหาร

“บ้านคลองโยง”

หล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์และพืชผักสวนครัว เป็นพื้นที่ที่เกิดการรวมตัวกันของสมาชิกที่มีความสนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ดีต่อสุขภาพ ที่นำเด็กๆ ไปสู่คำตอบของการวิจัย ได้ทำความรู้จักกับแปลงผักอินทรีย์ เรียนรู้การปลูกการดูแล พร้อมทั้งเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักและฝึกสังเกตวัชพืชศัตรูตัวร้ายไปจนถึงการแก้ปัญหา

เมื่อปลูกผักเป็นแล้ว ก็ต้องเรียนรู้วิธีการเลือกวัตถุดิบที่ดี การเก็บและวิธีดูแลผักสดที่เก็บมาเพื่อให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่า ก่อนกลับแวะเดินตลาดจำหน่ายผักจากกลุ่มสมาชิกของบ้านคลองโยง ซ้อมเลือกวัตถุดิบก่อนถึงภารกิจสำคัญคือการไปจ่ายตลาดใกล้โรงเรียนเพื่อทำเมนูสุดพิเศษ

ยามเช้าอากาศแจ่มใส เด็กๆ เดินเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบมุ่งหน้าสู่ “ตลาดสดธนบุรี” แหล่งรวบรวมวัตถุดิบในการประกอบอาหารอันแสนคุ้นเคย เด็กๆ ได้ฝึกคิด วางแผน ตัดสินใจ และพูดคุย สื่อสารกับพ่อค้า แม่ขายเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ทั้งยังได้ฝึกทักษะการคำนวณ การคิดเงิน ทอนเงิน เมื่อได้วัตถุดิบทั้งของสด ของแห้ง รวมทั้งผักต่างๆ ที่เลือกสรรกันครบแล้วจึงเดินทางกลับโรงเรียน

กระบวนการสุดท้ายของภาคสนามนี้คือ การลงมือทำอาหาร โดยใช้วัตถุดิบที่มีอย่างรู้คุณค่า ก่อนลงมือทำอาหาร เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำรายรับรายจ่ายจากการซื้อของ และได้เล่าถึงความประทับใจของแต่ละคนจากการไปจ่ายตลาด

ได้เวลาเชฟตัวน้อย ร่วมลงมือช่วยกันทำอาหารโดยมีเมนูโภชนาการที่หลากหลายเพื่อให้ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ เช่น ลาบหมูทอดสุดแซ่บ ข้าวมันกะทิ หรือจะเป็นเกี้ยมอี๋หลากสีสัน ที่เด็กๆลงมือทำเส้นเกี้ยมอี๋สดกันเอง และยังมีต้มยำกุ้งเห็ดรวมที่รวบรวมเห็ดหลากชนิดมาทำเป็นต้มยำ หรือเมนูผัดเต้าหู้ไข่หลากสีที่เสิร์ฟพร้อมกับข้าวอัญชันเพิ่มสีสันให้กับเมนู และอีกเมนูที่น่าอร่อยไม่แพ้กันกับไข่ตุ๋นหลากสีมีประโยชน์ต่อร่างกาย

หลังจากทำอาหารเสร็จแล้วก็ถึงเวลาสำคัญที่ทุกคนรอคอย นั่นคือ การชิมอาหารของเพื่อนๆ เด็กชั้น 2 เปลี่ยนจากการรับบทเป็นเชฟตัวน้อยไปสู่นักวิจารณ์อาหารรุ่นเยาว์ ทุกคนร่วมกันชิมอาหารของกลุ่มตนเองและกลุ่มเพื่อนๆ พร้อมทั้งให้ความคิดเห็น บางเมนูอร่อยมากจนต้องขอเพิ่มอีก หรือบางเมนูก็เผ็ดจนกินไม่ไหว แต่ทุกคนก็ได้ชิมอย่างตั้งใจและให้คำแนะนำกับเพื่อนๆ มั่นใจได้เลยว่าหากมีการทำอาหารอีกครั้ง ทุกกลุ่มจะต้องทำออกมาได้ดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน

ความเหนื่อยยากและตั้งใจของเกษตรกรแปรเปลี่ยนมาเป็นความสุขใจของผู้บริโภคที่ได้รับประทานอาหารดีๆ เป็นสิ่งที่เราได้เห็นจากกระบวนการทั้งหมดในการไปภาคสนามของเด็กๆ ในครั้งนี้ การรู้คุณค่าของอาหารที่กิน และการได้รู้ที่มาของวัตถุดิบดีๆ ปลอดสารพิษจากธรรมชาติ เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับเรื่องสุขภาพและชีวิตในอนาคตของเด็กๆ อีกทั้งยังได้ฝึกทักษะชีวิตที่หลากหลายจากการได้สัมผัสกับประสบการณ์จริง การเรียนรู้เรื่องรายรับรายจ่าย และการทำอาหาร เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่ากว่าจะทำอาหารได้แต่ละจานจะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของอาหารและไม่กินอย่างทิ้งขว้าง ถือเป็นการเรียนรู้เพื่อลดขยะอาหารที่เป็นปัญหาในปัจจุบันอีกด้วย

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2566