ฝึกคิดวิเคราะห์ ผ่าน “net map”

วันนี้ขอนำเรื่องราวของ “net map” เครื่องมือในการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น 1 ที่จะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจความสัมพันธ์ในเรื่องที่เรียนเกี่ยวข้องกันอย่างไรได้ดีขึ้น ฝึกการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ ย่อยข้อมูลตัวหนังสือเยอะๆ ให้เป็นแผนภาพ ให้ดูเข้าใจง่าย ผ่านเรื่องเล่าจากคุณครูภาณุมาศ จีรภัทร์ (ครูเอม) ครูมานุษกับโลก ชั้น 1

ในภาคเรียนวิมังสาเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ 2 แล้วที่เด็กๆ ได้เรียนเรื่องระบบนิเวศผ่านเนื้อหาของการเลี้ยงสัตว์แบบธรรมชาติ และอุตสาหกรรม

แค่พูดหัวเรื่องที่เรียนหลายคนก็คงจะร้องอู้หู ! เด็ก ป.1 เรียนยากขนาดนี้ เลย แล้วเด็กๆ จะเข้าใจได้หรือ ขนาดผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ยังเข้าใจได้ยากเลย

เด็กๆ เรียนรู้เรื่องยากๆ เหล่านี้ได้ดีไม่แพ้ผู้ใหญ่เลยทีเดียวผ่าน sense ของพวกเขา แต่สิ่งที่เด็กๆ มีมากกว่าผู้ใหญ่นั่นก็ คือ พวกเขาไม่มีกรอบอะไรบางอย่างที่มาจำกัดและบอกว่าเขาทำอะไรไม่ได้

เด็กๆ เริ่มเรียนเรื่องนี้จาก วีดิโอเกี่ยวกับที่มาของอาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงสัตว์อุตสาหกรรม อาหารและที่มาของการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม และการเลี้ยงสัตว์แบบธรรมชาติ เมื่อดูวีดิโอเสร็จ ก็แลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้ แล้วบันทึกความเข้าใจของตนเองลงในสมุดโดยใช้ net map

ฝึกทำครั้งแรกๆ ก็ยาก ทั้งต้องคิดว่าในเรื่องนี้มีอะไร และแต่ละอย่างเกี่ยวข้องกันอย่างไร โยงๆ ไปสักพักก็งงบ้างว่าโยงอะไรไปแล้วบ้างนะ? บางคนก็นึกไม่ออกว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี

เหลือบไปมองบนกระดานเห็นรูปภาพคำต่างๆ ก็วาดลงไปก่อน แล้วค่อยมาโยงเส้นทีหลัง เหตุการณ์ในครั้งแรกผ่านมาอย่างทุลักทุเล แต่เด็กๆ ก็มีความพยายามกันมาก ทุกคนพยายามหาหนทางในการทำงานในรูปแบบของตัวเอง ผ่านไปครึ่งชั่วโมง ได้มาคนละนิดคนละหน่อยคุณครูก็ดีใจแล้ว แต่เด็กๆ ดูจะไม่แล้วใจ เพราะยังทำไม่เสร็จ หรือไม่รู้ว่าที่ทำไปถูกไหม ครบไหม หน้าที่ของคุณครูก็คือตรวจแก้ไขส่วนที่เด็กๆ สับสน

ครั้งที่ 2 มาถึงพออธิบายยกตัวอย่างสิ่งที่เด็กๆ มักจะทำผิดในครั้งก่อน และยกตัวอย่างวิธีการทำอีกครั้ง ก็ถึงเวลาที่จะให้เด็กๆ ทำงาน สีหน้าออกมากันชัดเจนทุกคน ทั้งคนที่ตื่นเต้นเพราะเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้ว ทั้งคนที่ดูกังวลเพราะไม่แน่ใจว่าจะทำได้ถูกต้องไหม บางคนก็ถามว่า ขอทำnet map และเขียนด้วยได้ไหมคะ เพราะอยากจะทำแบบที่ครูให้ทำ แต่ก็อยากจะเขียนเนื้อหาที่คิดไว้ให้ครบด้วย และมีบางคนเริ่มถามว่า เราจะต้องเขียน net map กันทั้งเทอมจริงๆ เหรอคะ แต่เหมือนจะไม่ต้องให้ครูตอบ เพราะสิ้นคำถามของเพื่อน ก็มีเสียงตอบขึ้นมาแทนว่า “ก็ครูเอมบอกไปเมื่อครั้งก่อนไงว่าถ้าฝึกทำ พวกเราจะได้ทำข้อสอบเก่งขึ้น”

ได้ฟังบทสนทนาต่างๆ แล้วก็เลยตอบให้กำลังใจเด็กๆ ว่า “ทำครั้งแรกๆ มันอาจจะยากสักหน่อย เพราะว่าเรายังไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราทำจนเข้าใจแล้วมันก็จะง่ายขึ้น จากที่ครูเอมดูครั้งก่อนส่วนใหญ่จะเข้าใจวิธีการทำแล้วแต่ยังไม่คล่อง มีส่วนที่สับสนบ้างแต่ไม่เยอะเท่าไหร่ อาจจะเพราะเด็กๆ ได้ฝึกทำในห้องเรียน ครูช่วยอธิบาย ส่วนที่ไม่เข้าใจ และมีการบ้านให้เด็กๆ กลับไปฝึกทำเองที่บ้านด้วย

จึงทำให้ ในครั้งที่ 3 เด็กๆ เริ่มสบายใจในการทำ net map มากขึ้น ครูจึงเพิ่มเติมเรื่องการจับประเด็นในเนื้อหาลงไปเพิ่ม ว่ามีเรื่องอะไรที่เด็กๆ ควรจะมีอยู่ใน net map บ้าง พอเริ่มทำคล่องขึ้นเด็กๆ ก็เริ่มฝึกตัวเองให้บันทึกให้ละเอียด โดยดูจากหัวข้อบนกระดานหรือประเด็นที่ตัวเองประทับใจ เมื่อได้ฝึกฝนหลายๆ ครั้งจนชำนาญ พบว่าเด็กๆ ตื่นเต้นกันมากกับการค้นพบตัวเอง คนใหม่ ที่สามารถทำสิ่งที่เคยคิดว่าทำได้ยากได้ด้วยตนเอง และรู้สึกสนุกที่ได้ทำ net mapและการทำ net map ก็ไม่ได้จบแค่ในห้องเรียนวิชามานุษกับโลก หรือจินตทัศน์ ที่คุณครูให้ทำเท่านั้นในการสอบปลายปี มีเด็กนักเรียนบางคนก็นำ net map มาใช้อธิบายความเข้าใจของตนเองในการอธิบายความคิดทางคณิตศาสตร์ ในการทำโครงงานชื่นใจ

ขณะที่คุณครูแนทกำลังชวนเด็กๆ ในกลุ่มคุยเนื้อหาของนิทานที่จะแสดง เด็กๆ ได้เสนอให้ครูแนทใช้ net map ในการเขียนโครงเรื่องของนิทานเพราะทำให้เข้าใจได้ง่าย หรือแม้แต่ในการทบทวนเนื้อหาสำหรับการสอบปลายปี

ย้อนกลับมาตอบคำถามของที่มาในการให้เด็กๆ เรียน “net map” เรียนเรื่องนี้แล้วเด็กๆ ทำความเข้าใจในเรื่องที่เรียน และ ทำข้อสอบที่ต้องวิเคราะห์ได้ดีขึ้นหรือไม่

จากที่เด็กๆ ได้เรียนมา ๑ ภาคเรียนก็พบว่า net map เมื่อสอนควบคู่กับกิจกรรมต่างๆ ที่สอนในเทอมนี้ ทั้งการดูวีดิโอ การไปภาคสนาม การทำไข่ตุ๋น เด็กๆ สามารถทำข้อสอบวิเคราะห์ได้ดีขึ้น และเรื่องยากๆ อย่างเรื่องอุตสาหกรรมอาหารกับการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมและธรรมชาติ เด็กๆ ก็สามารถทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่เรียนได้ดี

สิ่งสำคัญที่สุดที่เด็กๆ ได้รับจากการเรียนเรื่อง “net map” ก็คือ การที่เด็กๆ ได้เห็นศักยภาพของตนเองในการเรียนรู้และทำงานในเรื่องที่ยาก มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการพัฒนาตนเองไม่ย่อท้อเมื่อพบกับอุปสรรคแม้พยายามแล้วอาจจะยังเข้าใจได้ไม่มาก แต่ก็ยังคงมีความสนใจและอยากที่จะเรียนรู้สิ่งนั้นต่อไป